ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

qz.com รายงานถึงผลสำรวจของ Medscape เกี่ยวกับความคิดเห็นของแพทย์สหรัฐกว่า 14,000 คนในเวชปฏิบัติรวม 30 สาขาเกี่ยวกับผลกระทบจากอาชีพต่อชีวิตความเป็นอยู่เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่ากระทั่งสาขาที่รายงานว่า  มีความสุขมากที่สุดก็ยังคงมีสัดส่วนแพทย์ที่รู้สึกเป็นทุกข์กับงานสูงมากกว่าครึ่งหนึ่ง

ผลสำรวจความสุขในการทำงานจำแนกตามสาขา

ร้อยละของแพทย์ที่รายงานว่ามีความสุขในการทำงาน

เป็นที่น่ากังวลว่าแพทย์ในทุกสาขาล้วนรายงานว่ากำลังใจและความกระตือรือร้นมอดลงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ร้อยละของแพทย์ที่รู้สึกหมดกำลังใจในการทำงาน

ภาพรวมปัญหาหมดกำลังใจการทำงาน

ปัญหาขาดกำลังใจในการทำงานยังคงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงทั้งต่อสุขภาวะของแพทย์และการดูแลรักษาผู้ป่วย สถิติชี้ว่า แพทย์กว่าครึ่ง (ร้อยละ 51) ประสบปัญหาขาดกำลังใจการทำงานซึ่งสูงขึ้นจากตัวเลขร้อยละ 41 เมื่อปี 2556 อันเป็นปีแรกที่ Medscape เริ่มดำเนินการสำรวจในประเด็นนี้  

และจากที่พบว่า อัตราการหมดแรงใจทำงานในหมู่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นกระจุกตัวในพิสัยที่ค่อนข้างแคบ (ร้อยละ 46 –56) ก็สะท้อนว่าปัญหานี้กระทบต่อแพทย์โดยถ้วนหน้า โดยกลุ่มแพทย์เชื้อสายแอฟริกันและเชื้อสายฮิสแปนิก/ละตินมีอัตราการหมดกำลังใจทำงานที่ต่ำกว่าเล็กน้อย (ร้อยละ 48 และร้อยละ 51 ตามลำดับ) เมื่อเทียบกับแพทย์เชื้อสายคอเคเชียน (ร้อยละ 52)

รายงานล่าสุดชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนระหว่างปัญหากำลังใจการทำงานและความสุขของแพทย์ทั้งในที่ทำงานและนอกที่ทำงาน โดยเฉลี่ยพบว่า ร้อยละ 59 ของแพทย์ที่ไม่ประสบปัญหากำลังใจรายงานว่ามีความสุขมากหรือมีความสุขมากที่สุดในที่ทำงานเทียบกับตัวเลขที่ต่ำเพียงร้อยละ 7 ในกลุ่มที่รายงานว่า มีปัญหาหมดกำลังใจโดยมีผลต่างที่สูงกว่า 8 เท่า    

ความสัมพันธ์นี้ยังคงสืบเนื่องไปถึงชีวิตนอกเวลางานดังที่พบว่าราว 3 ใน 4 (ร้อยละ 74) ของแพทย์ที่ไม่มีปัญหาหมดไฟทำงานรายงานว่ามีความสุขหรือมีความสุขมากเมื่ออยู่นอกที่ทำงานเทียบกับร้อยละ 48 ในหมู่แพทย์หมดไฟ

อีกด้านหนึ่งยังพบความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาการหมดกำลังใจทำงานและหนี้สิน โดยพบว่าในกลุ่มแพทย์หมดกำลังใจนั้นมีสัดส่วนแพทย์ที่ปลอดหนี้สินอยู่ไม่ถึง 1 ใน 4 (ร้อยละ 24) เทียบกับสัดส่วน 1 ใน 3 (ร้อยละ 32) ในกลุ่มแพทย์ที่ยังคงมีแรงใจทำงาน และในกลุ่มแพทย์มีหนี้สินพบว่า ร้อยละ 12 ในกลุ่มหมดกำลังใจรายงานว่ามีภาระหนี้ล้นพ้นเทียบกับตัวเลขที่ต่ำเพียงร้อยละ 5 ในกลุ่มที่ปราศจากปัญหากำลังใจ

qz.com รายงานว่า สาเหตุหลักของปัญหาหมดไฟในหมู่แพทย์สหรัฐฯ มาจากระบบบริหาร ชั่วโมงงานที่มากเกินไป และความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า นอกจากนี้แพทย์ยังรู้สึกว่ามีเวลาไม่เพียงพอสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งยังมีสภาพจิตใจอ่อนล้าจากการที่ต้องเห็นภาพความรุนแรงมากเกินไป รวมถึงการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแล       

ความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวลดหลั่นไปตามเวชปฏิบัติแต่ละสาขา โดยมักพบในเวชปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วยความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะแพทย์ฉุกเฉินและเวชบำบัดวิกฤติที่ต้องรับผิดชอบการดูแลผู้ป่วยซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอวัยวะล้มเหลว

ปัญหาแพทย์ไฟมอดอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งในระดับวิชาชีพและระดับบุคคล ดังที่ภาวะซึมเศร้าอาจนำไปสู่อัตราความผิดพลาดที่สูงขึ้น นอกจากนี้อัตราการหย่าร้างในหมู่แพทย์สหรัฐฯ ก็สูงกว่าราวร้อยละ 10-20 เมื่อเทียบกับชาวอเมริกันทั่วไป ซึ่งในอีกทางหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นด้านที่ยากลำบากและการแข่งขันที่สูงในวิชาชีพเวชกรรม