ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาฯ อย.เผยล่าสุดยื่นขออนุญาตปลูกกัญชง 18 ราย รวมพื้นที่ประมาณ 900 ไร่ มีทั้งเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการภาคเอกชน ย้ำยังเป็นเพียงยื่นขออนุญาตปลูก แต่ยังไม่มีการอนุมัติให้กับรายใด

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ พร้อมด้วย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือส่งเสริมกัญชงเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ประเทศไทย

นพ.ธงชัย กล่าวว่า กระแสปลูกกัญชงเป็นที่สนใจกับประชาชนและเกษตรกรอย่างมาก ซึ่งการอนุญาตหรือปรับปรุงกฎหมายจะมีหลายหน่วยงานประกอบกัน ทั้งจากกระทรวงเกษตรฯ สภาวิชาชีพในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่มีหน้าที่พิจารณาการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ การอนุญาตเพื่อใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งสนับสนุนให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพรวม ทั้งการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชงและพืชสมุนไพรในทางการแพทย์เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ประชาชน

นพ.ธงชัย กล่าวว่า สธ.ได้เร่งดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลโดยมีนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์และกัญชงเพื่อเศรษฐกิจ โดยมีความห่วงใยเกษตรกร เกรงว่าการมีกระแสปลูกกัญชงปรากฏในสื่อต่างๆ จะมีผู้ไม่หวังดีไปชักจูงหรือหลอกลวงเกษตรกร หลอกขายเมล็ดพันธุ์กัญชง หรือหลอกว่าจะช่วยในการขออนุญาตปลูกกัญชงให้ จึงขอเน้นย้ำสำหรับเกษตรกรผู้ที่ต้องการปลูกกัญชง ว่า กัญชงยังจัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษ ที่ต้องขออนุญาตในการปลูกก่อน

"ทั้ง 2 กระทรวงได้บันทึกความร่วมมือในการพัฒนาสายพันธุ์และดูแลเกษตรกรเพื่อให้สามารถนำพืชกัญชงไปเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่และดูแลไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ผิด ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจในการขออนุญาตปลูกและนำเข้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องที่สุด รัฐบาลเป็นห่วงเกษตรกร โดยเฉพาะรายย่อย ดังนั้น เกษตรกรจะปลูกจะต้องศึกษาให้ดี หากมีผู้ใดเข้ามาหาเกษตรกร บอกว่ามีเมล็ดพันธุ์พร้อมขาย และมาดำเนินการเรื่องการปลูกให้ อำนวยการขึ้นทะเบียนปลูกให้ ท่านอย่าหลงเชื่อ ขอให้ติดต่อไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ) ปรึกษาเกษตรจังหวัด หรือวิชาการเกษตรว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ และที่สำคัญคือการขออนุญาตปลูกจะต้องดำเนินการด้วยตนเองเท่านั้น" นพ.ธงชัย กล่าว

นพ.ไพศาล กล่าวว่า เราสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชงได้ทุกส่วน ทั้งต้นน้ำ ขณะนี้เกษตรกร ภาคประชาชน เอกชนหรือภาคธุรกิจ สามารถขออนุญาตปลูกได้แล้ว ตามวัตถุประสงค์ เช่น ทางการแพทย์ การวิจัยหรืออุตสาหกรรม ส่วนกลางน้ำ ผู้ประกอบการสามารถขออนุญาตตั้งโรงสกัดน้ำมันกัญชงได้ ที่ สสจ. ซึ่งเป็นการขออนุญาตแปรรูปผลิตภัณฑ์ และ ปลายน้ำ คือ การนำส่วนของเปลือก ลำต้น ที่ส่วนใหญ่ใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม วัสดุก่อสร้าง เสื้อเกราะ ช่อดอกนำมาสกัดให้ได้สารสำคัญ CBD เพื่อใช้ในทางการแพทย์ เครื่องสำอาง อาหารสมุนไพร ส่วนเมล็ดและน้ำมันจากกัญชงใช้แปรรูปผลิตอาหารและเครื่องสำอางได้ ซึ่งจะมีกฎหมายดูแลอยู่ เช่น เครื่องสำอาง ก็จะมีพระราชบัญญัติ(พรบ.) เครื่องสำอางดูแลควบคุมอยู่ อย่างไรก็ตาม วันนี้บุคคลทั่วไป หน่วยงานภาครัฐ เอกชนสามารถปลูกได้ ส่วนการขออนุญาตปลูกหากอยู่ในกรุงเทพมหานคร(กทม.) จะต้องยื่นมาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และถ้าอยู่ต่างจังหวัดก็สามารถยื่นได้ที่สจจ. ทุกจังหวัด 

นพ.ไพศาล กล่าวว่า เมื่อมีการขออนุญาตปลูกกัญชง ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการประเมินร่วมกับภาคเกษตรในพื้นที่ เพื่อประเมินพื้นที่ ดูภูมิอากาศ ดูเนื้อที่ว่าเป็นอย่างไร อุณหภูมิเป็นอย่างไร เหมาะสมกับการปลูกหรือไม่ และเน้นย้ำว่า พื้นที่ปลูกจะต้องมีหลักฐานกรรมสิทธิ์การครอบครอง มีโฉนดที่ดิน สัญญาเช่าที่ดินให้ถูกต้อง ดังนั้น เกษตรกรเดี่ยว ก็สามารถขออนุญาตได้หรือจะเป็นวิสาหกิจชุมชนก็ย่อมได้ โดยตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค. ที่มีประกาศกฎกระทรวงฯ อนุญาตการปลูกกัญชง พบว่า มีผู้เข้ามายื่นขออนุญาตปลูกกัญชงแล้วทั้งสิ้น 18 ราย รวมพื้นที่ประมาณ 900 ไร่ มีทั้งเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการภาคเอกชน ทั้งนี้ ยังเป็นเพียงยื่นขออนุญาตปลูก แต่ยังไม่มีการอนุมัติให้กับรายใด

 

ด้าน นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร มีสิ่งที่กังวล คือ ความเสี่ยงของเกษตรกรและผู้ปลูก เราเข้ามาก็คือจะดูแลตั้งแต่เรื่องที่ 1 สายพันธุ์กัญชง ช่วงแรกจะมีการประเมินผู้ขออนุญาตปลูก เพื่อประเมินความเสี่ยงในการปลูก เพราะแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีผลผลิตที่ต่างกัน เช่น สายพันธุ์ที่ให้เรื่องเส้นใย ช่อดอกที่มีสาร CBD อีกส่วนหนึ่งคือหลังจากได้รับอนุญาตแล้วในช่วงปลูกเราจะส่งวิชาการเข้าไปแนะนำส่งเสริมดูแลเพื่อให้ถูกต้องตามวิชาการ เรื่องที่ 2 การรับรองสายพันธุ์ที่เหมาะ ขณะนี้มีสายพันธุ์กัญชง 4 สายพันธุ์ จากสำนักงานวิจัยพัฒนาเกษตรที่สูง ซึ่งให้ผลผลิตด้านเส้นใย แต่ในส่วนเมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเป็นน้ำมันยังไม่มีใครมาขอขึ้นทะเบียน แสดงให้เห็นว่าในบ้านเราสายพันธุ์ต่างๆ ที่นิ่งแล้วจะมีเฉพาะเรื่องเส้นใยเป็นส่วนใหญ่ เรื่องที่ 3 ระบบการปลูก เพื่อให้มีความเหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่ ให้ได้มาซึ่งสารสำคัญที่มีคุณภาพ โดยดารปลูกจะมี 3 ระบบ คือ ระบบโรงเรือนปิด ที่ต้องการสารสำคัญ CBD ระบบกรีนเฮ้าส์ และที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด คือ ระบบเปิดสามารถปลูกได้ตามไร่นา ดังนั้นเราจะต้องหาพันธุ์ที่เหมาะหาหลักวิชาการที่เหมาะเพื่อให้เกษตรกรปลูกได้โดยที่ต้นทุนไม่สูง

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งคือการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ เพื่อทำน้ำมันและสาร CBD เราจะเข้ามาดูแลในเรื่องของการทดสอบคุณภาพมาตรฐาน และจะเปิดบริการสำหรับผู้ประกอบการและเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเมล็ดพันธุ์ต่างประเทศ ความสมบูรณ์ของเมล็ดพันธุ์ ควบคู่กับการวิจัยสายพันธุ์ เนื่องจากสายพันธุ์กัญชงที่นำเข้าจากต่างประเทศก็จะมีความเหมาะสมในการปลูกของแต่ละสภาพภูมิประเทศที่ต่างกันออกไป ดังนั้นหากนำมาใช้ทันทีจะเกิดความเสี่ยงต่อเกษตรกร ทางกรมฯ ที่มีศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอยู่ทั่วประเทศ เราจะนำเมล็ดพันธุ์เหล่านี้มาทำการวิจัยเพื่อปรับให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของประเทศไทยให้เกษตรกรไทยได้พันธุ์ที่เหมาะสมในการปลูก

"อีกส่วนหนึ่งคือการขยายพันธุ์โดยเราจะจับมือกับสหกรณ์การเกษตรหลายแห่งที่มีความพร้อม โดยเราจะทำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้และสหกรณ์การเกษตร ก็จะนำไปขยายเป็นต้นกล้าพร้อมจำหน่ายให้เกษตรกร" นายพิเชษฐ์ กล่าว