ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เตรียมส่งผลสอบสินบนจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้ ป.ป.ช.ภายใน 30 วันเพื่อประกอบกับข้อมูลที่ได้รับจากต่างประเทศ เผยให้นโยบายคณะกรรมการสอบสวนดูว่าจัดซื้อถูกต้องตามระเบียบพัสดุหรือไม่และจัดซื้อแพงหรือไม่

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่กระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา รายงานว่ามีการจ่ายสินบนซื้อขายเครื่องมือแพทย์ในไทย ดำเนินการสอบสวนเสร็จสิ้น ทาง สธ.จะส่งผลสอบให้แก่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำไปพิจารณาในภาพรวมต่อไป

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้หารือกับเลขาธิการ ป.ป.ช. และตนได้หารือกับรองเลขาธิการ ป.ป.ช. ถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งทาง ป.ป.ช.ได้ขอให้ สธ.ดำเนินการสอบสวนในเบื้องต้นก่อน และหลังจาก สธ.สอบสวนเสร็จแล้ว จะส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช. นำไปประกอบกับข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งจะมีบางส่วนที่ได้จากต่างประเทศด้วย

“ทาง ป.ป.ช.ก็รวบรวมข้อมูลอยู่ และขอให้เราสืบของเราในเบื้องต้นก่อน อีกประมาณ 30 วันถ้าเราได้ข้อมูลอย่างไรก็คงส่งให้ ป.ป.ช.ดู เขาบอกว่าเขาเองก็ได้ข้อมูลจากต่างประเทศมาส่วนหนึ่ง เราก็จะส่งผลการสอบสวนให้เขา แล้วดูภาพรวมกันอีกที” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ ได้แต่งตั้งให้ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รักษาราชการแทนหัวหน้าส่วนปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ของ สธ. เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะที่คณะกรรมการประกอบด้วย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้แทนจากสำนักงานบริหารการสาธารณสุข ผู้แทนสำนักตรวจและประเมินผล ตลอดจนนิติกรกระทรวง โดยวางกรอบระยะเวลาการสอบสวนไว้ 30 วัน

“คณะกรรมการนัดประชุมไปแล้วครั้งหนึ่ง นัดแรกคงตกลงกันก่อนว่าจะแบ่งงานกันอย่างไร เพราะเกี่ยวเนื่องกับหลายฝ่าย ทั้งโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค 4-5 แห่ง และหน่วยงานระดับกรมอีก 3-4 กรมในส่วนกลาง เบื้องต้นผมให้หลักการว่า 1.ดูว่าจัดซื้อถูกต้องตามระเบียบพัสดุหรือไม่ และ 2.ซื้อแพงหรือไม่ ถ้าทำถูกระเบียบ ซื้อไม่แพง เรื่องอื่นๆ ก็คงไปว่ากันยาก”นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ประจำกระทรวงสาธารณสุข และรักษาราชการแทนหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีสินบนเครื่องมือแพทย์บริษัท Bio-Rad ซึ่งขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยกำชับให้เร่งรัดดำเนิน 2 เรื่องคือ1.หาข้อมูลสัญญาที่เกี่ยวข้องของกระทรวงสาธารณสุขที่ปรากฏเป็นข่าว 2.ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน

ทั้งนี้คณะกรรมการข้อเท็จจริง ได้ขอเอกสารที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง การรับมอบ ได้ประสานกับ ป.ป.ช. สำนักข่าว รวมทั้งได้มอบให้ เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ประสานกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา

“จะพยายามทำให้รวดเร็วที่สุดในการดำเนินการ ดูสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ราคาจัดซื้อจัดจ้าง ว่าผิดปกติหรือไม่ โดยต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ราคา คุณสมบัติต่างๆ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 นี้เพื่อให้ได้ข้อสรุปอีกครั้ง” นพ.ยงยศ กล่าว