ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.อุบลรัตน์ ผุดโมเดล PPP แก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง ดึงประชาชนร่วมเป็นเจ้าของโรงพยาบาล-ผนึกแนวร่วมหน่วยราชการ-ประสานเอกชนลงทุนจ้างกำลังคนเพิ่ม

นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ประมาณปี 2554 โรงพยาบาลเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องจนขาดทุนในระดับ 7 เพราะโรงพยาบาลรัฐมีจำนวนคนไข้มากแต่ได้รับงบประมาณน้อย โดยขณะนั้นมีปัญหาเรื่องการเก็บข้อมูลได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะเกณฑ์การเบิกจ่ายจากกองทุนต่างๆ ซึ่งค่อนข้างมีรายละเอียดและกติกามากและแตกต่างกันออกไป

อย่างไรก็ตาม กติกาเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วซึ่งโรงพยาบาลเองก็ต้องพยายามให้ครบถ้วน แต่ด้วยข้อจำกัดของโรงพยาบาลขนาดเล็กทั่วประเทศคือคนที่ทำงานด้านข้อมูลหรือเชี่ยวชาญด้านการเก็บข้อมูลมีน้อย บางช่วงบางตอนจึงมีปัญหาเรื่องข้อมูลตกหล่น บกพร่อง และนำไปสู่การเบิกจ่ายที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ทั้งนี้ โรงพยาบาลอุบลรัตน์มีการปรับตัวให้เก็บข้อมูลที่ดีขึ้นเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ควรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ส่วนตัวก็ยังไม่ไว้วางใจสถานการณ์ว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ จึงต้องหาวิธีการแก้ปัญหาให้ยั่งยืน จนนำมาซึ่งโมเดลการแก้ปัญหาที่เราเรียกว่า PPP

สำหรับโมเดล PPP มีองค์ประกอบหลักจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.People คือประชาชนในพื้นที่ ซึ่งดูตัวอย่างโครงสร้างจากวัด เพราะวัดไม่ได้อยู่ในระบบราชการหรืออาศัยเงินจากรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ดึงให้ประชาชนให้เข้ามาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง มีคนบริจาคเงินช่วยเหลือ จะเห็นได้ว่าวัดที่อยู่ในหมู่บ้านที่จนมากๆ ก็ยังสวยงามและมีทุกอย่างครบถ้วน ฉะนั้นโจทย์คือเราต้องเอาประชาชนเข้ามาร่วมให้ได้

“การเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงนั้น ต้องมีรูปธรรมอย่างแท้จริงด้วย เราก็ต้องเริ่มหาว่าประชาชนอยากได้อะไร และพบว่าสิ่งที่ประชาชนอยากได้จริงๆ คือห้องพิเศษของโรงพยาบาลรัฐที่ราคาไม่แพง จึงได้ร่วมกับพระคุณเจ้าจัดสร้างอาคารและห้องพิเศษขึ้น 20 ห้อง เปิดโครงการให้บริจาควันละ 3 บาท ปีละ 1,000 บาท ประชาชน 1 หมื่นคนก็เป็นเงิน 10 ล้านบาท ตรงนี้อยู่ในหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เมื่อเจ็บป่วยก็มีห้องพิเศษใช้ และเงินส่วนนี้ยังช่วยให้โรงพยาบาลนำไปจัดบริการที่ดีขึ้นได้อีกด้วย” นพ.อภิสิทธิ์ กล่าว

2.Public คือหน่วยราชการ ซึ่งงบประมาณจากส่วนนี้ก็ตรงไปตรงมาจาก 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพ ขณะเดียวกันก็พยายามมองหากลไกอื่นๆ ที่มีงบประมาณเข้ามาช่วย เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อำเภอ หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ตรงนี้ก็ทำเป็นโครงการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขเช่นกัน จากเดิมที่ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างไปวิ่งหาเตียง ต่างคนต่างไปวิ่งหาครุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเมื่อมาร่วมกันทำแล้วก็ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น

3.Private sector ก็คือภาคเอกชน ขณะนี้มีกฎหมายฉบับหนึ่งคือ พ.ร.บ.คนพิการ ซึ่งในมาตรา 33 ระบุว่า เอกชนที่มีพนักงาน 100 คน ต้องจ้างพนักงานที่เป็นผู้พิการ 1 คน แต่หากบริษัทใดไม่ประสงค์จะจ้างเองก็มีมาตรา 34 เปิดช่องไว้ว่าให้สามารถสมทบทุนให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปีละประมาณ 1 แสนบาท หรือมีมาตรา 35 ที่ระบุว่าให้สมทบวันละ 300 บาท หรือประมาณปีละ 1 แสนบาท เพื่อให้หน่วยสาธารณประโยชน์ หรือโรงพยาบาลไปจ้างคนพิการเข้ามาดำเนินงาน

“ตอนนี้เราได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท SCG โดยปีที่แล้วจ้างให้ 10 คน ซึ่งเราก็ได้บุคลากรมาช่วยดูแลผู้ป่วย และทำงานธุรการอื่นๆ ซึ่งถือว่าโรงพยาบาลประหยัดได้จำนวนมาก ซึ่งในระยะยาวเราก็คาดหวังว่าหากเอกชนจะสนับสนุนให้ผู้พิการได้ปลูกผักปลอดสารที่บ้านแล้วมาขายโรงพยาบาลในวอลุ่มวันละ 300 บาท ก็จะทำให้เรามีอาหารปลอดสารเคมีไว้บริการผู้ป่วย และประหยัดรายจ่ายโรงพยาบาลได้” นพ.อภิสิทธิ์ กล่าว

นพ.อภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยของความสำเร็จจริงๆ อยู่ที่การบริหารจัดการและสร้างความร่วมมือ ภายใต้แนวคิดให้คนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของโรงพยาบาลอย่างแท้จริง โดยไม่รอพึ่งพิงรัฐบาลอย่างเดียว เนื่องจากรัฐบาลมีลูกหลายคนต้องดูแลลูกหลายคน ฉะนั้นถ้าเราดูแลตัวเองได้ก็ยิ่งเป็นเรื่องดี