ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากไม่นับเรื่องแซนด์บ็อกซ์และเทสต์แอนด์โก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพคงเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงและมีอิทธิพลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ด้วยงบการลงทุนกว่า 5,116 ล้านบาท โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ที่มุ่งหวังจะยกระดับเมืองให้เป็นศูนย์สุขภาพระดับโลก

Hfocus มีโอกาสได้พูดคุยกับ รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เพื่ออธิบายว่าศูนย์สุขภาพแห่งนี้จะมีอะไรบ้างและจะยกระดับเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อย่างไร

รศ.ดร.พันธ์ เริ่มต้นด้วยการเล่าว่า โครงการนี้เป็นนโยบายของสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ต้องการขับเคลื่อนการทำงานในอนาคตให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศคือ ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก หลังมีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวระดับโลกมาก เห็นได้จากการมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุดติดท็อป 5 ของโลกและเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวในรูปแบบเดิมๆที่ผ่านมามีข้อจำกัดเช่นกัน จึงมีการพิจารณาถึงการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่มีมูลค่าสูงและเป็นที่มาของการสนับสนุนด้านนี้

“คำว่าศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน เป็นภาพรวมที่ไม่ได้จำกัดแค่จังหวัดภูเก็ตแต่ครอบคลุมถึง 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง ตรัง สตูล ซึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยวก่อนโควิดรวมกว่า 6.2 แสนล้าน”

เดิมทีตัวโครงการจะแบ่งออกเป็น 3 เรื่อง คือ วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และ ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน แต่ภายหลังมีการขยายให้มีความชัดเจนมากขึ้นโดยเพิ่มอีก 2 เรื่องคือ แพทย์แผนไทยและศูนย์เทคนิคการแพทย์ เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการในพื้นที่ รวมทั้งความต้องการของทั้งคนไทยและต่างประเทศ

(รศ.พันธ์ ทองชุมนุม)

 

** ผลิตบุคลากรพหุศักยภาพ สร้างมาตรฐานให้ผู้ประกอบการ

สำหรับวิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ จะเป็นแหล่งผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์และแพทย์แผนไทย หลักสูตร 4-6 ปี เพื่อรองรับการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เมดิคัล ฮับ

รศ.ดร.พันธ์ เผยว่า บุคลากรกลุ่มนี้จะเป็น “พหุศักยภาพ” คือนอกเหนือจากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแล้วยังมีความรู้อีกหลายด้าน เช่น ไอที เพราะอนาคตการรักษาอาจเป็นระบบทางไกล ใช้เครื่องมือ หุ่นยนต์ อุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูง หรือความรู้ด้านภาษา เพราะต้องให้บริการทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ดังนั้นส่วนใหญ่จึงเป็นหลักสูตรนานาชาติ

ขณะเดียวกันวิทยาลัยแห่งนี้ยังทำหน้าที่ฝึกอบรบผู้ปฏิบัติงานและผู้ประกอบการ เกี่ยวกับความรู้ด้านการบริหารจัดการและมาตรฐานเพื่อการบริการเชิงสุขภาพในอนาคต

“ถ้าเราต้องการจะเป็นที่ 1 ในโลกด้านสุขภาพ จะต้องมีมาตรฐานสากล เช่น Joint Commission International (JCI) ซึ่งเป็นมาตรฐานคุณภาพของโรงพยาบาล หรือการบริการที่สอดคล้องกับกฎหมายนานาชาติ เช่น ถ้านักท่องเที่ยวต้องการเข้ารับการดูแลรักษา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ประกันสุขภาพครอบคลุมหรือไม่ เพราะหากสถานบริการในพื้นที่ไม่มีมาตรฐานโลก อาจเคลมประกันไม่ได้ นั่นแสดงว่ามาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของเราไม่มีมาตรฐาน สร้างความไม่มั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว จึงต้องมีความรู้ทางด้านนี้ ส่วนผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ที่ผ่านมาก็เน้นการบริการต้อนรับทั่วไป แต่ยังไม่มีความรู้ในเชิงสุขภาพมากนัก เมื่อจะมีการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพผู้ปฏิบัติงานก็จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องการบริการทางด้านนี้ ทั้งเรื่องวิธีการ ความปลอดภัย มาตรฐาน ทักษะที่ดี สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวได้”

ดังนั้นภาคของวิทยาลัยสุขภาพนานาชาติจะทำหน้าที่เป็นแหล่งให้ความรู้ ทักษะและสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ในอันดามันและอื่นๆที่สนใจ

 

** เพิ่มขีดความสามารถรพ.ระดับตติยภูมิอันดามัน

“ถามว่าทำไมต้องเป็นโรงพยาบาล ในเมื่อโรงพยาบาลในจังหวัดอันดามันก็มีมาตรฐานตามประเทศไทย มีโรงพยาบาลศูนย์ที่ให้บริการโรคซับซ้อนอยู่ระดับหนึ่งแล้ว แต่เราพบว่ายังไม่ซับซ้อนพอ ถ้าเจอผู้ป่วยโรคซับซ้อนยากๆ ยังต้องส่งไปโรงพยาบาลม.อ.หาดใหญ่หรือไม่ก็กรุงเทพ” รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต เผยถึงโปรเจ็กต์สร้างโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งใช้งบประมาณมากที่สุดราว 4,762 ล้านบาท

รศ.ดร.พันธ์ กล่าวว่า ข้อมูลจากปี 2563 พบว่ามีผู้ป่วยในจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ถูกส่งตัวมารักษาที่ม.อ.หาดใหญ่ทั้งหมด 13,500 กว่าครั้ง แสดงว่าเกินขีดความสามารถของในพื้นที่อันดามัน ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาภูเก็ต 14 ล้านคนก่อนปี 2563 ย่อมมีโอกาสเกิดโรคซับซ้อน ซึ่งถ้ามีโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ที่สร้างความมั่นใจได้ อาจเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางมามากขึ้น ที่สำคัญนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพมีการใช้จ่ายสูง

ที่นี่จะเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางขนาด 300 เตียง เน้นการบริการระดับตติยภูมิ การแพทย์แม่นยำ การแพทย์ทางไกลและการบริการนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับพรีเมียม คาดจะเปิดให้บริการปี 2569 โดยจะรักษาใน 7 โรคซับซ้อนที่ทางโรงพยาบาลในพื้นที่ยังรักษาไม่ได้หรือรักษาได้ไม่เต็มที่ ดังนี้

1.เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

2.เส้นเลือดสมองตีบ

 3.โรคมะเร็งครบวงจร ทั้งการวินิจฉัย การผ่าตัด เคมีบำบัดและการฉายแสง

4.หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองหรือแตก

5.โรคหัวใจอื่นๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ การรักษาด้วยการจี้หัวใจ

6.การมีบุตรยาก

7.การดูแลผู้ป่วยหนักซับซ้อน ซึ่งจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

“บางอย่างให้บริการแล้วอาจขาดทุน แต่เรื่องสุขภาพของคนในพื้นที่จำเป็นต้องมีเพราะที่ผ่านมาเกิดช่องว่างของการดูแลสุขภาพในพื้นที่ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยต้องส่งต่างพื้นที่เพิ่มค่าใช้จ่าย”

นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังมุ่งหวังให้เป็นโรงเรียนแพทย์ที่คอยศึกษาวิจัยโรคต่างๆที่มันซับซ้อนอาจจะมากกว่า 7 โรคที่กล่าวไป โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคใหม่ๆ เช่น โควิด-19 ฝีดาษลิง สร้างความเชื่อมั่นเชื่อถือในเรื่องของระบบสาธารณสุขในพื้นที่

 

**ศูนย์ทันตกรรมดิจิทัลทันสมัยแห่งแรกในภาคใต้

หลังจากโครงการได้รับอนุมัติได้มีการสำรวจข้อมูลขั้นต้นถึงศักยภาพในการดำเนินโครงการโดยคณะวิทยาการจัดการของมหาวิทยาลัย ปรากฏว่ามีข้อที่น่าสนใจว่า การบริการด้านสุขภาพช่องปากเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก

“แน่นอนว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกคือ เราต้องดูแลสุขภาพคนไทยและพยายามเติมเต็มสุขภาพช่องปากให้ดีขึ้น แต่ก็ต้องมองในเชิงธุรกิจด้วยว่าในเมื่อประเทศไทยมีความเข้มแข็งในเชิงสุขภาพแล้ว น่าจะเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้ประเทศได้ด้วย ยกตัวอย่าง นักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียหรือยุโรปจะทำฟัน 1 ซี่อาจใช้เงิน 1 แสนบาทในบ้านเขา แต่ถ้ามาทำในบ้านเราเขาอาจเสียแค่ 2 หมื่นบาท ที่เหลืออาจมากระจายรายได้อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีก” รศ.ดร.พันธ์ กล่าวพร้อมเผยได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในการทำแพ็คเกจไว้เรียบร้อยแล้ว

ที่สำคัญนี่จะเป็นศูนย์ทันตกรรมดิจิทัลที่ทันสมัยแห่งแรกของภาคใต้ที่จะใช้ AI เข้ามาช่วยอย่างเต็มรูปแบบเพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่มีเวลาจำกัด เช่น การมาใช้บริการทุกอย่างจบภายใน 1-2 วัน ไม่ว่าจะเป็นการรักษา วินิจฉัยหรือทำฟัน จากเดิมที่อาจใช้เวลาเป็นเดือนในบางขั้นตอน รวมไปถึงสามารถดูแลรักษาตั้งแต่ก่อนเดินทางมาไทย มีการวินิจฉัยขั้นต้นหรือมาถึงรู้ได้เลยว่าต้องทำแค่ไหนอย่างไร ตามแผนจะเปิดให้บริการปี 2567 และมีรายได้จากการให้บริการชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาทต่อปี

“คำว่าทันตกรรมดิจิทัลค่อนข้างตอบโจทย์การรักษาในโลกยุคใหม่ ในฐานะมหาวิทยาลัยที่เป็นแหล่งบริการความรู้ที่ควรเป็นเลิศที่สุด เราอยากทำอะไรให้มันทันสมัยที่สุด รวมถึงการรักษาบนพื้นที่โลกเสมือนจริง”

**ยกระดับแพทย์แผนไทยเป็นแพทย์แผนโลก

นอกจากแพทย์แผนปัจจุบันที่โดดเด่นมากแล้ว รศ.ดร.พันธ์ กล่าวว่า การนวดแพทย์ไทยก็เป็นที่ยอมรับชื่นชมอย่างมาก เห็นได้จากข้อมูลธุรกิจร้านนวดไทยมีมากพอๆกับร้านอาหารไทยทั่วโลก และมีผลงานวิจัย 200 กว่าชิ้นพร้อมใช้งานอยู่แล้ว ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอย่างมาก  เป็นที่มาของการเปิดโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย พร้อมเป้าหมายยกระดับแพทย์แผนไทยเป็นแพทย์แผนโลก

“ในประเทศตะวันออกมีการแพทย์แผนโบราณที่เก่ง มีแพทย์แผนอินเดีย แพทย์แผนจีน แต่หนึ่งในนั้นคือแพทย์แผนไทย และอาจดีกว่าด้วยเพราะเราผสมผสานหลายศาสตร์ เราจะเอาแพทย์แผนไทยมายกระดับให้มีมาตรฐาน ประกาศให้โลกรู้ว่าแพทย์แผนไทยคือแพทย์แผนโบราณที่ยอดเยี่ยมที่สุดของโลก โดยเอางานวิจัยที่เป็นทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน มีความปลอดภัยเพราะใช้สมุนไพร รักษาทางจิตใจ สติสมาธิ เป็นภูมิปัญญาที่มีแต่เดิม ซึ่งจากที่ได้คุยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เขายอมรับมาก บอกว่ายอดเยี่ยม น่าทึ่งและพร้อมจะมาใช้มาบริการถ้าทำระบบบริการของเราให้เป็นที่มั่นใจ”

 

** ก้าวแรก...ศูนย์เทคนิคการแพทย์

เรื่องสุดท้ายคือศูนย์เทคนิคการแพทย์ วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งจะเป็นต้นทางในการตรวจเช็กร่างกาย การตรวจวิเคราะห์โดยห้องปฏิบัติการ การตรวจคัดกรองโรคต่างๆ ตลอดจนการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทั้งแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างมีมาตรฐานและทันสมัย

“ถ้าเรามีหน่วยบริการเทคนิคการแพทย์ที่มีความพร้อม สามารถทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าเมื่อคุณมารับบริการที่นี่สามารถบอกได้ว่ามีโอกาสจะเป็นโรคอะไรได้บ้างในอนาคต หรือสามารถส่งต่อไปยังรพ.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต หรือโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยได้ก่อนโดยไม่ต้องรอให้เกิดโรค”

นอกจากนี้ม.อ.ยังได้ออกแบบโปรแกรมร่วมกับผู้ประกอบการในการจัดแพ็คเกจตรวจร่างกายสำหรับนักท่องเที่ยวโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ศูนย์ เพียงแค่ลงทะเบียนในแอพลิเคชั่นที่เตรียมไว้ จากนั้นจะมีการส่งหน่วยเคลื่อนไปตรวจถึงโรงแรมและหลังทราบผลในวันเดียวกันจะมีเทเลเมดิซีน ซึ่งเป็นการแพทย์สมัยใหม่ที่นําเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบ Real-time ให้คำปรึกษาหรือดำเนินการรักษาต่อไป

ทั้งนี้ ศูนย์เทคนิคการแพทย์ได้เปิดใช้บริการไปเมื่อกลางปีที่แล้ว ให้บริการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อโควิด-19 รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปี เช่น ตรวจการทำงานของตับ-ไต ตัวสารบ่งชี้มะเร็ง เอ็กซเรย์ปอดและหัวใจระบบดิจิทัล ตลอดจนการตรวจเฉพาะทาง เช่น การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ การตรวจภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนในเด็ก

 

** ครม.เตรียมพิจารณาอนุมัติใช้งบเดือนนี้

อย่างไรก็ตาม งบประมาณ 5,116 ล้านบาทที่ขอสนับสนุนจากรัฐบาล ยังอยู่ระหว่างการรอพิจารณาอนุมัติการนำงบประมาณออกมาใช้ตามหลักการการงบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาทต้องให้ครม.พิจารณาก่อนนำออกมาใช้จริง หลังจากโครงการผ่านการอนุมัติหลักการโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 และได้รับอนุมัติเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ภูเก็ต เฮลท์ แซนด์บ็อกซ์” เมื่อวันที่ 16 พ .ย. 2564

รศ.ดร.พันธ์ เผยว่าทางจังหวัดภูเก็ตมองว่าโครงการนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องผลักดันจึงเสนอให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภูเก็ต เฮลท์ แซนด์บ็อกซ์ ที่ประกอบด้วยการพัฒนาด้านสุขภาพ 3 ด้านได้แก่ 1.การรักษาพื้นฐาน หรือกลุ่มรพ.สต.ซึ่งเป็นความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 2.การดูแลรักษาทั่วไปในระดับกลางถึงโรคซับซ้อนบางเรื่อง ส่วนนี้เป็นของกระทรวงสาธารณสุขโดยโรงพยาบาลหลักอย่างวชิระภูเก็ต รพ.ฉลอง ป่าตอง ถลาง เป็นต้น และ3.การรักษาโรคซับซ้อนมาก ซึ่งทางม.อ.จะเป็นผู้ดูแล

“ระหว่างนี้ทางมหาวิทยาลัยก็ทำอย่างอื่นไปก่อน เช่น การทำหลักสูตร การให้บริการบางส่วนที่สามารถดำเนินการได้ อย่างการรับนักศึกษาแพทย์ พยาบาล การอบรมผู้ประกอบการ ความพร้อมด้านนวัตกรรมให้ผู้ประกอบการใช้ ซึ่งทราบว่าจะมีการพิจารณาอนุมัติงบประมาณในเดือนนี้ “

ขณะที่การบริหารจัดการของศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน จะอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เนื่องจากเป็นโครงการตามยุทธศาสตร์ของทั้งมหาวิทยาลัย ภาคใต้และประเทศ รวมทั้งสร้างความสามารถในการแข่งขัน มหาวิทยาลัยจึงต้องขับเคลื่อนเป็นหลักโดยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบโจทย์ทิศทางยุทธศาสตร์แผน 20 ปีของชาติด้วย

 

** เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยว 6.2 หมื่นล้าน/ปี

ทุกโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ในพื้นที่รวม 287 ไร่ ยกเว้นศูนย์ทันตกรรมดิจิทัล ที่จะตั้งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตที่สะพานหิน โดยรศ.ดร.พันธ์ เชื่อว่าศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันจะสร้างโอกาสให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และประเทศทั้งในแง่ของการแข่งขัน การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ และการสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศ จึงต้องพัฒนาให้มีความพร้อมทั้งเรื่อง Service mind Mindset ความพร้อม ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยี ต้องทำในเชิงรุก ซึ่งรวมถึงการออกแบบโรงพยาบาลที่สร้างความแตกต่างทางด้านสถาปัตยกรรมที่ทันสมัยและส่งเสริมเรื่องสุขภาพ

“เมื่อเราต้องการเป็นเมืองระดับโลก ต้องโชว์ให้เห็นถึงความทันสมัยทั้งตัวบุคลากร ความสมาร์ทในการออกแบบ ความเป็นเลิศในการให้บริการ ทั้งหมดจะเป็นภาพลักษณ์ของการเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลก”

ณ วันนี้มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาแพทย์แล้วและผลิตนักศึกษาพยาบาลไปแล้ว การอบรบผลิตบุคลากรทางสาธารณสุขไปแล้ว  680 กว่าคน 5 รุ่น อบรมผู้ประกอบการไปแล้ว 1 รุ่น 120 รายซึ่งมีการตั้งสมาคมในชื่อ สมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทย และกำลังไปขับเคลื่อนโครงการ Andaman Wellness Corridor (AWC) ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน เพื่อการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ลดปัญหาเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น

ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันคาดว่าจะให้บริการผู้ป่วยโรคซับซ้อนชาวไทยไม่น้อยกว่า 12,500 คน/ปี มีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 3 แสนคน/ปี และมีรายได้จากการรักษาชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 1,600 ล้านบาท/ปี ขณะเดียวกันก็สามารถผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่สำเร็จตามหลักสูตรปีละ 110 คน อบรมทักษะต่างๆ ตามความต้องการของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 คน/ปี รวมทั้งลดการไปรักษาโรคซับซ้อนในพื้นที่อื่นของคนในกลุ่มจังหวัดอันดามันไม่น้อยกว่า 13,500 ครั้ง/ปี ประหยัดเงินไม่น้อยกว่า 135 ล้านบาท/ปี

ที่สำคัญคือเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น ไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 62,000 ล้านบาท/ปี

รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต ยืนยันว่า คนไทยคือสิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะได้รับการบริการอย่างดี แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธที่จะสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อสร้างอนาคตให้เข้มแข็ง โดยประเมินแบบเลวร้ายที่สุดจะสามารถคืนทุนภายใน 5 ปี