ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.ร่วม บก.ปคบ. บุกจับร้าน “หมอยาสัตว์” พบขายยาควบคุมพิเศษสำหรับสัตว์ไม่มีใบสั่งแพทย์ ไม่มีทะเบียน ทั้งยากินยาฉีด ยาฆ่าเชื้อ กลุ่มฮอร์โมนสำหรับไก่ เตือนการใช้ยาสำหรับสัตว์อย่างไม่ถูกต้อง ทำให้สัตว์เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

วันที่ 3 ก.ค. ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)  โดยพลตำรวจโท เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ฯลฯ ร่วมกันแถลงผลการทลายแหล่งลักลอบผลิตยาสัตว์เถื่อนโดยไม่ได้รับอนุญาต  

นพ.ไพศาล กล่าวว่า จากที่เป็นข่าวกรณีชายไปวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในเทศบาลนนทบุรี โพสต์เตือนภัย ว่าตนเองถูกเจาะขวดน้ำดื่มเพื่อวางยา อย. ได้ประสาน บก.ปคบ.ให้ทำการสืบสวนและตรวจสอบข้อมูล พบว่าเพจเฟซบุ๊กชื่อ “DR.VET ฟาร์ม เซ็นเตอร์” ได้โพสต์โฆษณาขายยาผิดกฎหมาย ซึ่งมีทั้งยาเอ็กซ์-ลาซีน (X-LAZINE) ซึ่งเป็นยาสำหรับสัตว์และเป็นยาประเภทยาควบคุมพิเศษ ซึ่งหากจะขายได้ต้องมีใบสั่งยาจากสัตวแพทย์เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาขายยาสัตว์อีกหลายรายการ ทั้งที่มีทะเบียนตำรับยาและไม่มีทะเบียนตำรับ จึงได้ขอหมายเข้าตรวจค้น บ้านเลขที่ 112 หมู่ที่ 21 ตำบลห้วยขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าสถานที่ดังกล่าวได้รับอนุญาต ขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ ในชื่อร้าน “หมอยาสัตว์” โดยเมื่อเวลา 11.50 น.ของวานนี้ (2 กค.63) เจ้าหน้าที่ได้ทำการขอซื้อยา

ผลปรากฏว่าทางร้านฯ ได้ขายยา เอ็กซ์-ลาซีน (X-LAZINE) เลขทะเบียน 1 D 17/51 ซึ่งเป็นยาควบคุมพิเศษสำหรับสัตว์ โดยไม่มีใบสั่งแพทย์ และเป็นการขายนอกเวลาทำการตามใบอนุญาตฯ ทั้งนี้เวลาทำการตามใบอนุญาตฯของร้านหมอยาสัตว์ คือช่วงเวลา 17.30 -20.30 น. นอกจากนี้เมื่อตรวจค้นขยายผลเพิ่มเติม พบการลักลอบผลิตยาสัตว์ไม่มีทะเบียนหลายรายการ เช่น

1. กลุ่มยาฉีดและยากิน ฉลากไม่แสดงทะเบียนตำรับยา ระบุสรรพคุณเป็นยาฉีดป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ สำหรับสุนัขและแมว รักษาขี้เรื้อนเปียก ขี้เรื้อนแห้ง กำจัดเห็บหมัด และไรในหู กำจัดและควบคุมพยาธิตัวกลมในกระเพาะลำไส้ กำจัดและควบคุมพยาธิปอด ฯลฯ

2. กลุ่มยาฆ่าเชื้อ ทั้งยาฉีดและยากิน ฉลากไม่แสดงทะเบียนตำรับยา  ทั้งสรรพคุณรักษาท้องร่วง ลำไส้อักเสบ ปอดบวม โพรงจมูกอักเสบ  ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ทั้งแกรมบวกและแกรมลบ ฯลฯ

3. กลุ่มยาฮอร์โมนสำหรับไก่ ฉลากไม่แสดงทะเบียนตำรับยา  

เจ้าหน้าที่ได้ยึดยาไม่มีทะเบียนตำรับ พร้อมยึดอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด จำนวนรวมกว่า 100 รายการ และตั้งประเด็นความผิดที่พบตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ดังนี้

1.กรณีพบการลักลอบตั้งโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือโรงงานเถื่อน มีความผิดดังนี้

1.1) ผลิตยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนมาตรา 12 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

1.2) ผลิตและขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ฝ่าฝืนมาตรา 72(4) โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.กรณีพบการโฆษณาขายยาทางสื่อออนไลน์ มีความผิดฐานโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุมัติข้อความ เสียง หรือภาพจากผู้อนุญาต ฝ่าฝืนมาตรา 88 ทวิ โทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

3.กรณีพบการขายยา เอ็กซ์-ลาซีน (X-LAZINE) เลขทะเบียน 1 D 17/51 ซึ่งเป็นยาควบคุมพิเศษสำหรับสัตว์ โดยไม่มีใบสั่งแพทย์ และเป็นการขายนอกเวลาทำการตามใบอนุญาตฯ ผู้รับอนุญาตมีความผิดดังนี้

(1) ขายยานอกเวลาทำการ ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ของร้านฯ มีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฝ่าฝืนมาตรา 26(7) โทษปรับตั้งแต่ 2,000 บาท - 10,000 บาท

(2) ขายยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ฝ่าฝืนมาตรา 32 โทษปรับตั้งแต่ 1,000 บาท - 5,000 บาท

และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ มีความผิดดังนี้

(1) ไม่ควบคุมการทำบัญชีการซื้อและขายยา ฝ่าฝืนมาตรา 42(5) โทษปรับตั้งแต่1,000 บาท - 5,000 บาท

(2) ไม่ควบคุมให้ขายยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ที่เป็นยาควบคุมพิเศษเฉพาะตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง มีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฝ่าฝืนมาตรา 42 (6) ) โทษปรับตั้งแต่ 1,000 บาท - 5,000 บาท

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า หากมีการใช้ยาสำหรับสัตว์อย่างไม่ถูกต้องโดยไม่ได้ปรึกษาสัตว์แพทย์ อาจทำให้สัตว์นั้นได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ ยกตัวอย่างเช่น ยารักษาโรคพยาธิหัวใจในสัตว์ ยาไอเวอร์เมคติน (Ivermactin) หากมีการใช้ในปริมาณสูง จะมีอันตรายต่อสุนัขบางสายพันธุ์ หรือกลุ่มยาคุมสำหรับสัตว์หากใช้ระยะเวลานานจะมีผลทำให้มดลูกในสัตว์อักเสบ หรือกลุ่มยาฆ่าเชื้อหากมีการใช้ไม่ถูกขนาดหรือระยะเวลาที่ใช้ไม่เหมาะสม อาจทำให้สัตว์นั้นเกิดการดื้อยาหรือเกิดผลตกค้างในสัตว์ได้ นอกจากนี้ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น มีพิษต่อตับ ไต ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท รวมถึงระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้

ภญ.สุภัทรา กล่าวอีกว่า จึงขอเตือนมายังผู้ผลิตและขายยาสำหรับสัตว์ อย่าได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นลักลอบผลิตโดยไม่ได้ขออนุญาต หรือการขายยาสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตัวสัตว์ ขอให้คำนึงไว้เสมอว่า สัตว์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญในการใช้ยาเพื่อรักษาหรือป้องกันโรคด้วย โดยเลือกใช้ยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายจาก อย. ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลของสัตว์แพทย์ และหากเป็นกลุ่มยาควบคุมพิเศษ ก็ต้องมีใบสั่งยาจากสัตว์แพทย์ชั้นหนึ่งจึงจะสามารถซื้อขายยาดังกล่าวได้