ศบค. ชุดเล็กไม่เห็นชอบข้อเสนอกระทรวงสาธารณสุขข ยกระดับมาตรการปรับระดับสีตามพื้นที่เสี่ยงโควิด แต่มอบ สธ.และมหาดไทยหารือร่วมจังหวัดปรับมาตรการอย่างอิสระ โดยคกก.โรคติตต่อจังหวัดมีอำนาจสั่งปิดและเปิดสถานบริการ ร้านอาหาร หากพบการกระทำเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ย้ำไม่ใช้ยาแรงปิดทั้งประเทศ
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก กรมควบคุมโรคและ กทม.นำเสนอตัวเลขกรณีการติดเชื้อในสถานบันเทิง โดยตัวเลขสรุปวันที่ 22 มี.ค. - 6 เม.ย. พบผู้ติดเชื้อตัวเลข 291 ราย ได้แก่ กทม. 200 ราย ชลบุรี 12 ราย สมุทรปราการ 18 ราย สุพรรณบุรี 14 ราย นนทบุรี 13 ราย นครปฐม 7 ราย ปทุมธานี 5 ราย เชียงใหม่ 2 ราย ชุมพร 2 ราย สมุทรสาคร 2 ราย เลย ตาก กาญจนบุรี ตาก ลพบุรี และสระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย จะเห็นว่าจาก กทม.และปริมณฑล เริ่มกระจายไปทางเหนือ ใต้ และบางส่วนของภาคอีสาน นอกจากนี้ ที่ประชุมรายงานเพิ่มเติมว่า ยโสธร เพชรบูรณ์ และเชียงราย ทีมสอบสวนโรคพบว่ายังเชื่อมโยงสถานบันเทิง กทม.ด้วยเช่นกัน ขอให้ติดตามการรายงานของ กทม.และ สธ.ในช่วงบ่าย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอปรับระดับสีพื้นที่ของ สธ.นั้น ศบค.ชุดเล็กพิจารณาแล้วยังไม่ให้มีกาปรับมาตรการระดับพื้นที่สี แต่ขอให้ใช้มาตรการที่มีอยู่เดิม คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 ที่ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 กระทรวงมหาดไทย (มท.) มีอำนาจร่วมกันพิจารณาประเมินกำหนดพื้นที่สถานการณ์เพิ่มเติม คือ ให้ สธ. และ มท.หารือกันเพื่อสามารถปรับพื้นที่ปรับสีปรับมาตรการใดๆ ได้อย่างอิสระ และฉบับที่ 18 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่การดำเนินการของเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ให้เป็นไปตามแนวทางมาตรการป้องกันโรค หากพบการกระทำที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม มีอำนาจกำหนดช่วงเวลาให้แก้ไขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรค หรือเสนอให้ปิดชั่วคราว และผู้ว่าฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สามารถพิจารณาปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในระดับพื้นที่เขตรับผิดชอบ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานกาณ์การระบาดโควิด 19 ในห้วงเวลาต่างๆ
"ศบค.ชุดเล็กให้กลับไปที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีอยู่แล้ว มอบอำนาจ สธ. และมท. หารือร่วมกันทำงานร่วมกับพื้นที่ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าฯ กทม. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. พิจารณาการจัดการแต่ละพื้นที่ลงรายละเอียดไปถึงขั้นแต่ละอำเภอ พื้นที่เห็นอย่างไร ดำเนินการอย่างไร ขณะที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ระบุว่า ผู้ว่าฯ โดยความเห็นชอบคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีอำนาจในการสั่งปิดสถานที่จำหน่ายอาหารเครื่องดื่มต่างๆ ชั่วคราว มีอำนาจสั่งเปิดกรณีสถานบริการนั้นๆ ทำได้ตามมาตรการที่พื้นที่กำหนด" พญ.อภิสมัยกล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า พื้นที่ทำหน้าที่นี้เป็นกลไกหลักแต่ละพื้นที่ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น เชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อในสถานบันเทิง 2 ราย คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่มีการประชุมทบทวนมาตรการ ออกมติคำสั่งปิดสถานบริการ 2 แห่ง ถนนนิมมานฯ 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 6-19 เม.ย. เช่นเดียวกับที่ชลบุรี หลังจากพบผู้ติดเชื้อ 23 ราย ซึ่ง 17 รายมีการรายงานมาจากสถานบันเทิงทองหล่อ สสจ.ชลบุรีออกประกาศขอความร่วมมือชาวชลบุรีไปสถานบันเทิง กทม.และปริมณฑล ให้ตรวจหาเชื้อโดยด่วน พนักงานสถานบันเทิงศรีราชา และบางละมุงไปตรวจหาเชื้อทุกราย หรือ กทม. มีการออกคำสั่งปิดสถานบันเทิงชั่วคราว 3 เขต คือ วัฒนา คลองเตย และบางแค ช่วงวันที่ 6-19 เม.ย. และจะเพิ่มความเข้มข้นการกำกับดูแล ความถี่การตรวจตราดูในโซนที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นเรื่องของพื้นที่เข้าไปดูปัญหา สอบสวนโรค จะรู้ปัญหาและมีความเข้าใจพื้นที่ได้ดีที่สุด ออกมาตรการกำหนดที่มาจากพื้นที่ มีประสิทธิภาพสูงสุด
(ข่าวเกี่ยวข้อง : โควิดล่าสุดพุ่งสูง 334 ราย กทม.สูงสุด 216 ราย เชื่อมโยงคลัสเตอร์ผับบาร์)
"ศบค.มีมาตรการออกเป็นกว้างๆ หากพบผู้ติดเชื้อในสถานบันเทิงแห่งเดียว เสนอให้ปิดสถานประกอบการนั้นๆ ถ้าพบติดเชื้อหลายแห่งในพื้นที่ใกล้เคียงกันเป็นโซน พื้นที่จะพิจารณาปิดพื้นที่ทั้งโซน สถานประกอบการบริเวณเดียวกันก็ปิดทั้งบริเวณ หากพบแพร่หลายพื้นที่ หลายโซน ผู้ว่าฯ ร่วมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ อาจพิจารณาให้ปิดชั่วคราวในส่วนสถานบริการทั้งจังหวัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เป็นต้น ขอให้ติดตามการรายงานของจังหวัดพื้นที่ การที่เราเรียกว่าจะใช้ยาแรงปิดหมดทั้งประเทศ อาจไม่ถือว่ามีประสิทธิภาพ พื้นที่ที่เข้าใจพื้นที่และปัญหา ตรวจสอบด้วยตัวเองจะกำหนดมาตรการได้ดีที่สุด" พญ.อภิสมัยกล่าว
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า กทม.รายงานคัดกรองเชิงรุกสถานบันเทิง 6 พันกว่าราย ขอความร่วมมือใครไปใช้บริการสถานบันเทิง กทม.ให้ไปที่เว็บไซต์ bkkcovid19 เพื่อประเมินว่าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำหรือไม่ หากเสี่ยงสูงจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไปทันที และขอความร่วมมือประชาชนที่อาจมีโอกาสเข้าไปในสถานที่เสี่ยง ครอบครัวมีประวัติสัมผัสสถานบันเทิงที่ กทม.ปริมณฑล ขอให้ไปตรวจเชื้อ หากผลยังไม่ออกหรือเป็นลบครั้งที่ 1 ขอให้กักตัวด้วย
ส่วนการข้ามพื้นที่จังหวัด พื้นที่มีอำนาจกำหนดมาตรการที่เหมาะสมที่สุด ดังนั้น หากจะวางแผนไปจังหวัดใด ให้ศึกษาข้อกำหนดมาตรการจังหวัดนั้นๆ บางจังหวัดมีมาตรการให้ผู้เดินทางพื้นที่เสี่ยง 5 จังหวัด กทม.และปริมณฑล กักตัว 14 วัน เป็นต้น ขอให้ฟังประกาศพื้นที่เป็นหลัก ผู้ว่าฯและ คณะกรรมการโรคตติดต่อจังหวัดจะถือว่ามีอำนาจสูงสุดในการจัดการสถานการณ์ในพื้นที่
"เทศกาลสงกรานต์หากไม่จำเป็นอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติอีกครั้ง หากเดินทางพกหน้ากากสำหรับตัวเอง หรือเผื่อ 2-3 ชิ้นสำหรับคนรอบข้าง เข้าชุมชนถ้าสวมหน้ากากทั้งคนปกติและคนิตดเชื้อจะลดอัตราติดเชื้อ 90% การระมัดระวังส่วนตัว เว้นระยะห่าง ล้างมือยังจำเป็น หลายท่านถามเข้ามารายงานสถานการณ์ระบาดตัวเลขสูงขึ้น เกิดความลังเล ถ้าจำเป็นเดินทางก็เดินทางได้ แต่ต้องมาตรการป้องกันตัวสูงสุด เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ข้ามพื้นที่ฟังมาตรการจังหวัดอย่างใกล้ชิด อสม.อาจเหนื่อยหน่อย ใครมาจากพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ต้องดูแล จังหวัดโดยผู้ว่า และคณะกรรมการโรคติดต่อ ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเฝ้าระวังเชิงรุก อย่าง กทม. ตำรวจ ศปม. เพิ่มมาตการตรวจสถานบันเทิง ร้านอาหาร สถานบริการต่างๆ อย่างเข้มงวดช่วงนี้ ขอให้ประชาชนที่อาจไปใช้บริการร้านอาหารช่วงนี้ระมัดระวังให้ความร่วมมือมาตรการในพื้นที่ หากมีปัจจัยเสี่ยงรีบไปตรวจรพ.ใกล้บ้าน" พญ.อภิสมัยกล่าว
- 7 views