ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากข้อมูลการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละ 5 หมื่นคนเศษ ทำให้ประมาณการได้ว่า มีคนไทยอย่างน้อย 1 ล้านคนที่ยังมีชีวิตอยู่และป่วยหรือพิการด้วยโรคเรื้อรังร้ายแรงจากการสูบบุหรี่ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง และโรคเรื้อรังอื่น ๆ

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกว่า ในทุกคนไทย 1 คนที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ จะมีผู้สูบบุหรี่ไทยที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงจากการสูบบุหรี่ที่ยังมีชีวิตอยู่ 20 คน เทียบกับกรณีของสหรัฐอเมริกาที่สัดส่วนเดียวกันเท่ากับ 1 ต่อ 30 คน เนื่องจากประชากรวัยสูบบุหรี่ของอเมริกามีอายุมากกว่าและอายุยืนกว่าผู้สูบบุหรี่ไทย

และจากข้อมูลการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละ 5 หมื่นคนเศษ ทำให้ประมาณการได้ว่า มีคนไทยอย่างน้อย 1 ล้านคนที่ยังมีชีวิตอยู่และป่วยหรือพิการด้วยโรคเรื้อรังร้ายแรงจากการสูบบุหรี่ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง และโรคเรื้อรังอื่น ๆ

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า จำนวนผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ 1 ล้านคนนี้ ล้วนเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด และค่ารักษาพยาบาลแพง โดยเฉพาะผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ที่อาการหนัก 5 หมื่นกว่ารายที่เสียชีวิตในแต่ละปี โดยเฉลี่ยจะป่วยหนักจนสูญเสียคุณภาพชีวิตคนละ 2 ปี ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ นอกจากตัวเองจะทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยเป็นภาระต่อครอบครัวผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นการเพิ่มภาระต่อการบริการของโรงพยาบาล และสร้างภาระต่องบประมาณด้านสาธารณสุขให้แก่รัฐบาล ซึ่งงบรักษาพยาบาลที่เกิดจากการรักษาผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ แนวโน้มจะยังเพิ่มขึ้นทุกปีจากประชากรวัยสูบบุหรี่ที่อายุเพิ่มขึ้น และองค์การอนามัยโลกจัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 ของประเทศที่มีภาระการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยจำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ล่าสุดยังอยู่ที่ 11 ล้านคน ชายไทยยังสูบบุหรี่ร้อยละ 40 ซึ่งสูงกว่าอัตราการสูบบุหรี่เฉลี่ยของชายทั่วโลกที่เท่ากับ 34.6%

ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันเร่งรัดการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการควบคุมยาสูบของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดการสูบบุหรี่โดยเฉพาะในคนที่ยากจน ซึ่งนอกจากจะลดจำนวนผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นการลดปัญหาความยากจน และภาระงบประมาณการรักษาพยาบาลของประเทศด้วย