ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมเผย อย.ดันยาโคลพิโดเกรล เป็นหนึ่งในฟาสแทร็คเร่งรัดขึ้นทะเบียนยา พร้อมเตรียมทดลองผลิตโซฟอสบูเวียร์ หลังเก็บตัวอย่างยาได้ครบถ้วนแล้ว

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า หลังจากมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 เพื่อองค์การอาหารและยา (อย.) เร่งรัดการขึ้นทะเบียนยานั้น ตนได้รับทราบข้อมูลว่า ทาง อย.ต้องเสนอแผนงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขภายในเดือน ม.ค. 2560 นี้ ว่ามียาอะไรบ้างที่มีความจำเป็นที่ต้องขึ้นทะเบียนให้ได้ ซึ่งยาโคลพิโดเกรล จะเป็น 1 ใน Fast Track ที่ อย.จะเร่งรัดขึ้นทะเบียน

นอกจากนี้ ในส่วนของยาโซฟอสบูเวียร์ ทาง อภ.สะสมตัวอย่างยามา 6 เดือน และได้ตัวอย่างครบเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้จะได้วางแผนทดลองการผลิตต่อไป

ขณะเดียวกัน จากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ ทาง อภ.เตรียมวางแผนผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้าใหม่ เนื่องจากการผลิตยาเป็นหลอดเล็ก 15-25 ml ทำได้ช้า ดังนั้นหากยาในล็อตขนาด 30ml ซึ่งมีอยู่ 7 หมื่นชุดถูกแจกจ่ายไปหมดและยังมีความต้องการเพิ่ม ทาง อภ.จะเปลี่ยนมาผลิตแบบกระปุก ปริมาณ 500 กรัม พร้อมกับแจกตลับยาไปด้วย ซึ่งจะทำให้การขนส่งและการกระจายเข้าไปในพื้นที่ทำได้ง่าย เมื่อถึงพื้นที่ก็แบ่งยาใส่ตลับแล้วแจกจ่ายได้เลย

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การทดลองผลิตยาโซฟอสบูเวียร์ เป็นการผลิตซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนา ซึ่งยังไม่สามารถผลิตเพื่อขายได้จนกว่าจะหมดปัญหาเรื่องสิทธิบัตร

ขณะที่ยาโคลพิโดเกรล ทุกวันนี้ไทยนำเข้าจากอินเดีย แต่หาก อย.ขึ้นทะเบียนยา ทาง อภ.ก็สามารถผลิตเองได้ ซึ่งข้อดีของการผลิตยาเองคือไทยจะมีขีดความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง นอกจากนี้ การผลิตเองจะช่วยพัฒนาทักษะองค์ความรู้ของคนไทยไปอีกก้าวหนึ่ง

“กระบวนการผลิตยา คุณต้องมีวัตถุดิบที่เป็นตัวยาตั้งต้น ซึ่งปัจจุบัน อภ.ทำได้แต่เพียงไปหาแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ถ้าเริ่มผลิตยาสำเร็จรูปได้ คุณก็ก้าวขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งแล้ว ถ้าทำไปเรื่อยๆ จนเชี่ยวชาญ อนาคตก็อาจพัฒนาไปถึงขั้นผลิตวัตถุดิบเองได้” นายนิมิตร์ กล่าว

ทั้งนี้ ยาโคลพิโดเกรล เป็นยาละลายลิ่มเลือดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง และไทยได้ประการใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ขณะที่ยาโซฟอสบูเวียร์ เป็นยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งมีเสียงเรียกร้องให้ประกาศใช้ซีแอล เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้นในประเทศไทย