ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

CPTPP ที่เป็นกระแสร้อนแรงเวลานี้คืออะไร? เราจะตอบคำถามนี้ภายหลัง

แต่ก่อนอื่นจะพาไปดูภาพรวมการบริหารจัดการด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ดูแลสวัสดิการสุขภาพคนไทยประมาณ 48 ล้านคน ในส่วนยาบัญชี จ.(2) ตั้งแต่ปี 2553-2561 มีผู้ป่วยเข้าถึงยาในบัญชีนี้ 101,000 ราย และตั้งแต่ปี 2555-2561 ผู้ป่วยที่เข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษมีจำนวน 32,098 ราย การบริหารจัดการยานี้เองภาครัฐจึงประหยัดงบประมาณค่ายา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553-2560 ถึง 44,430.84 ล้านบาท

การบริหารจัดการยาอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในระบบสุขภาพ ดังนั้น ปัจจัยใดที่จะทำให้สิ่งนี้อ่อนแอลง ระบบสุขภาพย่อมเลี่ยงผลกระทบไม่ได้

CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership แปลเป็นไทยว่า ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ก็คือข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าและบริการฉบับหนึ่งที่เกิดขึ้นจาก TPP (Trans-Pacific Partnership) หรือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาก็ประกาศถอนตัวออกจาก TPP 11 ประเทศที่เหลือจึงตัดสินใจเดินหน้าต่อเป็น CPTPP

CPTPP ไม่ต่างจาก TPP หรือข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-สหรัฐ และไทย-อียู ในแง่ที่ว่า เนื้อหามุ่งสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจให้แก่ประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ประเทศไทยแม้จะได้ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ แต่ผลกระทบในด้านอื่นๆ กลับหนักหนาสาหัสจนได้ไม่คุ้มเสีย

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ พยายามผลักดันให้ไทยเข้าร่วมข้อตกลงฉบับนี้ และเตรียมให้กระทรวงพาณิชย์เสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา แต่ด้วยกระแสคัดค้านจากภาคสังคมและอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำให้จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ทำหนังสือถอนวาระออกไป และย้ำว่าจะไม่เสนออีก ถ้ายังไม่เห็นไปในแนวทางเดียวกัน

Hfocus สนทนากับ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch เกี่ยวกับเรื่องนี้

“ถ้าถามจุดยืนของ FTA Watch และเครือข่ายพันธมิตร ไม่เอา ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไรก็ตาม ถ้ามีไส้ในแบบนี้ ไม่เอา”

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

พื้นที่กำหนดนโยบายสาธารณะของไทยจะหดแคบลง

กรรณิการ์ เริ่มต้นอธิบายว่า CPTPP จะทำให้พื้นที่การกำหนดนโยบายสาธารณะของไทยหดแคบลง ยกตัวอย่างเช่นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถ้ารัฐมีความจำเป็นต้องปิดประเทศ จำกัดการเข้า-ออก จำกัดการส่งออก หรืออาจจำเป็นต้องประการศมาตรการบังคับใช้สิทธิหรือซีแอล (Compulsory Licensing: CL) นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนเหล่านี้จะถูกจำกัดลง เพราะรัฐจะถูกฟ้องจากกลไกคุ้มครองนักลงทุน ซึ่งใน CPTPP ไม่เพียงให้การคุ้มครองกับการเข้ามาลงทุนโดยตรง แต่ยังคุ้มครองไปถึงการลงทุนใน portfolio และก่อนหน้าที่จะมาลงทุน

ในส่วนเนื้อหาของข้อตกลงก็มีหลายประเด็นที่กระทบต่อระบบสุขภาพของไทย

“อย่างการยกเลิกสิทธิพิเศษของรัฐวิสาหกิจ ในมุมหนึ่งรัฐวิสาหกิจอาจทำการแข่งขันเชิงธุรกิจ แต่มีรัฐวิสาหกิจอีกจำนวนหนึ่งที่มีพันธกิจที่ต้องทำเพื่อสังคม เช่น กรณีองค์การเภสัชกรรม ข้อกำหนดใน CPTPP ทำให้ไม่สามารถดำเนินภารกิจเชิงสังคมในการรองรับนโยบายด้านยา เวชภัณฑ์ และวัคซีนที่จำเป็นต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศได้อย่างเต็มที่ เหมือนเป็นการตัดแขนขาของรัฐวิสาหกิจ ตรงนี้ประเทศได้รับผลกระทบแน่”

ไม่เพียงเท่านั้น กรรณิการ์ยังเห็นว่า CPTPP จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาของไทยอย่างใหญ่หลวง เพราะไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ด้านราคายาจากการลดภาษีศุลกากรแหล่งวัตถุดิบยาที่อยู่นอกประเทศสมาชิก CPTPP และสิทธิพิเศษของอุตสาหกรรมสัญชาติไทยลดลงอย่างมาก การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต้องเปิดตลาดให้อุตสาหกรรมจากประเทศสมาชิกเข้ามาแข่งขันอย่างเท่าเทียม นโยบายบัญชีนวัตกรรมไทย รวมถึงระเบียบและกฎกระทรวงของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศย่อมไม่สามารถทำได้ ความมั่นคงทางยาของประเทศจะได้รับผลกระทบ

“ขณะที่การผลิตและจำหน่ายยาชื่อสามัญจะยากขึ้น เพราะไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ จนกว่าจะหมดสิทธิบัตร ทั้งกระบวนการอุทธรณ์กันไปมาระหว่างบริษัทยาชื่อสามัญกับบริษัทยาต้นแบบก็จะยิ่งทำให้ยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาดได้ช้าลง”

เพิ่มผลประโยชน์ให้ ‘สิทธิบัตรยา’ สิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องการมาตลอด

“ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อ้างว่า CPTPP ยังยืนยันสิทธิของประเทศสมาชิกในการประกาศซีแอลเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยาของประชาชนได้ในทุกกรณี ตามที่องค์การการค้าโลกกำหนดให้ทำได้ถือเป็นการพูดความจริงไม่ครบ ซึ่งก็เท่ากับโกหกประชาชน

“เพราะถ้าอ่านความตกลง CPTPP แค่มาตรา 18.6 และ 18.41 อาจเป็นเหมือนที่กรมเจรจาฯ อ้าง แต่ความตกลงการค้าและการลงทุนในลักษณะ comprehensive agreement ต้องอ่านอีกหลายมาตราประกอบกัน ซึ่งในมาตรา 1.2 ที่ระบุว่าไม่กระทบสิทธิที่ประเทศภาคีมีอยู่ตามข้อตกลงอื่น แต่กลับให้ข้อนี้อยู่ภายใต้มาตรา 28 ที่เกี่ยวกับการพิพาท หมายความว่าถึงจะดูเหมือนยังมีสิทธิตามข้อตกลงอื่น แต่ถ้ามีคู่กรณีไม่เห็นด้วยกับการใข้สิทธิก็สามารถเอาเรื่องเข้ากระบวนการระงับข้อพิพาทได้ พูดง่ายๆ ก็คือนักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องรัฐได้ ถามว่าถ้าเกิดความจำเป็นต้องประกาศซีแอลจะมีรัฐมนตรีคนไหนกล้าทำ เหมือนครั้งที่หมอมงคล ณ สงขลาทำ เพราะตอนนั้นไม่มีกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศอนุญาตให้เอกชนฟ้องรัฐได้”

อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องการเพิ่มสิทธิประโยชน์มาโดยตลอด ซึ่งแม้ว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวออกไปแล้ว CPTPP ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยจากเรื่องนี้ เนื่องจากใน CPTPP ระบุเรื่องการเชื่อมโยงระบบการขึ้นทะเบียนยากับระบบสิทธิบัตรเข้าด้วยกัน (patent linkage)

กรรณิการ์ อธิบายว่า ในกฎหมายไทยปัจจุบัน การขึ้นทะเบียนยาและการรับจดสิทธิบัตรเป็น 2 สิ่งที่แยกขาดจากกันและมีกระทรวงที่รับผิดชอบต่างกัน การขึ้นทะเบียนยาเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของยาก่อนอนุญาตให้มีการจำหน่ายในประเทศ เป็นการบังคับบริษัทยาที่ต้องการขายยาในไทยต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ ขณะที่การรับจดสิทธิบัตรเป็นอำนาจหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่จะพิจารณาให้หรือไม่ให้ความคุ้มครองการผูกขาดตลาดให้กับผู้ยื่นคำขอฯ ตามเกณฑ์ด้านสิทธิบัตร แต่ไม่ได้เป็นการบังคัง จะยื่นหรือไม่ก็ได้

ทว่า เมื่อ CPTPP นำ 2 เรี่องนี้มาโยงกัน เจ้าหน้าที่ อย. ก็จำเป็นต้องตรวจสอบว่ายาชื่อสามัญที่ขอขึ้นทะเบียนยามีสิทธิบัตรด้วยหรือไม่ แม้ใน CPTPP จะระบุทางเลือกไว้ 2 ทางคือ หนึ่ง-อย. ต้องแจ้งให้ผู้ทรงสิทธิบัตรทราบว่ามีบริษัทยาอื่นมาขอขึ้นทะเบียนยาตัวเดียวกันกับของผู้ทรงสิทธิฯ โดย อย. จะยังไม่รับขึ้นทะเบียนหรือให้มีระยะเวลานานพอ จนกว่าผู้ทรงสิทธิฯ จะดำเนินการทางศาลหรือทางปกครองเพื่อจัดการการละเมิดสิทธิบัตรให้มีการเยียวยาหรือการชดเชยก่อน สอง-ประเทศสมาชิกต้องจัดให้มีกระบวนการอื่นแทนศาลเพื่อป้องกันไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนยาให้บุคคลอื่นโดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตร

“ผลคือเมื่อยาชื่อสามัญไม่สามารถเข้าแข่งขันในตลาดได้ ยาต้นแบบก็จะผูกขาดตลาดได้นานขึ้นเกินกว่า 20 ปี แม้ว่าสิทธิบัตรจะหมดอายุไปแล้ว และโดยปกติแล้ว บริษัทยาอื่นจะเริ่มยื่นขอขึ้นทะเบียนยากับ อย. หนึ่งหรือสองปีล่วงหน้าก่อนสิทธิบัตรยาต้นแบบจหมดอายุก็จะทำไม่ได้และต้องเสียเวลารออีก เพราะข้อกำหนดที่ว่า มันอาจทำให้บริษัทยาอื่นเลิกสนใจจะวางจำหน่ายยาของตัวเองในไทย เท่ากับเป็นการทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญภายในประเทศและจะไม่มีบริษัทยาชื่อสามัญจากประเทศอื่นสนใจมาขายยาในประเทศไทย”

นอกจากนี้ ยังเท่ากับเป็นการใช้ทรัพยากรของประเทศเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทเอกชน แทนที่ อย. จะให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของยาเพียงอย่างเดียว และเช่นกัน เรื่องนี้ก็กระทบกับการประกาศซีแอล เนื่องจากยาที่ประกาศซีแอลก็ต้องผ่านการตรวจสอบรับรองคุณภาพและความปลอดภัยจาก อย.

เครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ เครื่องมือทำลายอุตสาหกรรมยาในประเทศ

อีกเรื่องที่สำคัญคือมาตรการชายแดน (Border Measure) และการเอาผิดกับบุคคลอื่นเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ฟังดูเหมือนไม่เกี่ยวอะไรกับประเด็นสิทธิบัตร ถึงกระนั้นก็อาจกระทบต่อการเข้าถึงยาได้

กรรณิการ์ กล่าวถึงมาตรการชายแดนว่าเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรในการจับยึดสินค้าที่ส่งมาถึงแล้วและที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง เพียงแค่ ‘สงสัย’ ว่าจะละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ซึ่งถือว่าขัดกับความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่รวมถึงสินค้าระหว่างการขนส่ง ส่วนการเอาผิดกับบุคคลอื่น ผู้ทรงสิทธิจะสามารถเอาผิดกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายได้ กรณีที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ บุคคลอื่นในที่นี้อาจรวมถึงเจ้าของสถานที่ที่ปล่อยให้มีสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์นอกจากบุคคลอื่นในตลอดห่วงโซ่อุปทาน

“ใน CPTPP ไม่ได้หมายความแค่เครื่องหมายการค้าที่ปลอมแปลง แต่ยังรวมถึงเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและไม่ได้ตั้งใจที่จะละเมิดด้วย เพราะธุรกิจยาชื่อยี่ห้อยาอาจคล้ายคลึงกันได้โดยไม่ได้ตั้งใจ โดยส่วนมากบริษัทยามักจะตั้งชื่อให้พ้องกับชื่อตัวยาสำคัญ ส่วนฉลากยาที่ระบุรายละเอียดของยาและวิธีการใช้ยาที่มากับบรรจุภัณฑ์ก็อาจถูกถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทลิขสิทธิ์ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและฉลากยาอาจถูกใช้เป็นสาเหตุในการเอาผิดได้”

ประเด็นนี้ก็เหมือนกับการขึ้นทะเบียนยาและการรับจดสิทธิบัตรที่นำมาปะปนกันทั้งที่ต้องแยกออกจากกัน ซึ่งเรื่องเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ที่กล่าวข้างต้นเป็นสิ่งเดียวกับที่สหรัฐฯ ต้องการในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับไทยในอดีต

“ผลที่ตามมาคืออุตสาหกรรมยาชื่อสามัญจะไม่กล้าเสี่ยงลงทุน ผลิต และจำหน่าย เพื่อแข่งขันกับยาต้นแบบ เพราะอาจไม่คุ้มกับการถูกจับยึดระหว่างการขนส่งและถูกเอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญา รวมถึงบุคคลอื่นในห่วงโซ่อุปทานและโรงพยาบาลก็เสี่ยงถูกฟ้องด้วย แน่นอนที่สุดว่าสุดท้ายผลกระทบจะตกกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงยาชื่อสามัญในราคาถูกได้ ระบบหลักประกันสุขภาพก็ต้องแบกภาระต้นทุนยาต้นแบบราคาแพง”

การแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพ

ยังมีประเด็นที่กล่าวถึงกันไม่มาก แต่ปรากฏอยู่ในข้อห่วงกังวลของกระทรวงสาธารณสุขที่เคยนำเสนอต่อตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ แต่ถูกโต้กลับมาว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ใช่จักรวาล คือเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น สมุนไพร ยา วัคซีน ชีววัตถุ ซึ่งล้วนเกี่ยวกับความมั่นคงทางยาของประเทศไทย รองประธาน FTA Watch กล่าวว่า

“อย่างประเด็นเรื่องแหล่งวัตถุดิบ เพราะ CPTPP บังคับเข้าร่วมอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ซึ่งจะให้ความคุ้มครองสิทธิ์และประโยชน์ต่อนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ แต่ไม่คุ้มครองชุมชนต้นทางของสายพันธุ์นั้นๆ ซึ่งในมาตรา 18.37 para 4 เขียนว่า ไม่ให้สิทธิบัตรพันธุ์พืช แต่ให้ inventions that are derived from plants นี่คือสิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการมากที่สุด และพยายามมาตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) แต่ทำไม่ได้ เพราะการทักท้วงของภาคประชาสังคมทำให้มีการทำจดหมายข้างเคียง (side Letter) ไม่ให้จดสิทธิบัตรในสารสกัดจากพืช แต่เราก็ยังเห็นในคำขอสิทธิบัตรกัญชา กระท่อม และสมุนไพรยาอื่นๆ ดังนั้น CPTPP คือช่องที่นักวิจัยนักลงทุนญี่ปุ่นจะเจาะเข้ามา แม้จะถูกระงับไว้เมื่อสหรัฐฯออกไปจากความตกลง แต่ไม่ได้ถูกตัดออกไปเลย เนื้อหานี้พร้อมจะกลับมาทุกเมื่อ

“โดยใน CPTPP ยังเขียนอีกว่าไทยต้องเปิดให้ต่างชาติทำธุรกิจบริการด้านการวิจัยและพัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรชีวภาพของไทยและศึกษาทดลอง โดยไม่สามารถบังคับให้บริษัทเหล่านั้นถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้การลงทุนได้ ซึ่งจะกระทบต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วย”

ความไม่จริงใจของกระทรวงพาณิชย์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและนักธุรกิจทุนผูกขาfในประเทศไทยที่สนับสนุนการเข้า CPTPP อ้างว่า นี่เป็นเพียงการขอเข้าเจรจา ยังไม่ได้เข้าจริง ทำไมต้องออกมาคัดค้านกันมากมาย รองประธานีเอฟทีเอว็อทช์ ชี้ว่า จริงอยู่ในหนังสือที่ พณ 0604/95 ที่กระทรวงพาณิชย์ส่งไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องการขอเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทย ในข้อ 5.7 ระบุด้วยว่า ...เพื่อไม่ให้กระทบประชาชและให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด ซึ่งหากผลการเจรจาไม่เป็นที่พอใจหรือเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ ไทยก็ยังสามารถพิจารณาที่จะไม่เข้าร่วมได้ โดยผลของการเจรจาต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนให้สัตยาบัน ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่...

แต่ถ้ากลับไปดูรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 178 วรรค 2 ระบุว่า หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภา พิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภา ‘ให้ความเห็นชอบ’

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีบทบัญญัติให้รัฐบาลต้องเปิดเผยรายละเอียดให้ประชาชนทราบ แค่ให้มีการแสดงความเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นเท่านั้น

แต่ที่ 2 ในข้อ 7 ที่เป็นข้อเสนอของส่วนราชการ ข้อ 7.3 เขียนไว้ว่า กระทรวงพาณิชย์เห็นควรให้คณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการปรับตัวรองรับการเข้าร่วมความตกลง CPTPP รวมถึงการปรับนโยบายและแก้ไขกฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเตรียมมาตรการหรือกลไกช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า

ข้อความดังกล่าวดูจะขัดกับ ‘ไทยก็ยังสามารถพิจารณาที่จะไม่เข้าร่วมได้’ เพราะทั้งที่ยังไม่มีการพิจารณาว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ กระทรวงพาณิชย์กลับมีแผนปรับเปลี่ยนกฎหมายและนโยบายส่งถึงมือคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว กรรณิการ์ กล่าวว่านี่เป็นการแสดงความไม่จริงใจของกระทรวงพาณิชย์

“เราจะค้านจนกว่าจะหยุดเจรจา CPTPP รวมทั้งข้อตกลงการค้าเสรีในลักษณะเดียวกันที่มีการสอดไส้ UPOV 1991 ทริปส์พลัส และกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนเอกชนกับรัฐหรือ ISDS เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นแพ็คเกจที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของคนไทยและพื้นที่นโยบายสาธารณะ”

สัมภาษณ์/เรียบเรียง : กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล 

ขอบคุณภาพจาก Facebook FTA Watch และ SDG Move TH

เรื่องที่เกี่ยวข้อง