ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายลดอุบัติเหตุ นำทัพสื่อใต้ดูงานการบริหารจัดการความเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน จ.สงขลา ชี้ทำงานแบบบูรณาการ  นำระบบเทคโนโลยีการสื่อสารควบคุมโดยศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการฯ เผยเข้าถึงเหตุรวดเร็ว ดึงท้องถิ่น-ชุมชนร่วมแก้ไขลดเจ็บ-ตายบนถนนที่เห็นผลจริง

เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 59 ณ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา- ในการประชุมสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 2 จัดโดย สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ร่วมกับ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สนพท.) สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย สมาคมสื่อช่อสะอาด บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือสื่อสารประชาสัมพันธ์ขับเคลื่อนนโยบายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนให้มีความต่อเนื่อง และร่วมแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส.เป็นประธานการประชุมฯ มีสื่อมวลชนระดับภูมิภาคและเครือข่ายจาก 14 จังหวัดภาคใต้ร่วมประชุมทั้งสิ้นกว่า 60 คน  

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์

นพ.คำนวณ กล่าวว่า การทำงานด้านป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ต้องช่วยกันทำถนนให้ปลอดภัยเพื่อครอบครัว ชุมชน ต้องร่วมบูรณาการทั้งด้านวิชาการ นโยบาย และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งสื่อมวลชนเป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นผู้ช่วยขับเคลื่อน ผลักดันนโยบายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างการรับรู้ เฝ้าระวังจุดเสี่ยง จุดอันตรายในพื้นที่ เพื่อการเฝ้าระวังและแก้ไขในส่วนผู้เกี่ยวข้องต่อไป

นายอำนาจ ผลมาตย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีประชากรประมาณ 1.4 ล้านคน ประกอบด้วย 16 อำเภอ มีทางคมนาคมสายหลักผ่านหลายเส้นทาง ปริมาณจราจรหนาแน่น มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้สถิติเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูง ซึ่งในแต่ละปีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดสงขลา ได้ดำเนินการตามนโยบาย Safety Thailand ของรัฐบาลมาโดยตลอด และล่าสุดได้ประกาศเป็นจังหวัด “วาระสงขลาปลอดภัย” เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชนและนักท่องเที่ยว  

ทั้งนี้จากการเชื่อมฐานข้อมูลเครือข่ายอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดสงขลา โดยใช้โปรแกรมการเชื่อมโยงข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนจาก 3 ฐานข้อมูล (ตำรวจภูธรสงขลา, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา, บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สาขา สงขลา พบมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดสงขลา ระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2559 จำนวน 272 คน โดยจุดเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดสงขลาที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและต้องระวังมากขึ้น มีกว่า 10 จุด เช่น 

1. ทางหลวงหมายเลข 414 ตอน น้ำกระจาย-คลองวง-ท่าท้อน 

2. ทางหลวงหมายเลข 4 ตอนพรุพ้อ-เนินพิชัย, ตอนพังลา –จุดผ่านแดนถาวรสะเดา 

3. ทางหลวงหมายเลข 407 (ถนนกาญจนวนิช ช่วงระหว่างสายแยกสำโรง-ห้าแยก น้ำกระจาย บริเวณจุดกลับรถวัดบางดาน หมู่ที่ 1 ตำบลพะวง และช่วงระหว่าวสามแยกสำโรง-ห้าแยกน้ำกระจาย บริเวณจุดกลับรถวัดเขาแก้ว ม.2 ตำบลเขารูปช้าง 

4. ทางหลวงหมายเลข 408 จุดกลับรถบริเวณ ตลาดเก่า จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง ม.3-4 ตำบลเกาะยอ   

5. ทางหลวงหมายเลข 43 ตอนนาหม่อม-จะนะ, ตอนจะนะ- ปาแด, ตอนหาดใหญ่-นาหม่อม, ตอนลำไพล –นาจวก 

6. ทางหลวงหมายเลข 4085 ตอนปากน้ำเทพา-ธารคีรี, บริเวณสี่แยกเนินหูกวาง ม.1, 2 ตำบลสะบ้าย้อย ฯ ซึ่งทั้ง10 จุดเสี่ยงนี้ได้มี ได้ประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขจุดเสี่ยง และดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยง  เช่น การตัดแต่งต้นไม้และกิ่งไม้บริเวณสองฝั่งถนน ซ่อมแซมผิวทางจราจร การแก้ไขสิ่งบดบังการมองเห็นของผู้ขับขี่ เช่น ต้นไม้ ป้าย เพิ่มไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนและลดจำนวนบาดเจ็บ เสียชีวิตจากอุบัตเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด

นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลาเป็นเมืองความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และยังมีการขยายตัวของประชาชนและชุมชุมอยู่ตลอดเวลา การดูแลประชาชนให้ครอบคลุมเพื่อรองรับการขยายตัวในด้านต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญ จึงได้ดำเนินการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในจุดเสี่ยงของจังหวัดสงขลาจำนวน 337 จุด พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ควบคุมระบบโทรทัศน์วงจรปิดไว้ที่ อบจ.สงขลา ให้เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669, ศูนย์ CCTV, ศูนย์ 191 อยู่ที่เดียวกัน เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว ง่ายต่อการแจ้งเหตุ เป็นการทำงานแบบบูรณาการและเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือชีวิตประชาชนทั้งเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ซึ่งมีเจ้าหน้าที่มาประจำที่ศูนย์ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ที่จัดตั้งอยู่ที่ อบจ.สงขลา 2 ช่วง คือเช้าและเย็น โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดเหตุประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นก็สามารถดูที่ CCTV ได้ ว่าการเคลื่อนย้ายประชาชนนั้นมีอุปสรรคตรงไหนหรือไม่อย่างไร และหากติดปัญหาที่เรื่องของสัญญาณไฟจราจรก็สามารถประสานปล่อยสัญญาณไฟได้อย่างทันท่วงที หากมีเหตุด่วนเหตุร้ายก็สามารถเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที     

นายประสงค์ บริรักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง กล่าวว่า ในการทำงานได้ยึดหลักการมีส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเป้าหมายการพัฒนาท้องถิ่น ให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง โดยเน้นความรวดเร็ว ทั่วถึง เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ประชาชนและชุมชนมีสุข ซึ่งการปกป้องดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ทางหน่วยงานจึงได้มีแนวคิดจัดให้มี “เจ้าหน้าที่เทศกิจ” ซึ่งเป็นบุคคลที่ทำหน้าที่แทนตำรวจได้เกือบทุกเรื่องแต่ไม่สามารถจับหรือลงโทษได้ แต่ใช้การรณรงค์สร้างจิตสำนึก แนะนำ ตักเตือนคนในชุมชนให้รักษากฎและวินัยจราจร เป็นหลักทำงานร่วมกับมาตรการทางสังคม แบ่งเบาภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเป็นการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนให้มีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้มากขึ้น

ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่เทศกิจที่ผ่านการอบรมและปฎิบัติหน้าที่ประจำอยู่ที่เทศบาลและทำงานร่วมกับชุมชน จำนวน 30 คน โดยที่ผ่านมาสามารถดูแลความปลอดภัยและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในชุมชนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งเป็นผลงานเด่นอีกหนึ่งชิ้นที่ทำให้ได้รางวัลชนะเลิศระดับภาคและระดับประเทศ ในโครงการชุมชนร่วมใจ สร้างความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่  6  ประจำปี  2553 จากสภาวิศวกร   

ทั้งนี้ล่าสุดได้มีมาตรการเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนนแก่ประชาชน ได้แก่ การปิดเส้นทางเลี่ยง และจุดกลับรถที่ไม่ปลอดภัยบนท้องถนน 4 สายหลัก ประกอบด้วย ถนนกาญจนวนิช ,ถนนสงขลา-นาทวี ,ถนนติณสูลานนท์ และถนนสามสิบเมตร พร้อมจัดหน้าที่อำนวยความสะดวกในชั่วโมงเร่งด่วน จนได้รับรางวัลในระดับประเทศ และเมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดสงขลา ก็ได้เลือกเทศบาลเมืองเขารูปช้างเป็นชุมชนนำร่องสวมหมวกนิรภัย100% พร้อมลงนาม MOU เดินหน้าป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ตามโครงการความปลอดภัยทางถนน ชุมชนนำร่อง สวมหมวกนิรภัย 100 % อีกด้วย