ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีต 2 รัฐมนตรีสาธารณสุขยุค ครม.คสช. 1 ชวนคน สธ.ปลุกวิญญาณความเป็น “กบฏ” สร้างสุขภาพให้พื้นที่ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอ "ส่วนกลาง" อย่างเดียว

แม้จะลาเวทีไปแล้ว แต่ 2 อดีตรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงมีบทบาท วนเวียนอยู่ในวงการสาธารณสุข การประชุม Side Meeting รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2562 ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อดีต รมว.สาธารณสุข และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีต รมช.สาธารณสุข ยุคคณะรัฐมนตรี (ครม.) คสช. 1 หรือ ครม.พล.อ.ประยุทธ์ 1 เป็นส่วนสำคัญในเวที เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ ผ่านหนังสือชื่อ Resilient Health System and UHC หรือ "ความยืดหยุ่น" ในระบบสุขภาพ และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เมื่อครั้งทำหน้าที่เป็น รมต.สธ. เมื่อปี 2557 (ภาพจาก แฟ้มภาพ)

ศ.นพ.รัชตะ บอกว่า ลักษณะพิเศษของระบบสาธารณสุขไทย คือ มีความพร้อมด้าน "โครงสร้างพื้นฐาน" ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลอำเภอ หรือ สถานีอนามัย ของรัฐ ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน หรือตั้งแต่ราวทศวรรษที่ 2520 – 2530 รวมๆ แล้ว "ระบบสุขภาพ" ของไทย ผ่านการปฏิรูปครั้งใหญ่รวมถึง 5 ครั้ง

ครั้งแรกคือการ "ควบรวม" ระหว่างระบบที่ทำหน้าที่ "ป้องกันโรค" และ "รักษาโรค", ครั้งที่สอง คือการ ร่วมกันจัดการ-วางแผนระบบสุขภาพ ระหว่าง "โรงเรียนแพทย์" และ "หน่วยงานที่จัดทำนโยบาย อย่างกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่สาม คือการสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ ระหว่างโรงพยาบาลอำเภอ-สถานีอนามัย ครั้งที่สี่ คือการ เริ่มระบบบริการสุขภาพ "ฟรี" สำหรับกลุ่มชนพื้นเมือง-คนชายขอบ และสุดท้าย คือการดึงภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม

แม้ประเทศไทยจะประสบวิกฤตเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง" เมื่อปี 2540 ที่ทำให้ภาคธุรกิจและการลงทุนภาครัฐพังพาบ แต่ระบบสาธารณสุขไทยยังคงอยู่ได้ และยังแข็งแรง อีกไม่ถึง 5 ปีถัดมา ปี 2545 ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็เกิดขึ้น โดยอาศัยพื้นฐานโครงสร้างที่ "ยืดหยุ่น" ทั่วประเทศ และเพิ่มความยืดหยุ่นเข้าไปอีก ผ่านเจตจำนงทางการเมือง ความตั้งใจของข้าราชการหัวกะทิ และความร่วมมือของภาคประชาชน

และในเวลาต่อมา การปกครองส่วนท้องถิ่น ก็มีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างความยืดหยุ่น ให้ระบบสุขภาพสามารถเดินหน้าได้ ประเทศไทยที่มี "รายได้ปานกลาง-ต่ำ" จึงสามารถตั้งไข่ "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" หรือ "30 บาทรักษาทุกโรค" ได้ตั้งแต่เมื่อ 17 ปีก่อน

อดีต รมว.สาธารณสุข บอกอีกว่า ความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพ ได้ทำให้คนไทยกว่า 48 ล้านคน สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านความยืดหยุ่น ที่มีในระบบสุขภาพ และด้วยความแตกต่าง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของโรงพยาบาลในระบบ ที่แตกต่างจากระบบรัฐราชการทั่วไป ที่ต้องรอ "หัว" สั่ง "หาง" ถึงจะทำตาม แต่โรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขหลายแห่ง เลือกจะเดินด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอ ปลัดกระทรวง-อธิบดี หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นผู้สั่งการเพียงอย่างเดียว

สุดา ขำนุรักษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลกงหรา จ.พัทลุง บอกว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ปัญหาสำคัญของโรงพยาบาลก็คือ การทำงานไม่เป็นระบบ ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่าง เบาหวาน ความดัน ล้นโรงพยาบาล และดูจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับตัวเลขของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ปัจจุบันประเทศไทยมีมากกว่า 14 ล้านคน และเสียชีวิตถึงปีละมากกว่า 3 แสนคน

สุดา จึงเริ่มต้นเขียนโครงการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบองก์รวมร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ ส่งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลร่วมกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ตั้งแถวปูพรม ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านเพื่อตรวจหาผู้ป่วย ว่าขาดยา หรือได้รับการรักษาที่เหมาะสมกับอาการเบาหวาน-ความดันโลหิตสูงหรือไม่ เช่นเดียวกับการตรวจหาผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปี ตรวจหากลุ่มเสี่ยงที่จะป่วย และหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละชุมชน

ขณะเดียวกัน ก็สร้างกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน โดยเริ่มจากการบอกให้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกงหรา ซึ่งขณะนั้น หนักประมาณ 100 กิโลกรัม ลดน้ำหนักให้เหลือ 80กิโลกรัม เพราะหาก ผอ.โรงพยาบาลลดน้ำหนักไม่ได้ ชาวบ้านก็ไม่มีใครเชื่อว่าโรงพยาบาลจะทำได้จริง หลังจากชวน ผอ.โรงพยาบาลลดน้ำหนักได้แล้ว สุดาก็เริ่มหาสำรวจผู้ป่วยแต่ละคนว่ามีพฤติกรรมอย่างไร และต้องติดตามอย่างไร เพื่อให้จำนวนผู้ป่วยโรค NCD ลดในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของโรคเบาหวาน-ความดัน-ไต ก็คือ ต้องมีการติดตามต่อเนื่อง และมีเครื่องมือคอยตรวจวัดสม่ำเสมอ ลำพังโรงพยาบาลอำเภอทำงานเพียงหน่วยงานเดียว ไม่มีทางที่จะมีเครื่องมือตรวจน้ำตาลในเลือด เครื่องวัดความดัน หรือสถานที่ล้างไตสำหรับผู้ป่วย สุดาจึงไปจับมือกับทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น-เอกชน หรือแม้แต่ชมรมแม่บ้านทหารบกในพื้นที่ เพื่อจัดหาทั้งเครื่องวัดความดัน สถานที่ล้างไตเรื่อยไปจนถึงการรับเงินบริจาค 1.3 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ผลลัพธ์ก็คือผู้ป่วยทั้งเบาหวาน-ไต-ความดันโลหิตสูงลดลง และลดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ขณะที่โมเดลของสุดา ก็ขยายไปยังเขตสุขภาพ และจังหวัดข้างเคียง ส่วนผลตรวจความดัน ตรวจน้ำตาล หรือแม้แต่ชาวบ้านที่รอบเอวเกิน-น้ำหนักเกิน ก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เป็นหนึ่งในความยืดหยุ่นของระบบสุขภาพ ที่คนในพื้นที่ได้ประโยชน์จริงๆ

ขณะที่ พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล แพทย์โรงพยาบาลครบุรี จ.นครราชสีมา ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้ "ความยืดหยุ่น" ในระบบสุขภาพ มาแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในพื้นที่ จากเดิมที่ผู้ป่วยต้องมารอคิวตั้งแต่ตี 3 - หมอต้องรีบรักษาเพราะหากใช้เวลานานเกินไปจะถูกกดดัน และถูก "เคาะห้อง" จากพยาบาล ว่ายังเหลือคิวอีกมาก

แน่นอน ส่วนใหญ่เป็นโรคไต – เบาหวาน - ความดันโลหิตสูง ซึ่งลุกลามในภาคอีสานเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ เริ่มจากการเปลี่ยนกรอบคิดว่า "การรักษา" ต้องอยู่ภายในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่คือการนำการรักษาลงไปพื้นที่ โรงพยาบาลครบุรีแบ่งโซนตามตำบลในพื้นที่ จัดทีมร่วมกับ รพ.สต. ลงไป 5 ทีม เพื่อเข้าหาผู้ป่วย และสร้างเครือข่ายผู้ป่วย ให้เป็น "กลุ่มตำบล" เพื่อให้จัดคิวกันเอง ว่าใครมีความจำเป็นต้องรักษาก่อน-หลัง เช่น หากใครมีภาระต้องเข้าเมือง หรือมีงาน ก็ให้ผู้ที่มีความจำเป็นรักษาก่อน เพื่อลดความขัดแย้ง ไม่ต้องแย่งคิว ไม่ต้องรอคิวนานเหมือนก่อน

หากคนไข้มีอาการใกล้เคียงกัน ก็สามารถ "จัดกลุ่ม" เข้ามารักษาพร้อมกัน และให้คนไข้สามารถติดต่อ-ปรึกษา และอัพเดทอาการของโรคภัยไข้เจ็บได้ตลอดเวลา ปลายทางก็คือทำให้การรักษาทุกครั้ง "มีความหมาย" สำหรับผู้ป่วยและทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรสาธารณสุข หรือผู้ป่วย ต่างก็ "มีความสุข"

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ บอกว่า ตัวอย่างทั้ง 2 ทำให้เห็นว่าคนในระบบสุขภาพของไทยจำนวนหนึ่งมีนวัตกรรม มีแนวคิดที่อยากเห็นระบบมีความก้าวหน้า ไม่ต้องรอสั่งการจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกัน ระบบสุขภาพยังมีฐานวิชาการที่เข้มแข็ง มีนักวิชาการจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วม ซ้ำยังมีเครือข่ายต่างประเทศช่วยแก้ปัญหาทั้งเฉพาะหน้า และปัญหาระยะยาว

อย่างไรก็ตาม อดีต รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ไทยยังอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และยังอยู่ท่ามกลางหลายระบบอื่นๆ ที่ "แย่"

"ถ้ารอแต่ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ ไม่รอด หรือถ้าพวกข้าราชการทำตัวไม่รู้ไม่ชี้ หรือรอเจ้านายมาสั่ง มันก็คงไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ระบบมีบุคลากรที่ก้าวหน้า และล้วนมีวิญญาณความเป็นกบฏอยู่ในตัวเอง จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้" นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญ คือการรักษาจุดแข็งในความยืดหยุ่นของระบบนี้ไว้ และขยายวงจิตวิญญาณกบฏต่อไปให้คนรุ่นหลัง