ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.จุฬาลงกรณ์ ร่วมกับสภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมวิชาการ MIS.S.Transgender ส่งต่อความรู้ประสบการณ์ของการเป็น LGBTQ+ ในสังคมไทย พร้อมเตรียมจัดตั้งคลินิกสุขภาพเพศ เพื่อดูแลบุคคลข้ามเพศอย่างครบวงจร

วันนี้ ( 1 ธันวาคม 2564) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา จัดประชุมวิชาการ MIS.S.Transgender  พร้อมเปิดมุมมองและประสบการณ์ของการเป็น LGBTQ+ ในสังคมไทย โดย ดีเจเอกกี้ เอกชัย เอื้อสังคมเศรษฐ์, แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ และ เกรซ นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ ผ่านทาง Facebook Live สดเพจคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย เพื่อส่งต่อความรู้ด้านการวิจัยและการดูแลรักษาในกลุ่ม Transgender (ทรานเจนเดอร์) หรือ กลุ่มคนข้ามเพศ และประเมินความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจแบบครบวงจร ก่อนที่จะทำการทรานเจนเดอร์

รศ.นพ.ธีระ วัชรปรีชานนท์ หัวหน้าฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม และให้การยอมรับความหลากหลายของเพศ หรือกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น แต่ความรู้ในการดูแลกลุ่มบุคคลเหล่านี้ยังมีข้อจำกัด ดังนั้นจึงได้จัดตั้งคลินิกเฉพาะทางเพื่อดูแลบุคคลข้ามเพศแบบครบวงจรนี้ขึ้นมา ซึ่งก็คือ คลินิกสุขภาพเพศ (Gender Health Clinic)  โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สหสาขาคอยให้คำปรึกษา แนะนำแนวทางต่าง ๆ  ควบคู่การดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ

รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวเสริมว่า จากสถิติของผู้เข้ารับบริการคลินิกสุขภาพเพศ รพ.จุฬาฯ ในช่วงระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมาตั้งเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2561 พบว่า มีผู้มารับบริการจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยเปิดกว้างและยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ทำให้มีผู้คนกล้าที่จะแสดงตัวตนทางเพศเพิ่มมากขึ้นไปด้วย แต่ขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาเรื่องความรู้ ความเข้าใจการเทคฮอร์โมนเพศ มีความต้องการคำปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนหรือข้ามเพศ การเปลี่ยนแปลงของวัยโดยเฉพาะในวัยเจริญพันธุ์ รวมไปถึงวัยหมดระดูอยู่เป็นจำนวนมาก

ดังนั้นการจัดตั้งคลินิกสุขภาพเพศนี้จึงถือว่าเป็นการให้โอกาสทางสังคมแก่กลุ่มคนข้ามเพศหรือ LGBTQ+ ได้เข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมและเหมาะสมเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ชั้น 7 อาคาร ภปร เปิดทำการทุกวันจันทร์เวลา 13.00 - 16.00 น.

การบริการของคลินิกจะมีตั้งแต่คลินิกศัลยกรรมเพื่อการข้ามเพศ คลินิกสุขภาพวัยรุ่น คลินิกคนข้ามเพศ พร้อมกันนี้มีบริการตรวจประเมินโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแก่ผู้รับบริการที่ต้องการใช้ฮอร์โมนผ่าตัดเปลี่ยนเพศ ผู้ที่มีปัญหาทางเพศหรือปัญหาสุขภาพจิตอีกด้วย เรียกได้ว่า ครอบคลุมทุกความต้องการที่หลากหลายของผู้เข้ารับบริการทุกเพศและทุกวัยอย่างแท้จริง

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่า แพทย์ในปัจจุบันนอกจากจะต้องเก่งแล้ว ควรต้องมีความเข้าอกเข้าใจผู้ใช้บริการควบคู่ไปด้วย นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้จัดตั้งคลินิกสุขภาพเพศขึ้นมา เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพของบุคคลข้ามเพศรวมทั้งผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศให้สามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้อย่างครบวงจร

ทั้งยังอยู่ภายใต้การดูแลจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาวิชา ทั้งสูติ-นรีแพทย์ อายุรแพทย์ ศัลยกรรมตกแต่ง ศัลยกรรรมทั่วไป กุมารแพทย์ และจิตแพทย์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งความรู้สำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์และเป็นศูนย์รวมด้านวิจัยในหลายแขนง เพื่อหาคำตอบสำหรับคำถามที่ยังมีอีกมากมายของ LGBTQ+ เพื่อตอบโจทย์สังคมในอนาคตได้อีกด้วย