ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค ยืนยันบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของวัยรุ่น โดยส่งผลต่อระบบประสาทและสมองส่วนคิดชั้นสูง มุ่งเป้าหมายป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ชี้ไม่พบหลักฐานว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป หรือช่วยเลิกบุหรี่ได้ พร้อมเผยผลการสำรวจพบเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น แนะนำวัยรุ่นรู้เท่าทันกลยุทธ์ของบริษัทยาสูบ

นพ.สุเทพ เพชรมาก

นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันต่างประเทศมีการรายงานพบเด็กวัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3 เท่า จากปี 2554 หรืออ้างใช้เพื่อช่วยเลิกบุหรี่ทั่วไป และประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นที่สนใจในวัยรุ่นหลายกลุ่ม เหตุเพราะรูปลักษณ์และองค์ประกอบที่ดึงดูดใจให้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเกิดกระแสการเลียนแบบในกลุ่มเพื่อนอย่างรวดเร็ว จากผลสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนไทยอายุ 13-15 ปี ครั้งล่าสุดในปี 2558 สำรวจพบว่าเยาวชนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 1.9 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเหตุมาจากความอยากรู้อยากลอง รวมถึงการสร้างค่านิยมวัยรุ่นแบบใหม่ในกลุ่มเดียวกัน ทำให้พบนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพ แม้จะมีรายงานว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไปกว่าร้อยละ 95 นั่นเป็นเพียงการประเมินจากผู้เชียวชาญที่ไม่มีการระบุถึงที่มา และยังพบผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับทุนจากบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ด้วย และบางรายงานพบว่ามีอันตรายน้อยกว่า แต่ยังมีอันตรายแม้ใช้น้ำยาที่ไม่มีนิโคติน ซึ่งอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการเสพติดนโคตินที่มีความเข้มข้นกว่าบุหรี่ทั่วไป ซึ่งมีอำนาจเสพติดสูงเทียบเท่าเฮโรอีน สารพิษของบุหรี่ไฟฟ้ามีมากกว่า 250 ชนิด และกว่า 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง และยังมีสารพิษอีกมากที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังศึกษาเกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพ

นพ.สุเทพ กล่าวต่อว่า ประเทศไทย ได้ประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกในการควบคุมยาสูบของประเทศ และเสริมพลังความเข้มแข็งให้กับมาตรการต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันใช้แผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่สอง พ.ศ.2559–2562 โดยสถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทยล่าสุด ปี 2559 พบว่าประชากรตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 54.8 ล้านคน สูบบุหรี่ร้อยละ 19.9 ซึ่งเป้าหมายในการดำเนินงานปี 2560-2564 นี้ ความชุกของการสูบบุหรี่ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปต้องไม่เกินร้อยละ 16 หรือไม่เกิน 8.8 ล้านคน เพื่อให้อัตราการบริโภคยาสูบภาพรวมของประเทศไทยมีสถิติลดลงอย่างต่อเนื่อง

และประกาศกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2557 เรื่อง กำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ซึ่งหากมีผู้ฝ่าฝืนนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามายังประเทศไทย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสินค้าเหล่านั้นรวมถึงพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้านั้นด้วย และคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 ห้ามขาย หรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีโทษสำหรับผู้ขาย ผู้ให้บริการ โดยจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ผลิต ผู้สั่ง ผู้นำเข้าเพื่อขาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในโอกาสนี้ ขอให้เด็กและเยาวชน ตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพเมื่อสูบบุหรี่และผลกระทบต่อสุขภาพของคนรอบข้าง ที่สำคัญต้องรู้เท่าทันกลยุทธ์ของบริษัทผู้ผลิต ที่พุ่งเป้าการตลาดไปที่เด็กและเยาวชน ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ และรูปแบบช่องทางส่งเสริมการขาย รวมทั้งการให้ข้อมูลที่บิดเบือนถึงผลกระทบต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนอยากเลิกบุหรี่ ให้โทรปรึกษาศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หมายเลข 1600 และมีคลินิกที่ให้บริการเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ 02-580 9237 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422