ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงถกรับฟังความคิดเห็น พ.ร.บ.กรรมการนโยบายสุขภาพ ท้วงติงคำนิยาม “ระบบสุขภาพ” ยังไม่ชัดเจน “นพ.วินัย” ชี้ ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพต้องทำงานเชิงนโยบายเท่านั้น นายกรัฐมนตรีควรเป็นประธาน ตั้งกรรมการจาก รมต.ที่เกี่ยวข้อง กำหนดหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำ-แก้ปัญหาล้มละลายจากการรักษา-ปชช.เข้าถึงบริการมากขึ้น

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากฎหมายเพื่อการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ใน กมธ.สาธารณสุข สนช. จัดการสัมมนาเรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ...” ขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธาน กมธ.สาธารณสุข สนช. กล่าวว่า แนวคิดการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Policy Board) เป็นหนึ่งในแนวทางการปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้เผยแพร่หรือเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่า ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... จะเกิดขึ้นมาได้จริงหรือไม่

นพ.วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการ สปสช.ได้กล่าวในเวทีอภิปรายหัวข้อ “หลักการและเหตุผล รวมทั้งสรุปสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ...” ตอนหนึ่งว่า เจตนาที่สำคัญคือต้องการให้ประชาชนที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพทุกระบบได้รับประโยชน์สูงสุด คำถามคือ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้การเข้าถึงบริการของประชาชนทั้ง 3 สิทธิดีขึ้นหรือไม่ จะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือจะช่วยแก้ปัญหาภาวะล้มละลายจากการรักษาพยาบาลได้หรือไม่ ซึ่งเท่าที่อ่าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ คิดว่ายังไม่เห็นความเชื่อมโยงกับประเด็นเหล่านี้สักเท่าใดนัก แต่ก็ยังเห็นด้วยในหลักการว่าประเทศไทยควรมีเอกภาพในการกำหนดเป้าหมายและนโยบาย

สำหรับข้อเสนอต่อ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้แก่ 1.คำนิยามเรื่องระบบสุขภาพ ตามมาตรา 14 ยังไม่เข้าใจเรื่องของระบบสุขภาพ ซึ่งเรื่องระบบสุขภาพนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จำแนกระบบย่อย ได้แก่ 1.ระบบบริการสุขภาพ 2.ระบบกำลังคนด้านสุขภาพ 3.ระบบข้อมูลข่าวสาร 4.ระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์ 5.ระบบการเงินการคลัง 6.ระบบผู้นำและธรรมาภิบาล ฉะนั้นการเขียนนิยามระบบสุขภาพ น่าจะมีที่มาที่ไป ไม่สะเปะสะปะ และต้องครอบคลุม และน่าจะเป็นไปตามองค์การอนามัยโลก

2.องค์ประกอบของกรรมการ โดยคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจกำหนดนโยบายแต่ไม่ต้องลงรายละเอียดในปฏิบัติ อาจประชุมปีละ 2-3 ครั้งเท่านั้น มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ เป็นประธาน และมี รมต.กระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เช่น กระทรวงที่ดูแลหน่วยบริการ อาทิ มหาดไทย ศึกษาธิการ สาธารณสุข และกระทรวงที่ดูแลเรื่องการเบิกจ่าย อาทิ คลัง แรงงาน รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ หรือเลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่วนเลขานุการอาจเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

3.ร่างกฎหมายฉบับนี้พูดถึงกลไกด้านบุคลากรน้อยไป ทั้งการเปลี่ยน การกระจาย การคงอยู่ การผลิตบุคลากรด้านต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีเอกภาพในการจัดการเรื่องนี้

4.อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ ควรมีหน้าที่กำหนดนโยบายให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการอย่างเสมอหน้าและมีคุณภาพ ปกป้องประชาชนไม่ให้ล้มละลายจากการเจ็บป่วย และลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพ เมื่อทราบหน้าที่แล้วค่อยเขียนอำนาจให้ตอบสนองกับการทำหน้าที่เหล่านั้น

5.เขตสุขภาพ ในเมื่อคณะกรรมการชุดนี้เป็นกรรมการนโยบาย แต่เขตสุขภาพเป็นกระบวนการบริหารจัดการ ฉะนั้นกรรมการอาจมีข้อเสนอรูปแบบการจัดการผ่านการมีมติ แต่ไม่ควรเขียนเรื่องนี้ไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เพราะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ เป็นเรื่องย่อย ไม่ใช่นโยบาย

6.เขียนหมายเหตุไว้ในตอนท้ายของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า สาเหตุที่ต้องตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมานั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

7.ให้ สธ.ทดลองทำหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ เชิญหน่วยงานด้านต่างๆ มาประสานความร่วมมือกัน สร้างความเข้าใจและแก้ปัญหาข้อกังวลว่ากฎหมายจะมาลิดลอนสิทธิต่างๆ

นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า หากมองขอบเขตคำว่าระบบสุขภาพ ต้องเข้าใจว่าขณะนี้เราได้เปลี่ยนผ่านจากสาธารณสุขมูลฐานมาสู่การให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพแล้ว จากเดิมที่ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะอยู่ในระบบโรงพยาบาลอย่างเดียวก็ได้เปลี่ยนไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน เช่น การจัดทำนโยบายสาธารณะ และในปัจจุบันได้ผ่านตรงนั้นมาจนถึงการให้ความสำคัญกับปัจจัยสังคมมาเป็นตัวกำหนดสุขภาพ

“ปัญหาสุขภาพอย่างๆ หนึ่ง มากกว่าสิ่งที่เห็นตรงหน้า เช่น ปัญหาคนติดสุราแล้วไปขับรถ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่แค่การเมาแล้วขับ แต่ต้นตอของปัญหาอาจจะมากกว่านั้น จึงต้องย้อนกลับไปถามว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องการแก้ปัญหาอะไร ปัญหาสุขภาพ ระบบสุขภาพ ระบบสาธารณสุข หรือเพียงระบบบริการทางการแพทย์ กันแน่ เพราะนี่เป็นหัวใจสำคัญที่ยังตีความต่างกัน” นางอรพรรณ กล่าว

นางอรพรรณ กล่าวว่า สธ.มีบทบาทในการเสนอนโยบายที่สำคัญหรือยุทธศาสตร์ที่สำคัญอยู่แล้ว แต่ก็ไม่อาจละเลยกระทรวงอื่นๆ ได้ แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็จะพบว่าทุกส่วนสอดประสานกัน ดังนั้นจึงต้องกลับไปที่คำถามว่าเราต้องการแก้ปัญหาอะไร และหัวใจของปัญหาอยู่ที่ไหน ระหว่างตัวระบบ การบูรณาการ หรือทัศนคติที่ไม่ตรงกัน

“เรื่องของเขตสุขภาพเพื่อประชาชน คาดว่าร่างระเบียบสำนักนายกจะออกมาภายในสัปดาห์หน้า แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อคือเรื่องเขตสุขภาพตาม ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คิดบนโมเดลให้พื้นที่ทำงานตามนโยบายชาติ หรือใช้โมเดลพื้นที่เพื่อตอบโจทย์พื้นที่โดยใช้นโยบายชาติแค่บางส่วน” นางอรพรรณ กล่าว

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขต 2 กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูประบบบริหารจัดการระบบสุขภาพได้ศึกษาและวิเคราะห์ประเด็นปัญหาเอาไว้ 5 ประเด็น ได้แก่

 1.ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยมีหลายระบบและขาดการบูรณาการร่วมกัน 

2.บทบาทระหว่างผู้ซื้อและผู้ให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพมีการแยกกันอย่างชัดเจน

3.การกำกับทิศทางและอภิบาลระบบสาธารณสุขโดยรวมขาดความขัดเจนและไม่มีความเป็นเอกภาพ

4.โครงสร้างการดำเนินงานมีช่องว่างโดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณ 

5.การขาดกลไกบูรณาการนโยบายระบบสาธารณสุขของประเทศ

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ต้องเป็นผู้กำหนดทิศทางและนโยบายหลักด้านสุขภาพของประเทศ ตลอดจนกลั่นกรองนโยบายสำคัญก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมกันนี้ต้องเชื่อมโยงบูรณาการทั้งด้านงบประมาณ กฎหมาย และกฎระเบียบ ในประเด็นที่กำหนดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และต้องกำกับติดตามประเมินผลการทำงานด้วย