ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอโกมาตร” เผยการทำงานใน รพ.เป็นปฏิบัติการขนาดใหญ่ ขับเคลื่อนรักษาคนไข้ได้เป็นพันต่อวัน แต่ก็มีข้อเสีย เหตุเงื่อนไขโครงสร้างระบบงานทำให้คนทำงานต้องเหนื่อย ก่อให้เกิดสภาวะแปลกแยกจากงาน ชี้งานได้ผล คนจะเป็นสุขจริง ต้องสร้างแรงบันดาลใจ เชื่องานท้าทายคือสิ่งที่สร้างความสุขให้คนทำงานได้ แนะผู้บริหารต้องรู้ความสามารถพนักงานหากต้องการให้องค์กรยั่งยืน

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ที่เมืองทองธานี ภายในงานประชุมระดับชาติหัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบสุขภาพ” หรือ “National Forum on Human Resources for Health 2017" มีการบรรยายเรื่อง “งานบันดาลใจ” โดยมี นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ เป็นผู้บรรยาย 

นพ.โกมาตร กล่าวตอนหนึ่งของการบรรยายว่า กระทรวงสาธาณสุขมีวิสัยทัศน์อันสำคัญคือ การทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี ทั้งส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟู เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและก่อเกิดให้ประชาชนได้มีความสุข 

อย่างไรก็ตาม การทำงานในระบบงานสมัยใหม่ เป็นผลผลิตมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และไทยได้นำระบบมาสร้างอุตสาหกรรมเพื่อปฏิบัติการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก หากเราไม่มีระบบงาน เป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถรักษาคนไข้ได้จำนวนหลักพันคนต่อวัน แต่ระบบใหม่ก็มีผลเสียเช่นกัน 

เนื่องจากเพราะระบบงานสมัยใหม่ยังมีเงื่อนไขของโครงสร้างระบบงานที่ทำให้คนทำงานต้องเหนื่อยด้วย จึงก่อให้เกิดสภาวะแปลกแยกจากงานที่สามารถรวบรวมได้ 10 ข้อ กล่าวคือ

1.งานแยกย่อยไม่เห็นภาพรวม

2.ทำงานโดยไม่รู้ความหมาย

3.ตัดสินใจด้วยตนเองไม่ได้

4.การวัดผลเชิงปริมาณ

5.ทำงานแบบไม่ต้องใช้ความรู้ 

6.ทำงานแล้วฉลาดเท่าเดิม

7.ไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา

8.งานทุกอย่างมีคู่มือ แนวทาง และตัวชี้วัด

9.ระบบงานเหมือนเครื่องจักร

และ 10.วงจรอุบาทว์ของการประชุม ประเมิน และประกวด 

อย่างไรก็ตาม มีคำถามตามมาว่างานได้ผล คนจะเป็นสุขจริงหรือไม่ เพราะหลายองค์กรพบว่า การแก้ไขปัญหากำลังคนที่ผ่านมาเป็นไปอย่างจำกัด และยังมีปัญหาคนไม่มีความสุข ขาดแรงบันดาลใจ มีความขัดแย้งสูง รวมถึงการจัดการอบรมต่างๆ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงยังคงอยู่ที่คนกลุ่มเดิมๆ ที่กระตือรือร้นเข้าร่วม 

นพ.โกมาตร กล่าวว่า ก็ต้องมองว่าสิ่งใดบ้างที่จะบันดาลใจของผู้ทำงานให้เกิดความสุข คือ เติบโตกับงานและเบิกบานกับชีวิต ซึ่งหากมองย้อนกลับไปจะพบว่า ในงานวิจัยของต่างประเทศ แม้ว่าคนทำงานจะมีรายได้จำนวนมาก แต่กลับไม่พบว่ามีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะอัตราความสุขที่สามารถวัดได้ยังคงอยู่เท่าเดิม 

กระทั่งไปพบอีกว่า ในสภาวะการทำงานจะมีสภาวะของการลื่นไหล คือ เมื่อทำงานมีประสบการณ์พอสมควรแล้ว จะต้องมีสิ่งที่ท้าทายเพิ่มมากขึ้น และจะช่วยดึงเอาศักยภาพของคนมาแก้ไขปัญหา หรือเรียกว่าทำงานอย่างลื่นไหลและลืมเวลาไปเลย เพียงแต่จิตจดจ่อกับงานที่อยู่ตรงหน้า และภาวะภายนอกหมดความหมายไปในทันที ส่งผลให้งานจึงเกิดความสำเร็จตามมา และเป็นความภูมิใจของคนทำงานที่สามารถจัดการงานที่ท้าทายได้สำเร็จลุล่วง 

“ระบบการลื่นไหลจะมาพร้อมกับความสามารถของผู้ทำงานที่ต้องการความท้าทายในการทำงานเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นคนทำงานที่ไม่มีความสามารถและงานยากเกินไป ก็จะทำให้งานอาจจะไม่สำเร็จ และไม่เกิดความสุขและความต้องการทำงานด้วย” นพ.โกมาตร กล่าว 

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กล่าวว่า หากมีงานบันดาลใจที่เราต้องการเพียงแค่ 10% ของทั้งหมดก็ถือว่าเพียงพอแล้วที่จะสร้างความสุขให้กับตัวเอง รวมถึงยังช่วยมีแรงใจที่จะทำงานที่เหลืออีก 90% ได้อีกด้วย และสิ่งหนึ่งที่คนบริหารจะทำงานได้ คือบริหารงานให้ลูกน้องตามความสามารถ และมีความท้าทาย เพราะงานที่ยากและท้าทายจะหล่อเลี้ยงคนทำงานให้มีความสุขไปด้วย แม้งานจะหนักแต่ก็เหมือนเสื้อชูชีพที่ทำให้ลอยอยู่ท่ามกลางความยากลำบาก 

“ผมเชื่อว่ามนุษย์เติบโตได้จากการทำงาน หากได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ คนทำงานจะเติบโตขึ้นไปอีกเรื่อยๆ เพราะงานคือเครื่องขัดเกลามนุษย์ ทำให้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์” นพ.โกมาตร กล่าว 

นพ.โกมาตร กล่าวอีกว่า ผู้บริหารองค์กรควรทำให้งานทุกอย่างมีความหมาย และส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติหรือพนักงานเล็งเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่มีความหมายอันยิงใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือ และการลงมือปฏิบัติให้งานสำเร็จลุล่วง รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้อีกด้วย อย่างเช่น งานสุขภาพ หากพูดกับพยาบาลว่านี่คืองานพยาบาล เราลองให้ความหมายใหม่ว่านี่คืองานที่ต้องกอบกู้ชีวิต กอบกู้โลก ความหมายก็เปลี่ยนไปสำหรับคนทำงาน เพราะงานที่ทำอยู่ทุกวันจะช่วยต่ออายุวัฒนธรรมได้ต่อไปด้วยการพูดจาให้ความหมายมากยิ่งขึ้น 

"การสร้างงานบันดาลใจในองค์กร คือการสร้างคุณค่าในตน รวมถึงความภาคภูมิใจในผลงาน การได้ทำในสิ่งที่เลือก และการได้ทุ่มเทในสิ่งที่รัก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับรายได้ แต่เป็นการยอมรับในแวดวงวิชาชีพ ยังรวมถึงได้รับทราบรับรู้ถึงความหมายของงานที่ทำ” นพ.โกมาตร กล่าว และเสริมว่า สัมพันธภาพในองค์กรก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งต้องอยู่บนฐานความถูกต้อง ไม่เกิดความบาดหมาง ไม่ละเมิดกัน ซึ่งทั้งหมดทำให้เกิดการทะเลาะไม่ลงรอยกัน และจะส่งผลให้ไม่มีความสุขในการทำงาน และแน่นอนว่าจะกระทบต่อการทำงานอีกด้วย