ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ดร.สมคิด” เรียก บ.เอกชน เข้าแถวตอบแทนสังคม พ้อไม่เห็น “ภาคอสังหาฯ” ร่วมขบวนประชารัฐ ตรวจการบ้าน “5 Quick Win” ประชารัฐเพื่อสังคม (E6) “พล.ต.อ.อดุลย์” ปลื้มยอดจ้างงานพิการ-สูงอายุ ทะลุเป้า “สสส.”เสนอขยายผลมาตรการความปลอดภัยทางถนน กำหนด “เมาแล้วขับ” นับผิดวินัยองค์กร คุมพฤติกรรมงดซิ่ง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 มิถุนายน 2560 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม(E6) ครั้งที่ 2/2560 โดยมี นพ.ประเวศ วะสี ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.ต.อ อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานอาวุโสหอการค้าไทย ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน และดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคประชาสังคม พร้อมคณะทำงาน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรม ตลาดหลักทรัพย์ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เข้าร่วมกว่า 150 คน เพื่อหารือและติดตามความก้าวหน้า ประเด็นเร่งด่วนที่คณะทำงานฯ ได้แก่ 1.การจ้างงานผู้พิการ2.การจ้างงานผู้สูงอายุ 3. การส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุ 4.ที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ และ 5.ความปลอดภัยบนท้องถนน หรือ “5 Quick Win” ที่ดำเนินการตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา

ดร.สมคิด กล่าวว่า การดำเนินงานของคณะทำงาน E6 มีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะด้านการจ้างงานผู้พิการและผู้สูงอายุ มีอัตราการจ้างงานมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีหน่วยงาน องค์กรใหม่ๆ สนใจเข้ามาร่วมและขยายการดำเนินงาน เช่น กลุ่มบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งนายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้มาร่วมนำเสนอรูปแบบการทำงานด้านการจ้างงานผู้พิการ ผู้สูงอายุ และการร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศญี่ปุ่นที่ได้ดำเนินงานร่วมกับบริษัทเอกชนในประเทศจนประสบความสำเร็จแล้ว และพร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศไทยในการดำเนินงานตามนโยบายประชารัฐเพื่อสังคม แต่อยากให้มีความชัดเจนถึงแนวทางความร่วมมือกับภาคส่วนเหล่านี้ ดังนั้นตนจึงได้มอบหมายให้คณะทำงาน E6 ไปศึกษาเพิ่มเติมประเด็นปัญหาในระดับพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือเพิ่มเติมกับกลุ่มองค์กรเหล่านี้ เมื่อมีแนวทางที่ชัดเจนแล้วในส่วนของกระทรวงการคลังจะไปพิจารณาว่าจะต้องมีกระบวนการสนับสนุนอย่างไร เช่น มาตรการช่วยเหลือด้านภาษี เพื่อเป็นการจูงใจให้หน่วยงาน องค์กรเหล่านี้ร่วมเป็นภาคีขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในระดับชุมชนพื้นที่ต่อไป เพราะเรื่องของคุณภาพชีวิต มีทั้งมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ทุกฝ่ายจึงต้องมาร่วมมือกัน

“ฝากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรียกบริษัทที่จดทะเบียน 500 กว่าแห่ง จัดประชุมสัมมนาเพื่อชี้เป้าว่าบริษัทเอกชนแต่งละแห่งสามารถช่วยเหลือประเทศแก้ไขปัญหาสังคมในประเด็นใดได้บ้าง เรียกเข้าแถวมากวดวิชาให้บริษัทได้ตื่นตัว เพราะบางครั้งบริษัทเอกชนก็อยากช่วยแต่ก็ไม่รู้จะเข้ามาช่วยด้านไหน อย่างไร ดังนั้นถึงเวลาแล้วถึงจะต้องมาร่วมมือกัน จ้างงานผู้อายุ ผู้พิการ สร้างงานในชุมชน วันนี้บริษัทเอกชนต้องเข้ามา เพราะรัฐบาลเองมีการปรับลดภาษีแล้ว ก็ต้องคืนสู่สังคมบ้าง ส่วนตัวแล้วก็รู้สึกผิดหวังกับภาคส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะได้เคยไปเชิญมาร่วมมือกันทำงานประชารัฐแล้วแต่ผ่านมากว่า 1 ปี ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า ซึ่งประเด็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยฯ ภาคธุรกิจอสังหาฯ สามารถช่วยได้มาก เพียงแต่ลดกำไรลงบ้างและช่วยกันเพื่อสังคม” ดร.สมคิด กล่าว

นพ.ประเวศ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นโอกาสของคนไทยที่จะทำเรื่องใหญ่ที่ติดขัดมานาน เมื่อรัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ประชารัฐเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ของประเทศไทย 2 เรื่องคือ 1.เปลี่ยนทิศทางการพัฒนา จากการพัฒนาจากบนลงล่าง เป็นการเน้นให้รากฐานแข็งแรงซึ่งจะเป็นจุดเริ่มสำคัญในการแก้ปัญหาด้านต่างๆ และ 2.เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งรัฐและประชาชน จากเดิมที่คิดว่ารัฐเท่านั้นที่มีหน้าที่พัฒนาประเทศ เป็นการร่วมมือกันทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพราะปัญหาสังคมมีความซับซ้อน ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนกลไกเครือข่ายจิตอาสาให้เกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานประเด็นต่างๆ ในพื้นที่ต่อไป

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า การดำเนินงานของคณะทำงาน E6 มีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม และมีผลงานที่วัดได้ทั้งในเชิงมาตรการ และเชิงปริมาณเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้พิการและผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันเกิดการจ้างงานผู้พิการภายใต้ความร่วมมือประชารัฐแล้วกว่า 7,500 อัตรา นอกจากนี้ยังมีองค์กรใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจเข้าร่วม ทำให้เกิดการต่อยอดไปยังประเด็นอื่นๆ ไม่จำกัดอยู่แค่ 5 ประเด็น quick win และขยายไปสู่พื้นที่โดยอาศัยการเชื่อมประสานกับคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ(E3) และกลไกในพื้นที่ของ พม., มหาดไทย หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ รวมถึงภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุน และอำนวยความสะดวกในการดำเนินการอย่างเต็มที่

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ภาคประชาสังคมทำหน้าที่สนับสนุนด้านวิชาการ และเครือข่ายการทำงานเชิงประเด็นร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ใน 5 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ 1. การหนุนเสริมข้อมูลและเครือข่ายคนพิการ 2.การสนับสนุนการจ้างงานแรงงานผู้สูงอายุในภาครัฐ ภาคเอกชน และการทำงานอาชีพอิสระ 3.การประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายภาคประชาชน ขับเคลื่อนและส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ 4.การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย ทั้งการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน การพัฒนาแผนระยะกลางและระยะยาวเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีการนำร่องการปรับปรุงสภาพแวดล้อมตามหลักอารยสถาปัตถ์(Universal Design) ที่ จ.ลำปาง มีการรวบรวมแบบบ้าน และจัดทำคำแนะนำสำหรับการก่อสร้างที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้พิการแล้ว โดยปัจจุบันธนาคารรัฐมีนโยบายออกสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาเสนอกระทรวงการคลังออกมาตรการจูงใจทางภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ

“ประเด็นที่ 5.การสนับสนุนข้อมูลวิชาการและเครือข่ายในการรณรงค์สร้างความตระหนักส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน ได้ลงนามความร่วมมือ(MOU) ประชารัฐร่วมใจปลอดภัยทุกเส้นทางร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 55 องค์กร และอยู่ระหว่างผลักดันให้เกิดการแต่งตั้ง "เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางถนน(จปถ.)" ภายในองค์กรเพื่อกำหนดดูแลการใช้รถใช้ถนนของบุคลากร นอกจากนั้นยังมีการเสนอให้พิจารณาขยายผลนโยบายเพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยกำหนดให้การ “เมาแล้วขับ” ถือเป็นความผิดวินัยในองค์กร และต้องมีการควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงาน อาทิ ขับรถในอัตราที่กฎหมายกำหนด สวมหมากนิรภัยทุกครั้งที่ขับชี่ คาดเข็มขัดนิรภัย เป็นต้น” ดร.สุปรีดา กล่าว

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับการศึกษาแนวทางการพัฒนากลไกระบบการคลังเพื่อสังคม(Social impact finance) ตามที่รองนายกฯ ได้มอบหมายให้คณะทำงานฯ ไปศึกษารายละเอียดร่วมกับภาคีวิชาการ เพื่อเป็นทางเลือกของการสนับสนุนงบประมาณในการทำงานด้านการพัฒนาสังคมนั้น จากการวิเคราะห์แนวทางได้มีการเสนอรูปแบบความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม โดยภาคเอกชนและองค์กรที่สนใจจะร่วมลงทุนในโครงการที่มีเป้าประสงค์ที่ชัดเจนในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสังคม ซึ่งจะต้องมีการกำหนดโจทย์ร่วมกัน ดังนั้นรองนายกฯ จึงได้มอบหมายให้หารือเพิ่มเติมร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมธนาคารมาร่วมหารือแนวทางขับเคลื่อนต่อไป

นายอิสระ กล่าวว่า ก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนงานประชารัฐเพื่อสังคม ภาคเอกชนจะขยายความร่วมมือไปยังเครือข่ายนอกกลุ่มประชารัฐเพื่อสังคม อาทิ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สมาคมการค้า ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค รวมถึงการกำหนดเป้าหมายในการขยายความมือกับบริษัทต่างประเทศในประเทศไทย โดยเฉพาะการขยายการจ้างงานคนพิการไปยังกลุ่มบริษัทญี่ปุ่น โดยขับเคลื่อนร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ ได้ให้เกียรติเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้จะประสานความร่วมมือระหว่างคณะทำงาน E3และคณะทำงาน E6 เพื่อขับเคลื่อนการทำงานเชิงพื้นที่ผ่านกลไกการทำงาน และโครงการต่างๆ เช่น บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ที่มีอยู่ทุกจังหวัด โดยเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือของ 2 คณะทำงานตามแนวทางประชารัฐ จะเสริมพลังการทำงานและมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจและสังคมไทยได้ในระดับหนึ่ง