ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกประกาศมอบรางวัลระดับโลกแก่บุคลากรสาธารณสุขไทย 2 ท่าน " ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ" จากการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และ  "นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข"   การคัดกรองเบาหวานเข้าจอประสาทตา

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2565 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก สมัยที่ 150 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 ประเทศไทยโดยกองการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมการแพทย์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการเสนอชื่อบุคลากรสาธารณสุขไทยเพื่อเข้ารับการพิจารณารางวัลระดับโลก 2 ท่าน ได้แก่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health  และนพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ในรางวัล Sasakawa Health Prize 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลกได้พิจารณาและประกาศรับรองให้ทั้ง 2 ท่านได้รับรางวัลดังกล่าว เนื่องจาก ศ.นพ.ประกิต วาธีสาธกกิจ เป็นผู้ที่มีคุณูปการโดดเด่นต่อวงการสาธารณสุข ได้ผันตัวเองมาทำงานในภาคประชาสังคมในการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มีผลงานเชิงประจักษ์เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาประเทศ 

ขณะที่ นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข เป็นจักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคจอประสาทตา ที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาตาบอดในประเทศไทย โดยเฉพาะภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา ซึ่งเคยเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดลำดับที่ 2 ของประเทศ โดยพัฒนาวิธีการคัดกรองด้วยการใช้ภาพถ่ายจอประสาทตา และริเริ่มโครงการฝึกอบรมบุคลากรที่ไม่ใช่จักษุแพทย์ให้สามารถคัดกรองผู้ป่วยโรคจอประสาทตาได้ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนจักษุแพทย์ จนนำไปสู่นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานเข้าจอประสาทตาทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังเพิ่มการเข้าถึงยารักษาเบาหวานเข้าจอประสาทตา ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่ตาบอดอันเนื่องมาจากภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตาลดลงอย่างมาก

นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข

ทั้งนี้ จะมีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 ในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 มอบให้กับบุคคล สถาบัน และองค์กรภาครัฐหรือเอกชนที่มีคุณูปการด้านสาธารณสุขอย่างโดดเด่น มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการขยายขอบเขตการทำงานด้านสาธารณสุขให้สามารถดำเนินงานได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนรางวัล Sasakawa Health Prize ก่อตั้งขึ้นในปี 2527 ตามความคิดริเริ่มและด้วยทุนสนับสนุนจากมูลนิธิอุตสาหกรรมการต่อเรือแห่งประเทศญี่ปุ่น และมูลนิธิ Sasakawa Memorial Health Foundation มอบให้กับบุคคล หรือสถาบัน หรือ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการทำงานด้านนวัตกรรมที่โดดเด่นในการพัฒนาบริการปฐมภูมิ