ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาการสาธารณสุขชุมชน เสนอ 4 แนวทางสนับสนุนมาตรการของรัฐบาลและขอรับการสนับสนุนวัสดุเวชภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อใช้ในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในระดับพื้นที่

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 นายไพศาล บางชวด นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสนอแนวทางเพื่อสนับสนุนมาตรการเข้มข้นของรัฐบาลเพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในระดับพื้นที่ ดังต่อไปนี้

1) ให้รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข อสม. รวมถึงข้าราชการเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่ดำเนินงานเชิงรุกด้านระบาดวิทยา ฯลฯ ดังนี้

1.1 สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการดำเนินงานเชิงรุกด้านระบาดวิทยา ฯลฯ ได้แก่ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้อินฟราเรด อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ชุดตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในระดับพื้นที่ (หมู่บ้าน ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด ให้เพียงพอโดยจัดลำดับความสำคัญ ดังต่อไปนี้

รายการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขทางระบาดวิทยา ฯลฯ

1.2 ให้ความคุ้มครองประกันวินาศภัยกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกวิชาชีพทุกรายที่ปฏิบัติงานเชิงรุกด้านระบาดวิทยา ฯลฯ อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงข้าราชการ เจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

2.ให้รัฐบาล คณะกรรมการการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาทบทวนนโยบายการลดขนาดอัตรากำลังคนด้านการแพทย์และสาธารณสุขของภาครัฐใหม่ (กรณีการบรรจุเข้ารับราชการ หรือการกำหนดความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ) โดยคำนึงถึงบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

3.ให้รัฐบาล คณะกรรมการการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาทบทวน ปรับปรุง กฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ นิยาม ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานการคุ้มครองสิทธิ และสิทธิประโยชน์ ตลอดจนขวัญกำลังใจในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้สอดคล้องเป็นไปตามกฎหมายแต่ละวิชาชีพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

4. ให้รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนและวิชาชีพอื่นที่ปฏิบัติงานเชิงรุกในพื้นที่ร่วมกัน โดยให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือ แนะนำ ให้คำปรึกษา สื่อสาร เผยแพร่ และให้การศึกษาเกี่ยวกับนโยบาย สถานการณ์โรคที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่อย่างถูกต้อง เพื่อลดปัญหาข่าวเท็จ (Fake News)