ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอให้สอดคล้องกับการดำเนินงาน คลินิกหมอครอบครัว และ รพ.สต.ติดดาว ด้วยการบูรณาการทรัพยากรในพื้นที่ให้ประชาชนเข้าถึงบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพ

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีรับโล่รางวัลพระราชทาน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และบุคลากรสาธารณสุขดีเด่น ระดับประเทศ ระดับภาค และมอบรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยมประจาปี 2560 มอบโล่รางวัลนักบริหารสาธารณสุขดีเด่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2560 พร้อมเปิดประชุมวิชาการระดับประเทศ ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ประจำปี 2560 ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

ซึ่งการประชุมครั้งนี้จัดภายใต้หัวข้อ การพัฒนายุทธศาสตร์ระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ 4.0 “ก้าวต่อไปเพื่อระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มั่นคง”โดยมี ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน ผู้รับผิดชอบงานด้านสาธารณสุข นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5,000 คน เข้าร่วมประชุม

นพ.โสภณ กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เป็นระบบการทำงานด้านสุขภาพร่วมกับทุกภาคส่วน ด้วยการบูรณาการทรัพยากรภายในพื้นที่ ส่งเสริมประชาชนและชุมชนให้พึ่งตนเองโดยใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดนำระบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอไปพัฒนางานด้านสาธารณสุข สอดคล้องกับการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster : PCC) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ติดดาว เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น และได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพดีขึ้น

กลไกการทำงานสำคัญคือ การจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (District Health Board : DHB) ตามแนวคิด “คนไทย ใส่ใจดูแลกัน” ประกอบด้วย ความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายวิชาการ (สาธารณสุข) และภาคเอกชน ตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับพื้นที่ที่ไม่ซ้ำซ้อน มีเป้าหมายเพิ่มคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำ โดยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เน้นหนักในผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ เด็กปฐมวัย อุบัติเหตุ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ขยะและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การใช้ชีวิตแบบสังคมเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และโรคเรื้อรังที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เน้นการป้องกันและจัดการลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 200 อำเภอ และจะครบทุกอำเภอในปี 2561