ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แถลงวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ย้ำจุดยืนพร้อมเป็นอบรมแหล่งความรู้ เป็นต้นแบบการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพให้แก่ประเทศอื่นๆ และเตรียมนำเสนอ Best Practice การขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพในด้านต่างๆในการประชุมใหญ่สมัชชายูเอ็นเดือน ก.ย. ปีหน้านี้

วันที่ 12 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดการแถลงข่าวเนื่องในวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล (UHC Day) พร้อมความคืบหน้าการเตรียมพร้อมของไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติประจำปี 2562 ในหัวข้อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งสหประชาชาติรับรองจากข้อเสนอของกลุ่มนโยบายต่างประเทศและสุขภาพโลก (Foreign Policy and Global Health Initiative: FPGH) ในวาระที่ไทยเป็นประธาน

นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยได้ก่อตั้งมานาน 16 ปี โดยในปี 2560 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกและพยายามผลักดันเรื่องการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยกล่าวในที่ประชุมว่าเพราะประเทศไทยเป็นประเทศยากจน เราจึงมีความจำเป็นต้องสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า จากจุดดังกล่าว นำไปสู่การที่ประเทศต่างๆให้การยอมรับเรื่องหลักการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้มีการกำหนดว่าวันที่ 12 ธ.ค.ของทุกปี เป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล โดยปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งประเทศไทยพร้อมเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นแหล่งศึกษาดูงาน แหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับนานาประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีฐานะใกล้เคียงกันให้มีการสร้างระบบสุขภาพถ้วนหน้าเช่นเดียวกับไทย

นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาประเทศไทยร่วมกับประเทศในกลุ่ม FPGH ได้เสนอข้อมติต่อสมัชชาสหประชาชนกำหนดให้วันที่ 12 ธ.ค. ของทุกปีเป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล เพื่อที่ทุกประเทศทั่วโลกจะได้เห็นความสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ขณะเดียวกัน ในเดือน ก.ย. ปี 2562 จะมีการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งในส่วนที่ไทยสามารถมีบทบาทในการนำเสนอก็มีหลายส่วน ทั้งประเด็นเรื่องแหล่งที่มาของงบประมาณ การบริหารจัดการ ความเป็น Partnership ของฝ่ายต่างๆในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรื่องผู้ปฏิบัติงานที่เป็น Health Champion หรือผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จริงๆที่ให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนตั้งแต่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ไปจนถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมทั้งประเด็นเรื่องการให้หลักประกันว่าคนชายขอบในสังคมสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ ซึ่งจะเห็นว่าประเด็นต่างๆค่อนข้างครอบคลุม

"การทำงานด้านสุขภาพเป็นการทำงานที่ต้องขับเคลื่อนร่วมกันทุกส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุขจะพยายามช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ในเวทีโลก เพื่อนำกลับมาให้เกิดผลสะท้อนในประเทศไทยด้วย ที่ผ่านมาประเทศไทยก็เป็นประเทศที่ได้รับการกล่าวขานถึงในฐานะต้นแบบของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีรายได้ปานกลางแต่สามารถบริการสุขภาพแก่ประชาชนได้ถึง 99.9% และท่านอาจไม่ทราบว่าเราได้จัดศึกษาดูงาน จัดอบรมศึกษาต่างๆให้กับผู้กำหนดนโยบายของต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งจากแอฟริกา ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้นำประเทศต่างๆนำไปทำให้กับประชาชนของตัวเอง" นางกาญจนา กล่าว

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับคนไทยในฐานะที่ชื่อเสียงประเทศไทยได้รับการยอมรับ และแสดงความยินดีที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเปรียบเสมือนต้นไม้ที่ปลูกไว้กำลังโตวันโตคืนและผลิดอกออกผลให้ประชาชนได้ประโยชน์ เป็น Safety net ไม่ให้คนไทยต้องล้มละลายเวลาเจ็บป่วย

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญคือเราจะรักษาต้นไม้ต้นนี้ให้ยั่งยืนต่อไปอย่างไรในอนาคต สิ่งนั้นคือการนำเอาความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้งแล้วอาศัยการทำงานร่วมมือกันในแนวราบระหว่างหน่วยงานต่างๆโดยประโยชน์ประเทศชาติเป็นสำคัญ จะเห็นว่าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกำหนดสิ่งที่เรียกว่านโยบายสาธารณะที่เกิดจากความยอมรับร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขทำในเรื่องการอภิบาลระบบ เรื่องกฎหมาย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)ทำเรื่องวิชาการ สปสช.ทำเรื่องรายบุคคล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำเรื่องสังคม สิ่งเหล่านี้คือการทำนโยบายสาธารณะให้เกิดรูปธรรมจับต้องได้ ทำให้วงจรต่างๆเหล่านี้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และรูปแบบลักษณะนี้จะถูกพัฒนาต่อยอดในปีต่อๆไปเพื่อทำให้คนไทยได้รับสิ่งที่เรียกว่าความมั่นคงทางด้านสุขภาพนั่นเอง