ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯ กรมบัญชีกลาง ให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ตามวิธีที่กำหนด เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและเกิดความคล่องตัวเพิ่มขึ้น

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐได้กำหนดวิธีจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาให้หน่วยงานของรัฐ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุขมีความคล่องตัว ช่วยส่งเสริมการจัดซื้อยาตามบัญชีนวัตกรรมของไทย ส่งผลดีต่อประชาชนให้ได้รับการรักษาที่มีความต่อเนื่อง และเป็นไปตามหลักการของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

สำหรับวิธีการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ให้หน่วยงานของรัฐสามารถจัดซื้อยาตามชื่อสามัญในบัญชียาหลักแห่งชาติตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด โดยใช้เงินงบประมาณจัดซื้อยาดังกล่าวไม่น้อยกว่า 60% รวมทั้งสามารถจัดซื้อยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติหรือเวชภัณฑ์ที่ผลิตออกจำหน่ายโดยองค์การเภสัชกรรมหรือสภากาชาดไทยได้ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ขณะเดียวกัน ยังให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อยาตามชื่อสามัญหรือเวชภัณฑ์ ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยและองค์การเภสัชกรรมหรือสภากาชาดไทยมิได้ผลิตออกจำหน่ายโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ไม่น้อยกว่า 30% ของเงินงบประมาณค่าจัดซื้อยาหรือเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ซึ่งได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยตามบัญชีรายการยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาของหน่วยงานนั้นๆ แล้วแต่กรณี

ในกรณีที่องค์การเภสัชกรรมหรือสภากาชาดไทยมิได้เป็นผู้ผลิตแต่มีจำหน่าย ให้ส่วนราชการจัดซื้อยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยวิธี e-bidding จากผู้ขายรายใดก็ได้ หรือหากจัดซื้อยาโดยวิธีคัดเลือก ให้เชิญชวนองค์การเภสัชกรรมและโรงงานเภสัชกรรมทหารเข้ายื่นข้อเสนอด้วยทุกครั้ง หรือหากอยู่ในเงื่อนไขที่จะจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ให้ซื้อจากผู้ขายรายใดก็ได้ แต่ราคาที่ซื้อต้องไม่สูงกว่าราคากลางที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติหรือกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้

นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมบัญชีกลางได้หารือร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม และโรงพยาบาลราชวิถี เกี่ยวกับกรณีการมอบหมายให้โรงพยาบาลราชวิถีจัดซื้อยากลุ่มพิเศษแทนโรงพยาบาลทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2561 ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการจัดซื้อยากลุ่มพิเศษนี้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างถูกต้อง และทำให้ประชาชนที่ใช้สิทธิภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มั่นใจได้ว่าจะมียาเพียงพอกับความต้องการในการรักษาผู้ป่วย