ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายวิชาชีพสาธารณสุข ประกอบด้วย ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) ชวส, ชมรมผอ.รพ.สต.(ประเทศไทย), ชมรม ผอ.รพ.สต (จพ.ชำนาญงาน), ชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุขแห่งประเทศไทย, ชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้, ชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุขที่มีวุฒิ ป.ตรีชายแดนใต้, สมาพันธ์ลูกจ้างและข้าราชการสาธารณสุขชายแดนใต้, สมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย(สคสท) และเครือข่ายพสกนิกรรวมใจสามัคคี (คพรส.) เตรียมยื่นหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนผู้บริหารทุกระดับ เรื่อง ทักท้วงโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ที่ไม่ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแนวทางการจ่ายค่าตอบแทน

โดยระบุว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (หนังสือ สธ.0203.042.4/ว261 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2559) ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า หนังสือ ว 261 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแนวทางการจ่ายเงินค่าตอบแทนในข้อที่ 2 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการชดเชยค่าเสียโอกาสในการดำรงชีวิตที่สะดวกสบาย และต้องมีแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการที่ยังมีปัญหาสภาพความไม่พร้อมสมบูรณ์ของทรัพยากรและสิ่งสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งนี้ในหลักเกณฑ์ฯ ค่าตอบแทน พ.ศ. 2544 (ฉบับที่ 8 พ.ศ.2556 ก็แสดงเจตนาเป็นแนวทางปฏิบัติในการมอบหมายเจ้าหน้าที่สายงานต่ำกว่าปริญญาตรีผู้มีวุฒิเพิ่มขึ้นและมีคุณสมบัติครบถ้วน ให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ซึ่งส่วนราชการไม่สามารถจัดสรรตำแหน่งเพื่อบรรจุแต่งตั้งได้ เพื่อประโยชน์ของทางราชการและการบริการประชาชนที่ได้คุณภาพมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคม 2559 นี้ ยังเกิดปัญหาจากความไม่เข้าใจ หนังสือ ว 261 อีกเช่นเดิม โดยชมรมที่มีรายนามข้างต้นได้รับแจ้งจากสมาชิกว่ามีหนังสือจาก โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ระบุว่าไม่สามารถมอบหมายให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ในสายงานวิชาการได้ โดยมีรายละเอียดในหนังสือตามข้อความที่ผู้บริหารโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ดังนี้

"การที่จะแต่งตั้งตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขนั้น ต้องได้ผ่านการสอบ ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนตำแหน่งตามวุฒิ การที่จะมอบหมายให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข หากมีวัตถุประสงค์เพื่อเบิกจ่ายค่าตอบแทนเทียบเท่าปริญญาตรี จึงเป็นการไม่ควร"

ทางชมรมซึ่งมีรายนามข้างต้นเห็นว่า การอ้างดังกล่าวของงานบุคลากรและผู้บริหารโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์นั้น ไม่สมเหตุสมผล และเป็นการรอนสิทธิอันพึงมีพึงได้ของบุคลากรสาธารณสุข สะท้อนถึงความไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของหนังสือ ว 261 อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ตามข้อเท็จจริงแล้ว การจ่ายค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามหนังสือ ว 261ดังกล่าว มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับบางวิชาชีพ แต่สามารถเพิ่มขวัญกำลังใจให้บุคลากรได้อย่างมากมาย ชมรมฯ จึงขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังนี้

1.กระทรวงสาธารณสุขควรหาทางแก้ไขปัญหาการรอนสิทธิบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศที่ยังรอนสิทธิบุคลากร โดยการสั่งการให้มีการปฏิบัติหนังสือตาม หนังสือ ว 261 อย่างแท้จริง

2.กระทรวงสาธารณสุขควรเร่งติดตามหนังสือ ชี้แจงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแนวทางการจ่ายเงินค่าตอบแทน ฉบับที่ 11จากกระทรวงการคลัง และกรมบัญชีกลางให้มีผลบังคับใช้และมีเนื้อหาที่ครอบคลุมชัดเจน โดยเฉพาะในสายงานระดับต่ำกว่าปริญญาตรีที่มีวุฒิเพิ่ม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเป็นขวัญกำลังใจบุคลากร โดยบรรจุประเด็นดังต่อไปนี้ด้วย

2.1 การนิยามการนับระยะเวลาในการจ่ายค่าตอบแทนของบุคลากรระดับต่ำกว่าปริญญาตรีที่มีวุฒิเพิ่ม ในค่าตอบแทนฉบับ 11 ให้ชัดเจนว่า นับสิทธิเกื้อกูลได้หรือไม่ หรือนับตั้งแต่มีคำสั่ง

2.2 การนิยามเจ้าหน้าที่ที่มีวุฒิปริญาตรีที่ได้รับค่าตอบแทน ควรให้ครอบคลุมเจ้าพนักงาน (จพ.) สาธารณสุข, จพ.ทันตสาธารณสุข, จพ.เภสัชกรรม, จพ.แพทย์แผนไทย, จพ.วิทยาศาสตร์การแพทย์, จพ.เวชสถิต, จพ.เวชกิจฉุกเฉิน ฯลฯ ทั้งในรพ.สต., สสอ., รพช., รพท., รพศ., สสจ. และหน่วยงานสาธารณสุขอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย

3.กระทรวงสาธารณสุข/สปสช./เขตสุขภาพ./CUP ควรสนับสนุนงบประมาณทุกประเภทให้แก่ รพ.สต.โดยตรง และโอนให้ครบร้อยละ 100 โดยรวมค่าตอบแทนของบุคลากรระดับต่ำกว่าปริญญาตรีที่มีวุฒิเพิ่มด้วย

4.กระทรวงสาธารณสุขควรดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนทุกฉบับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกวิชาชีพ และเสริมสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรต่อไป เช่น หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและแนวทางการจ่ายเงินค่าตอบฉบับ 5 (ค่าเวร) และฉบับ 10 (ชายแดนใต้)

ทั้งนี้ชมรมฯ จะติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหานี้ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด หากไม่คืบหน้า ใดๆ ชมรมจะทำการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป