ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย จัดอบรมหลักสูตร Training for Trainer ยกระดับมาตรฐานผู้จัดการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager) บริการด้วยใจสร้างความมั่นใจให้ผู้สูงอายุไทย เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้ ในสัดส่วน Care manager 1 คน ต่อผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง 35 - 40 คน

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาฟื้นฟูทักษะและศักยภาพของผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager) Training for Trainer “มั่นใจในมาตรฐาน บริการด้วยใจ Care manager ไทย เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้” ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี ว่า ตั้งแต่ปี 2558 รัฐบาลให้ความสำคัญกับการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีนโยบายด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุทุกกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุโดยมุ่งเน้นการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง และส่งเสริมสุขภาพในผู้สูงอายุที่สุขภาพแข็งแรงเพื่อชะลอการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง โดยมีระบบกลไกการทำงานผู้จัดการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager) ซึ่งในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการประเมินคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ จำนวน 6,394,022 คน พบว่าเป็นกลุ่มติดสังคม ประมาณ 5 ล้านคน หรือร้อยละ 79 และเป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง กลุ่มติดบ้าน ติดเตียง จำเป็นต้องสนับสนุนบริการด้านสุขภาพและสังคม ประมาณ 1.3 ล้านคน หรือร้อยละ 21

นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายให้เร่งรัดการดำเนินงานพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงรวมถึงผู้ป่วย ในระยะท้ายของชีวิตเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการดังนี้

1) การคัดกรองเพื่อจำแนกกลุ่มผู้สูงอายุตามภาวะพึ่งพิงและประเมินความจำเป็นด้านการสนับสนุนบริการและจัดบริการด้านสุขภาพและสังคม

2) การจัดบริการด้านสุขภาพและสังคมรวมถึงมีผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care giver) และมีผู้จัดการดูแล (Care manager) อย่างพอเพียงในสัดส่วน Care manager 1 คน ต่อผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง 35 - 40 คน และ Care giver 1 คนต่อผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง 7 - 10 คน โดยให้บูรณาการเรื่องการนวดไทยเข้าไปในหลักสูตร Care Manager และ Care giver เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุและผู้อยู่ในระยะพึ่งพิงรวมผู้พิการ

กรมอนามัยจึงได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และภาคีเครือข่ายดำเนินงานโครงการฝึกอบรมผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager) ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบันได้มีผู้จัดการดูแล(Care manager) ที่ผ่านการอบรมแล้วจำนวน 2,598 คน จากทั่วประเทศ ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน ติดเตียงแล้ว จำนวน 80,826 คน เพื่อผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ผู้สูงอายุได้รับความคุ้มครองทางสุขภาพ โดยมีความรู้สึกปลอดภัย และมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ให้สอดรับวิสัยทัศน์กระทรวงสาธารณสุขที่ว่า “ภายในทศวรรษต่อไป คนไทยทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืน”

โดยกำหนดผลกระทบระดับชาติ 10 ปี ไว้ คือ

1) อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดไม่น้อยกว่า 80 ปี

2) อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีไม่น้อยกว่า 72 ปี

“สำหรับปีงบประมาณ 2560 นี้ กรมอนามัยได้ยกระดับการให้บริการของ Care manager โดยจัดอบรมหลักสูตร Training for Trainer“ มั่นใจในมาตรฐาน บริการด้วยใจ Care manager ไทย เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้” เพื่อสร้างและพัฒนาศักยภาพ Care manager ที่มีคุณภาพ มีความรู้ความเข้าใจและทักษะในการดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องที่บ้านและในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการการดูแล ลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล”  

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีนั้น สามารถทำได้ด้วยหลัก 3 อ. 2 ส. 1 ฟ. เริ่มจาก 3 อ. ได้แก่

1) อ.อาหาร กินครบ 5 หมู่ เพิ่มอาหารที่มีแคลเซียมสูง โปรตีน และเน้นอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ปลา ผักและผลไม้

2) อ.อารมณ์ รู้จักผ่อนคลายอารมณ์เครียดหางานอดิเรกที่ชอบ พักผ่อนให้เพียงพอ

3) อ.ออกกำลังกาย โดยเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อในระดับปานกลางอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน หรือสะสมวันละ 10 นาที เช่น เดิน ปั่นจักรยาน รำมวยจีน

2 ส.ได้แก่

1) ไม่สูบบุหรี่ 

2) ไม่ดื่มสุรา

และ 1 ฟ. คือ การดูแล ทำความสะอาดฟันทุกวัน และแนะนำให้ผู้สูงอายุทำความสะอาดซอกฟันโดยใช้ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟันเพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี