ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์จับมือมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดตัว Application Fast Track ทางด่วนชีวิต เรียกรถพยาบาลช่วยผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ให้ถึงหมอเร็ว รักษาได้ทัน

วันที่ 23 กันยายน 2559) ที่กรมการแพทย์ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรไทย จากสถิติสาธารณสุข สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2557 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 58,681 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน คิดเป็นอัตราตายของโรคหัวใจและหลอดเลือด เท่ากับ 90.34 ต่อแสนประชากร จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด 18,079 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน คิดเป็นอัตราตายของโรคหัวใจขาดเลือด เท่ากัน 27.83 ต่อแสนประชากร

โรคหัวใจขาดเลือดหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิด STEMI (ST elevate myocardium infarction) เกิดจากการอุดตันเฉียบพลันของหลอดเลือดแดงที่หัวใจ แม้ว่าภาวะที่เกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจะร้ายแรง  แต่การรู้ ระวัง เข้าใจ และสามารถตอบสนองอย่างฉับไว สามารถช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิตลงได้มาก แนวทางการปฏิบัติในการรักษาโรคนี้ ของ American College of Cardiology (ACC) และ American Heart Association (AHA) แนะนำให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 30 นาที และให้การรักษาด้วยบอลลูนขยายหลอดเลือด ภายใน 90 นาที ถ้าเริ่มการรักษาช้า จะเพิ่มอัตราตายมากขึ้น

อาการสำคัญของโรคนี้คือ อาการแน่นหน้าอกส่วนมากจะเป็นตรงกลาง เป็นนานเกินกว่าหนึ่งนาทีขึ้นไป และมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่กราม หรือที่ไหล่ร่วมด้วย โดยเฉพาะไหล่ซ้าย บางรายจะมีอาการเหนื่อย มีเหงื่อแตกร่วมด้วยต้องสงสัยไว้ว่า อาจเกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตันแล้ว ดังนั้น เมื่อมีอาการที่น่าสงสัย สิ่งที่ควรทำอันดับแรก คือ รีบไปพบแพทย์ทันทีโดยไม่รอช้า ในทางการแพทย์มีการพิสูจน์แล้วว่าเมื่อผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง จะช่วยชีวิตได้จริง

สำหรับโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย  พบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 2 แสนรายต่อปี ความชุกร้อยละ 1.88 ในประชากรอายุ 45 – 80 ปี เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ทั้งผู้ชายและผู้หญิง จากสถิติสาธารณสุข สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข  ปี 2557 อัตราการตายต่อประชากรแสนคน สูงถึง 38.7 มากกว่าโรคหลอดเลือดหัวใจ

สัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง คือ อ่อนแรงแขนขาครึ่งซีก หน้าเบี้ยวครึ่งซีก เหน็บชาตามร่างกายครึ่งซีก พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด กลืนลำบาก สำลัก เห็นภาพซ้อน ภาพมัวหรือมืดลงครึ่งซีก สับสน ซึมลง ไม่รู้สึกตัว เวียนและปวดศีรษะรุนแรง ปวดต้นคอ คลื่นไส้อาเจียน เดินเซ ควรรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที เพราะไม่เช่นนั้นผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (Stroke Fast Track) เป็นการรักษาที่ได้มาตรฐานและได้รับการยอมรับ การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ยุ่งยากได้ผลค่อนข้างดี แต่มีข้อจำกัดด้านเวลา โดยต้องวินิจฉัยและเริ่มให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ภายใน 4.5 ชั่วโมง หลังผู้ป่วยมีอาการ ดังนั้น ควรนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อลดอัตราการตายและความพิการ

จากปัญหาดังกล่าวกรมการแพทย์จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดทำและพัฒนา Application Fast Track ทางด่วนชีวิต เรียกรถพยาบาล ช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการให้บริการประชาชนบนโทรศัพท์มือถือ Smart Phone ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว สามารถประเมินตนเอง และเข้าถึงบริการในสถานบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนได้อย่างทันท่วงทีในช่วงระยะวิกฤต โดยกรมการแพทย์เป็นผู้สนับสนุนเรื่องข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง

สำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้จัดทำและพัฒนา Application Fast Track ให้ใช้งานและเข้าถึงได้ง่าย และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นผู้สนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูล ระหว่าง Application EMS 1669 กับ Application Fast Track ซึ่งมีระบบการเรียกรถพยาบาลแทนการใช้โทรศัพท์ 1669 ฉะนั้น ความสำคัญกับชีวิตของผู้ป่วย ทั้งโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน หากประชาชนรู้เท่าทันโรคและสามารถเข้าถึงบริการได้รับการรักษาในช่วงเวลาที่กำหนด (Golden Period) จะลดการตายและพิการได้

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เห็นความสำคัญของการช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ที่ มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสมและรวดเร็วที่สุด จึงได้มีการพัฒนา Application STROKE KKU และต่อมามีการพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น FAST TRACK เพื่อการเข้าถึงระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว แอพพลิเคชั่น “FAST TRACK” หรือ แอพพลิเคชั่น “เรียกรถพยาบาล” มีระบบการเรียกรถพยาบาลแทนการใช้โทรศัพท์ 1669 ข้อดีคือมีข้อมูลตำแหน่งของผู้เรียกรถ ข้อมูลการเจ็บป่วยและหมายเลขโทรศัพท์ของญาติ
ผู้ใกล้ชิด เวลาที่เรียกรถพยาบาล รวมทั้งมีการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ อุบัติเหตุและฉุกเฉิน ผ่านทางบทความ หนังสือ วีดิทัศน์ และภาพความรู้ (infographic) รวมทั้งแบบคัดกรองประเมินความเสี่ยงโรคต่างๆ

Application ประกอบด้วยส่วนสำคัญหลัก คือ  

1.การเรียกรถพยาบาล จากระบบการแพทย์ฉุกเฉินของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศไทย แทนการโทรศัพท์ 1669

2.การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ภาวะอุบัติเหตุและฉุกเฉินอื่นๆ  

3.โรงพยาบาลที่มีความสามารถให้การรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดรักษาโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โดยมีแผนที่บอกเส้นทางการเดินทางจากสถานที่อยู่ไปยังโรงพยาบาลที่ระบุ หรือโรงพยาบาลใกล้ที่สุด

ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดแอพพิเคชั่น FAST TRACK ทางด่วนชีวิต เรียกรถพยาบาล โดยการใช้คำ FAST TRACK หรือ เรียกรถพยาบาล ทั้งในระบบ android และ iOS โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่พบบ่อยที่สุดและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและพิการลำดับต้นๆ ของประเทศไทยโดยสถิติการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2558 ถึง เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมามีการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยภาวะ เจ็บแน่นทรวงอก เจ็บแน่นหัวใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของโรคเลือดหัวใจจำนวนมากถึง 53,114  คน  และนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอาการภาวะอัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรงสูญเสียการรับรู้ยืนหรือเดินไม่ได้เฉียบพลันซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 17,418 คน  โดยผู้ป่วยทั้งสองอาการนี้จะต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสมและรวดเร็ว ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้จัดวางระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีความพร้อมทั้งรถพยาบาลและทีมแพทย์ฉุกเฉินในการเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง 

การพัฒนาแอพพลิเคชั่นเรียกรถพยาบาล Fast track ที่มีความเชื่อมโยงกับแอพพลิเคชั่น EMS 1669 ในครั้งนี้นั้นจึงเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินและเป็นประโยชน์ทั้งต่อประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยภาวะโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ให้ได้เข้าถึงระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง