ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.พร้อมโครงการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ลงพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 เยี่ยมชมการดำเนินงานอนามัยแม่และเด็ก หนองคาย-อุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบศึกษาดูงานด้านหลักประกันสุขภาพสำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้โครงการ “GLO+UHC” เผยแพร่องค์ความรู้พัฒนางานด้านการดูแลสุขภาพแบบถ้วนหน้า

ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 8 อุดรธานี พร้อมด้วย ดร.ทาคุมะ คาโตะ ผู้เชี่ยวชาญ หัวหน้าที่ปรึกษาโครงการ The Partnership Project for Global Health and Universal Health Coverage (GLO+UHC) ร่วมลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการและการจัดบริการระบบการดูแลกลุ่มมารดา ทารก และวัยเด็ก ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลหนองสองห้อง จ.หนองคาย.และโรงพยาบาลกุมภวาปี จ.อุดรธานี 

ทพ.กวี กล่าวว่า พื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 ทั้ง จ.อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียง จะถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่เรียนรู้นานาชาติในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) กับ สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ของประเทศไทย ในชื่อโครงการ GLO+UHC ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระบบการดูแลประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ

สำหรับโครงการดังกล่าวจะมุ่มเน้นไปที่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่หน่วยบริการปฐมภูมิ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงบทบาทขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการ โดยเฉพาะงานอนามัยแม่และเด็ก การพัฒนาเด็กเล็ก การดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็ก (Day care Center)

“ภายใต้ความร่วมมือนี้ ไทยและญี่ปุ่นจะร่วมกันพัฒนาพื้นที่ให้พร้อมที่จะเป็นพื้นที่จัดอบรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่ต้องการศึกษาดูงานด้านประกันสุขภาพ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญระดับพื้นที่ให้มีความพร้อม และสามารถเป็นที่ปรึกษา หรือไปร่วมปฏิบัติงานยังประเทศที่ต้องการองค์ความรู้ และการพัฒนาเชิงนโยบายจากประสบการณ์การดำเนินงานจริง” ทพ.กวี กล่าว

ขณะที่ ดร.ทาคุมะ กล่าวว่า โครงการ GLO+UHC ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 แล้ว ขณะนี้อยู่ในการดำเนินการระยะที่ 2 ซึ่งมีกรอบการดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2563 - 10 ธ.ค. 2566  โดยมีเป้าหมาย 3 ข้อ ได้แก่ 1. เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

2. นำองค์ความรู้ดังกล่าวช่วยพัฒนาศักยภาพของประเทศอื่นๆ ที่ต้องการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 3. เผยแพร่องค์ความรู้ด้านแนวคิดพลวัตรสุขภาพโลก และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยและญี่ปุ่นสู่นานาชาติ

ดร.ทาคุมะ กล่าวต่อไปว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ไทยและญี่ปุ่นจะจัดอบรมและวงแลกเปลี่ยนประสบการณ์พัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไปรับรองประเทศที่ต้องการศึกษางานด้านสุขภาพ โดยการส่งผู้เชี่ยวชาญจากไทยและญี่ปุ่นไปยังประเทศที่ต้องการองค์ความรู้ รวมทั้งการส่งตัวแทนจากทุกภาคส่วนในภาคสาธารณสุขไทยไปฝึกอบรมที่ญี่ปุ่น เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อการทำงานผลักดันเชิงนโยบายในอนาคต

น.ส.จิชาดา กิตติตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลหนองสองห้อง ต.ค่ายบกหวาน อ.เมือง จ.หนองคาย กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ ทต.หนองสองห้อง ได้เปิดรับดูแลเด็กเล็กภายในพื้นที่ตำบลและบริเวณใกล้เคียงเข้ามาดูแล ช่วยส่งเสริมทักษะและการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามบริบทของช่วงวัย โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ใช้งบประมาณของท้องถิ่น และได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. ผ่านโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กเล็ก เช่น อาหารกลางวัน การดูแลสุขภาพช่องปาก การเจริญเติบโตของเด็กแรกเกิด เป็นต้น

“การดูแลเด็กของเราได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะเราเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีครูที่คอยติดตามเอาใจใส่เด็กเป็นรายบุคคล เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน และแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรายงานว่าสุขภาพร่างกายหรือพัฒนาการของเด็กเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร หรือจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อทำให้เด็กมีการพัฒนาที่ดีขึ้นได้บ้าง” น.ส.จิชาดา กล่าว

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ เอกพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุมภวาปี จ.อุดรธานี กล่าวว่า สำหรับทิศทางนโยบายด้านแม่และเด็กของ รพ.กุมภวาปี ได้รับบทบาทในการเป็นหน่วยบริการแม่ข่ายดูแลครรภ์เสี่ยงในโซนลุ่มน้ำปาว และมีสูตินรีแพทย์ที่ออกบริการไปยังโรงพยาบาลลูกข่าย สนับสนุนด้านวิชาการ ด้านการพัฒนาสมรรถนะบุคลากร พร้อมร่วมนิเทศติดตามคุณภาพบริการงานอนามัยแม่และเด็กร่วมกับคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็ก (MCH Board) ระดับจังหวัด

“งานแม่และเด็กของ รพ.กุมภวาปี จึงมีทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากร พัฒนาเครือข่าย รพช. รพ.สต. พร้อมดูแลร่วมกับทีมสหสาขาเฝ้าระวังในชุมชน ส่งต่อข้อมูล เยี่ยมบ้านหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงและหลังคลอด จึงเป็นความภูมิใจของ รพ.กุมภวาปี ที่ได้ผ่านการประเมินมาตรฐานงานอนามัยแม่และเด็ก การรับรองเครือข่ายบริการสุขภาพระดับจังหวัด (PNC) ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานทั้งในระดับ รพ.สต. โรงพยาบาล รวมถึงเป็นแหล่งฝึกงานของแพทย์และนักศึกษาพยาบาลอีกด้วย” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

 

 

สอ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org