ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ติดตาม ทวงถามความคืบหน้า การปรับตำแหน่ง การบรรจุ ค่าตอบแทน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจของบุคลากรในพื้นที่เสี่ยงภัย เรียกร้องยกเลิกค่าตอบแทน ฉบับที่ 10 ชายแดนใต้ ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก โดยการเบิกจ่ายจำกัดแค่ 4 วิชาชีพเท่านั้น

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 ชมรม ว.16 ชายแดนใต้ตอบแทนคุณแผ่นดิน และสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดยะลา เพื่อติดตามความก้าวหน้าและการบรรจุของบุคลากรสาธารณสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใน 5 ประเด็น ดังนี้

1.ติดตามหนังสือชมรม ว.16 ที่ ชตผ. 1/2561 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2561 ได้ยื่นต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลาได้สำรวจข้อมูลผู้มีคุณสมบัติครบ และส่งต่อข้อมูลให้สำนักงานเขตสุขภาพที่ 12 แล้วนั้น จากการติดตามความคืบหน้า พบว่า ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้าใดๆ เรื่อง ว.16 ชายแดนใต้ จากสำนักงานเขตสุขภาพที่ 12 เลย และไม่มีการคืนข้อมูลดังกล่าวมาให้ชมรมให้รับทราบเลย โดยมีข้อเสนอดังนี้

1.1. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานเขตสุขภาพที่ 12 ดำเนินการปรับตำแหน่ง ว.16 ชายแดนใต้ ที่ยังตกค้างในรอบที่ 2 (กลุ่มเยียวยา) ตามหลักเกณฑ์การบริหารบุคคลชายแดนใต้ซึ่งมีรายชื่อและคุณสมบัติครบพร้อมจะแต่งตั้งตามตำแหน่งแล้ว และให้มีมติจากอกพ.กระทรวงสาธารณสุขเพื่อดำเนินการปรับตำแหน่งตามสิทธิโดยเร็ว

1.2 ขอให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานเขตสุขภาพที่ 12 ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การบริหารบุคคลชายแดนใต้ตามหลักเกณฑ์ ว.16 ในรอบที่ 3 และรอบต่อๆ ไปตามขั้นตอนทุกๆ ปีอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องรอให้ชมรมหรือผู้มีคุณสมบัติครบทวงถาม และควรมีการคืนข้อมูลกลับ และแจ้งให้ชมรมรับทราบความคืบหน้าด้วย

1.3 ขอให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานเขตสุขภาพที่ 12 และผู้เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการบริหารบุคคลชายแดนใต้ตามหลักเกณฑ์ ว.16 ให้ครอบคลุมหน่วยงานสาธารณสุขอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงในจังหวัดชายแดนใต้ (มีบุคลากรที่ยังตกค้างอีก 3 รายสุดท้าย) ศูนย์อนามัยที่12 ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานชายแดนภาคใต้ สถาบันธัญรักษ์ปัตตานี รวมถึงบุคลากรสาธารณสุขในด่านศุลกากรชายแดนใต้ ฯลฯ ให้ได้รับสิทธิบริหารบุคคลชายแดนใต้ตามหลักเกณฑ์ ว.16 เช่นเดียวกับบุคลากรในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

2.ติดตามหนังสือเครือข่ายสหวิชาชีพชายขอบต้องการบรรจุ จังหวัดยะลา ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ที่ยื่นต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดยะลา ในเรื่องการบรรจุของบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน ที่ไม่ได้รับการบรรจุมามากกว่า 10 ปี อีกทั้งยังมีการบรรจุแค่บางวิชาชีพอย่างไม่เป็นธรรม ส่งผลให้เกิดชนชั้นทางวิชาชีพทั้งๆ ที่ทำงานในกระทรวงเดียวกัน

จึงขอให้รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และ ก.พ. พิจารณาการบรรจุบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจต่อบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ต่อไป

3.ติดตามความคืบหน้าการบรรจุของบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ที่สอบขึ้นบัญชี (ว.80) ของสำนักปลัดกระทรวงและกรม กอง ต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข

จึงขอให้ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานเขตสุขภาพที่ 12 ที่มีรายชื่อตาม ว.80 ให้มีการบรรจุตำแหน่งดังกล่าว ก่อนที่บัญชีดังกล่าวจะหมดอายุ เพื่อไม่ให้บุคลากรเสียสิทธิอันพึงมีพึงได้ต่อไป

4.ขอให้รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ติดตามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขให้มีความเป็นธรรม กับทุกสายงาน ทุกวิชาชีพ และทุกหน่วยงาน โดยมีข้อเสนอดังนี้

4.1 ยกเลิกค่าตอบแทน ฉบับที่ 10 ชายแดนใต้ ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก โดยการเบิกจ่ายจำกัดแค่ 4 วิชาชีพเท่านั้น และเบิกจ่ายในอัตรา 1,000 - 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน ส่งผลต่อภาระงบประมาณของหน่วยงาน เพราะใช้เงินบำรุงในการเบิกจ่าย

4.2 ปรับปรุงค่าตอบแทนทุกฉบับในกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นค่าตอบแทนฉบับมหาชน โดยพิจารณาในอัตราที่ไม่เหลื่อมล้ำสูงมากอย่างเช่นปัจจุบัน

ทั้งนี้ค่าตอบแทนปัจจุบัน เฉพาะ ฉบับ 11 บางวิชาชีพได้ต่ำสุด 1,000 บาท แต่บางวิชาชีพกลับได้สูงสุดถึง 60,000 บาท จึงควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของค่าตอบแทนดังกล่าว

อีกทั้งค่าตอบแทนดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมทุกสายงาน (เช่น สายงานสนับสนุนฯลฯ) ไม่ครอบคลุมทุกวิชาชีพ (เช่น จพ.โสตทัศนศึกษา จพ.เวชสถิติ) และไม่ครอบคลุมทุกหน่วยงาในส่วนภูมิภาค เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ฯลฯ จึงส่งผลต่อขวัญกำลังใจในการทำงาน เพราะค่าตอบแทนบางวิชาชีพ มีอัตราที่สูงกว่าเงินเดือนหลายเท่า ในขณะที่บางวิชาชีพ ได้ในอัตราน้อยมาก หรือไม่ได้เลย

5.ขอให้รัฐบาลประสานงานผู้เกี่ยวข้องระดับนโยบายอันได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) คณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการต่อไป พิจารณาแนวทางพิทักษ์ สิทธิ ความก้าวหน้า ค่าตอบแทน และการบรรจุบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เป็นลูกจ้าง พนักงานราชการ พนักงานของรัฐ พนักงานข้าราชการ ในแผนยุทธศาสตร์กระทรวง และยุทธศาสตร์ชาติให้ชัดเจน เป็นธรรม ทัดเทียมกันทุกวิชาชีพ ทั้งนี้ควรให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การบริหารบุคคลชายแดนใต้ ที่มีความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน อย่างเป็นธรรมและมีความต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ดูแลปัญหาสุขภาพของประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ทั้ง 5 ประเด็นนั้น เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย ทั้งในระดับ ปฐมภูมิ เช่นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีขวัญกำลังใจ และแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น