ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผย สถานพยาบาลได้รับผลกระทบเหตุแผ่นดินไหวรวม 22 แห่ง แจงแค่ร้าว ไม่กระทบโครงสร้าง ห่วง สถานพยาบาล 745 แห่ง บนพื้นที่ 16 รอยเลื่อน เสี่ยงเกิดปัญหาในอนาคต สั่งสำรวจก่อนของบปรับปรุงอาคาร-ที่พักเก่า 20 ปี ให้มีโครงสร้างรับเหตุ ยันอาคารสร้างใหม่ปี 2542 ไร้กังวลชี้ปรับโครงสร้างรับสถานการณ์แล้ว แต่ต้องทำ 5 ส. หวั่นเกิดการเขย่าอาจทำของหล่น

เมือวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมคณะได้มีการประชุมทางไกลร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศลาวเมื่อวันที่ 21 พ.ย. ซึ่งส่งผลกระทบกับสถานพยาบาลในประเทศไทย

นพ.สุขุม กล่าวว่า จากการตรวจสอบความเสียหายเบื้องต้นพบว่ามีสถานพยาบาลที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวราวๆ 22 แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ในจำนวนนี้ เป็น รพ. 12 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล 5 แห่ง และ Primary care unit หรือ PCU 4 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นเป็นเพียงร้อยร้าวที่ไม่ได้มีผลกระทบกับโครงสร้างอาคารแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามขอให้เฝ้าระวังเตรียมแผนการอพยพผู้ป่วยด้วยเพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องอาฟเตอร์ช็อค โดยเฉพาะรอยเลื่อนปัว

นพ.สุขุม กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจากการสำรวจพบว่า 16 รอยเลื่อน และมี 22 จังหวัด 119 อำเภอ โดยมีสถานบริการสาธารณสุขเสี่ยงทั้งหมด 745 แห่ง จึงขอมอบหมายให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ร่วมกับ นพ.สสจ. และวิศวกรจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพร่วมกันสำรวจอาคารและสิ่งก่อสร้าง ว่ามีที่ไหนบ้างที่ต้องแก้ไขปรับปรุง เพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหว โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีอายุ 20 ปีขึ้น ซึ่งรวมไปถึงบ้านพักบุคลากรด้วย แล้วจะมีการของบประมาณเพิ่ม ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นใหม่นั้นเรียนว่าตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมาเราได้มีการออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวแล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ยังได้กำชับให้มีการทำ 5 ส. อย่างสม่ำเสมอ อย่าให้มีขยะ หรือสิ่งกีดขวางทางเดิน เพราะถึงแม้อาคารรองรับแผ่นดินไหวได้ แต่เมื่อเกิดการเขย่าก็เสี่ยงจะมีสิ่งของตกมากระทบ จนเกิดอันตรายได้

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมทีมแพทย์ฉุกเฉิน ทีมสอบสวนควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็ว ทีมฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดเตรียมระดับการให้บริการสุขภาพ ทั้งออกซิเจน ไฟฟ้าและไฟฟ้าสำรอง เตรียมแผนการอพยพผู้ป่วยและบุคลากรไปยังพื้นที่ปลอดภัย ทั้งนี้ขอให้มีการซักซ้อมแผนการรับมือสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้จากเอกสารประกอบการประชุม พบว่าสถานพยาบาล 22 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ประเทศลาวเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ประกอบด้วย รพ. 12 แห่ง คือ รพ.เชียงคำ, รพ.เลย, รพ.สมเด็จพระยุพราชเด่นชัย, รพ.สันติสุข, รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว, รพ.บ่อเกลือ, รพ.เฉลิมพระเกียรติ, รพ.ทุ่งช้าง, รพ.ราชพฤกษ์ จ.ขอนแก่น, รพ.กรุงเทพขอนแก่น, รพ.อุตรดิตถ์, รพ.เวียงสา จ.น่าน ส่วนสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) 1 แห่ง คือ สสอ.บ่อเกลือ จ.น่าน นอกจากนี้ยังมี รพ.สต. 5 แห่งที่ได้รับผลกระทบ คือ รพ.สต.ดงพญา จ.น่าน, รพ.สต.บ่อเกลือเหนือ จ.น่าน, รพ.สต.บ้านละจุก จ.น่าน และ รพ.สต.เรือง จ.น่าน ขณะที่ PCU 4 แห่ง คือ PCU บ้านกิ่วจันทร์, สุขศาลาพระราชทาน โรงเรียน ต.ช.ด.น่าน, สุขศาลาบ้านห้วยปูด จ.น่าน และ PCU บ้านสบมาง จ.น่าน