ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขณะที่ประเทศไทยและจังหวัดภูเก็ตกำลังเดินหน้าเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัด Specialised Expo 2028 เพื่อเป้าหมายในการโปรโมทเป็น Medical&Wellness Hub การพัฒนาเมืองสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Phuket Health Sandbox ก็เป็นอีกโครงการสำคัญของจังหวัดภูเก็ต เพื่อวางรากฐานระบบสุขภาพของคนในจังหวัดให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพควบคู่กันไปด้วย

ล่าสุดครม.ได้อนุมัติงบก้อนแรก 25.25 ล้านบาทจากงบประมาณทั้งหมด 991 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการในระยะเวลา 7 ปี ภายใต้แนวคิด “เมืองแห่งความผูกพันผู้คนสู่สุขภาพโลก” เพื่อให้คนสุขภาพดียืนยาว ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเท่าเทียม เป็นต้นแบบระบบสุขภาพชุมชนเมือง

นพ.บัญชา ค้าของ ที่ปรึกษาพิเศษนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.)และที่ปรึกษาผู้ว่าราชการภูเก็ต กล่าวถึงโครงการนี้ว่า สืบเนื่องจากนโยบายการพัฒนาด้านสุขภาพของจังหวัด ไม่เพียงต้องการโปรโมทเป็นเมืองที่มีความเป็นอยู่ที่ดี อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งผ่านการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Specialised Expo 2028 เพื่อยกระดับสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเท่านั้น แต่หวังจะผลักดันให้เกิดการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง มีแผนครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด โดยวางฐานรากผ่าน ภูเก็ต เฮลท์ แซนด์บ็อกซ์ ซึ่งว่าด้วยหลักการสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ๆ ดังนี้

1.สร้างเสาที่สำคัญของภูเก็ตเพิ่มจากเสาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเพื่อความมั่นคง นั่นคือเสาสุขภาพเสริม

2.ดูแลประชากรโลกภูเก็ตอย่างทั่วถึง ซึ่งประกอบด้วย คนภูเก็ต คนต่างจังหวัดที่มาอยู่ภูเก็ต ชาวต่างชาติและแรงงานต่างด้าว รวมประมาณ 1.2 ล้านคน โดยทุกคนต้องได้รับการดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดและความไม่เป็นธรรมระหว่างเชื้อชาติต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่จะปักหมุดให้ที่นี่เป็นเมืองท่องเที่ยวสุขภาพอย่างแท้จริง

3.จุดขายใหม่ เมืองแห่งสุขภาพดี ตามแนวคิดที่เกริ่นไว้ข้างต้น โดยมีที่มาจากงานวิจัยของ Harvard เกี่ยวกับปัจจัยในการมีอายุยืน พบว่า 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อายุไม่ยืน คือ ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่หายไป การมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนในสังคมที่มันขาดหายไปในปัจจุบัน และ NCD (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต)

“คนในประเทศไทยหรือภูเก็ตก็ตาม มีอัตราการเจ็บป่วย NCD ครึ่งหนึ่งของทั้งหมด แต่เราจะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาด้วยการสร้างความผูกพันในครอบครัว สร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม และลดปัจจัยเสี่ยงของ NCD  เลยใช้คอนเซปต์ เมืองแห่งความผูกพันผู้คนสู่สุขภาพโลก เพื่อให้คนสุขภาพดียืนยาว” นพ.บัญชา กล่าว

(นพ.บัญชา ค้าของ)

 

** วางรากฐานจัดการสุขภาพตัวเองผ่านรพ.ออนไลน์

การพัฒนาไปสู่เป้าหมายดังกล่าว นพ.บัญชา เผยว่าจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ Self-care, Service care และ High care  โดยเริ่มจาก Self-Care คือการจัดการสุขภาพพื้นฐานที่มุ่งเน้นให้ประชาชนจัดการตนเอง ผ่านกิจกรรม 3 อ. ได้แก่ อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย เพื่อสร้างความผูกพัน ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดี มีกิจกรรมร่วมกันในสังคมและเกิดความสุข โดยมีอบจ.รับหน้าที่ดูแลส่วนนี้เป็นหลัก ร่วมกับการเตรียมรับถ่ายโอน รพ.สต. ทั้ง 21 แห่งทั่วจังหวัดในวันที่ 1 ต.ค.นี้

คนภูเก็ตได้ก่อน คนทั้งโลกได้ด้วย” คือคอนเซปต์ของการจัดการระบบสุขภาพพื้นฐานที่เรียกว่าระบบปฐมภูมิหลังจากนี้ หลังจากที่ผ่านมาเมื่อมีการจัดทำโครงการขับเคลื่อนครั้งสำคัญมักจะหนีไม่พ้นนักธุรกิจ พ่อค้าคนมีฐานะได้รับประโยชน์เป็นหลัก แต่รอบนี้เขายืนยันว่า เป็นปัจจัยพื้นฐานที่คนภูเก็ตต้องได้ก่อน แต่คนต่างชาติหรือแรงงานต่างด้าวที่มาอยู่ในภูเก็ตก็ได้ด้วยโดยอัตโนมัติ ในรูปแบบของสมาร์ต ซิตี้ คือเมืองที่เอื้อต่อสุขภาพด้วยเทคโนโลยี

“แนวทางการปฏิบัติคือเราจะผลักดันให้มีโรงพยาบาลออนไลน์ที่เรียกว่าโรงพยาบาลประจำตัวบุคคล เน้นส่งเสริมสุขภาพทั้งสิ้น 1 ล้านห้อง รองรับทั้งชาวไทยและต่างประเทศในเฟสแรก เพื่อให้คนเข้าถึงข้อมูล ความรู้ สิทธิสวัสดิการ ข่าวสารแจ้งเตือนผ่านระบบ Digital Platform ของอบจ.”

ด้วยระบบนี้ประชาชนสามารถประเมินตัวเองได้ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลหรือปรับพฤติกรรมอย่างไร โดยนพ.บัญชา ได้ยกพระราชดำรัสในหลวงร.9 ที่ใช้คำว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” แต่กรณีนี้จะขึ้นด้วยคำว่า เข้าถึง เข้าใจ และจากคำว่าพัฒนา เป็นปรับพฤติกรรม นั่นคือการเข้าถึงข้อมูลความรู้จากการสมัครดิจิทัล แพลตฟอร์ม เข้าใจด้วยการคัดกรองตัวเองว่ามีความเสี่ยงอะไร และปรับพฤติกรรมเพื่อดูแลสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย กินอาหารสุขภาพ ปรับอารมณ์ สร้างความสัมพันธ์และความสุขให้เกิดขึ้นในครอบครัว นี่คือคำตอบทั้งหมดในพาร์ทแรกเรื่องสุขภาพส่วนบุคคล

 

** Digital Health Post ลดความแออัดรพ.

นอกจากรพ.ออนไลน์แล้ว ยังมีการจัดตั้งสถานีสุขภาพบริการด้วยดิจิทัล หรือ Digital Health Post ประจำหมู่บ้านหรือชุมชน ทั้งหมด 157 แห่งทั่วภูเก็ต เปรียบเสมือนสถานีอนามัยประจำหมู่บ้าน โดยประชาชนสามารถเข้าไปสแกนหน้าหรือลงทะเบียนด้วยระบบอิเล็กทรอนิก เพื่อวัดความดัน เบาหวาน ไขมัน โรคประจำตัวต่างๆ ด้วยระบบ IoT (Internet of Things – การเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเตอร์เน็ต)

“คนที่มาใช้บริการไม่จำเป็นต้องมานั่งกรอกข้อมูล แต่จะดึงเข้าสู่ระบบคลาวด์อัตโนมัติ ขณะเดียวกันก็จะไปเชื่อมกับเอไออีกตัว เพื่อจะบอกว่าความดันสูงในระดับอันตราย เบาหวานอยู่ในระดับที่เสี่ยงแล้ว จากนั้นจะมีระบบ Telemedicine พบกับคุณหมอ หากมีการสั่งยาก็มีตู้จ่ายยาอัตโนมัติโดยไม่ต้องเดินทางไปแออัดกันที่โรงพยาบาลทั้งหมด”

สำหรับผู้สูงอายุหรือคนที่ใช้เทคโนโลยีไม่คล่อง จะมีอาสาสมัครหรือเจ้าหน้าที่เป็นน้องๆ ในชุมชนเข้ามาช่วยบริการเป็น Digital Volunteer เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงเครื่องมือเหล่านี้ ซึ่งนพ.บัญชา เชื่อว่าหลังจากลองหัดใช้สัก 1-2 ครั้งโดยมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือแล้ว จะสามารถทำเองได้หมดเหมือนโครงการคนละครึ่งที่ตอนนี้ทุกคนใช้กันได้แล้ว

นพ.บัญชากล่าวว่าหากเข้ารับการตรวจที่สถานีสุขภาพหมู่บ้านแล้วจำเป็นต้องแพทย์จริง ก็จะมีระบบส่งต่อไปยังสถานีอนามัยหรือรพ.สต. ที่มีการวางแผนจะให้มีแพทย์ครบทุกแห่ง ในอดีตกระทรวงสาธารณสุขคงทำได้ยากเพราะเฉพาะอยู่โรงพยาบาลก็ไม่พอแล้ว

“ขณะนี้การสนับสนุนแพทย์มาให้รพ.สต.บางแห่งได้เดือนละครั้ง หรือเต็มที่ก็สัปดาห์ละครั้ง ซึ่งถ้าหารเฉลี่ยจากประชากรเดิม 3 แสนคนก็อาจไม่คุ้มที่แพทย์จะไปอยู่ แต่ถ้าเอาประชากรโลกภูเก็ต 1.2 ล้านคนจะตกประมาณแห่งละ 5 หมื่นคนก็ถือว่าคุ้มที่จะมีแพทย์มาอยู่ ฉะนั้นถ้าจะส่งต่อมาจาก Digital Health Post ก็จะส่งไปยัง รพ.สต.ใกล้บ้านก่อน เป็นการดูแลแบบปฐมภูมิ แต่หากอาการรุนแรงก็จะส่งต่อไปยังรพ.อำเภอหรือรพ.ศูนย์ เท่ากับว่าภาพของภูเก็ตจะเปลี่ยนไป ไม่ต้องไปอัดแน่นอยู่ที่รพ.วชิระเหมือนทุกวันนี้”

 

** anycall anycare center แก้ปัญหารอเตียง รอตรวจ รอตาย

“เราได้บทเรียนจากกรุงเทพฯ ที่มีโรงพยาบาลเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นของกทม. 11 แห่ง กระทรวงสาธารณสุข 3 แห่ง มหาวิทยาลัยอีก 6-7 แห่งและเอกชนอีกนับ 10 แห่ง แต่ไม่สามารถดูแลคนในช่วงโควิดได้ จนเกิดสภาพรอเตียง รอตรวจ รอตายเหมือนที่ผ่านมา” นพ.บัญชา กล่าวถึงปัญหาของระบบสาธารณสุข

ในส่วนของ Service care ที่หมายถึงโรงพยาบาลทั้งหลาย ทั้งของรัฐและเอกชน จะมีการตั้งศูนย์บริการ Anycall Anycare Center ทำหน้าที่ประสานทุกโรงพยาบาลในทุกสังกัดเพื่อบูรณาการร่วมกันในการบริหารจัดการให้ทุกการเจ็บป่วยได้รับการดูแลรักษาไม่ตกหล่น เป็นตัวกลางในการจัดการเรื่องเตียง ทรัพยากรแพทย์ เครื่องไม้เครื่องมือไปรองรับประชาชนที่มีปัญหาอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ที่ปรึกษาพิเศษนายกอบจ.ภูเก็ต เผยว่า ศูนย์แห่งนี้จะตั้งอยู่ที่รพ.อบจ.ภูเก็ต โดยท้องถิ่นจะรับมาจัดบริหารจัดการทั้งระบบ หลังได้โอนหมายเลข 1669 หรือแพทย์ฉุกเฉินมาเป็นศูนย์กลางแล้ว ขณะเดียวกันก็ผลักดันการพัฒนารพ.ต่างๆที่ให้เข้มแข็งขึ้น เช่น เช่น ศูนย์มะเร็ง ศูนย์โรคหัวใจ ที่ของรพ.วชิระ

ขณะที่ High care จะเน้นการเป็น Medical & Wellness Hub ด้วยการทำให้เกิดนวัตกรรมและศูนย์ระดับโลกจริงๆ เช่น เมดิคัล พลาซ่า หรือศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร ที่ต.ไม้ขาว อ.ถลาง  ซึ่งเป็นพื้นที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 โดยจะเป็นส่วนที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

 

** ยุทธศาสตร์ 4 ข. พลิกโฉมระบบสุขภาพรูปแบบใหม่

นพ.บัญชา กล่าวว่าแนวทางปฏิบัติของโครงการจะไปเชื่อมกับยุทธศาสตร์จังหวัดที่กำหนดขึ้นมาโดยท่านผู้ว่าฯ เรียกว่ายุทธศาสตร์ 4 ข. ได้แก่

ข.ไม่ทิ้งใครข้างหลังหรือเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ส่วนนี้อบจ.และท้องถิ่นต่างๆจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพ เน้นการพัฒนารพ.สต. พัฒนาสถานีอนามัยหมู่บ้าน พัฒนาเรื่องระบบสุขภาพประจำตัวบุคคล

ข.เพื่อการแข่งขัน เป็นส่วนของรพ.วชิระ รพ.เอกชน รวมทั้งรพ.อำเภอทั้งหลาย ในการพัฒนานวัตกรรม เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีในการรักษา เพื่อให้กลายเป็น Medical & Wellness Hub อย่างแท้จริง

ข.สร้างความเข้มข้นเรื่องคุณภาพมาตรฐาน หลังจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปล่อยรพ.สต.ให้ทางอบจ.ดูแลแล้วจะเปลี่ยนฐานะเป็นผู้กำกับเต็มตัว ทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานอย่างเข้มข้นมากขึ้น จะทำให้รพ.สต.และ รพ.ทั้งหลายของภูเก็ตยกมาตรฐานขึ้นโดยรวม

ข.ความเข้มแข็งด้านบุคลากรสุขภาพ ซึ่งได้ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต รับหน้าที่โดยการตั้งมหาวิทยาลัยแพทย์นานาชาติเปิดหลักสูตรทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์และแพทย์แผนไทย ผลิตบุคลากรไปรองรับฐานบริการด้านสุขภาพต่างๆ ในภูเก็ตและฝึกอบรมบุคลากรต่างๆ รวมถึงศูนย์ทันตกรรมดิจิทัล และรพ.สงขลานครินทร์ภูเก็ตที่จะสร้างขึ้นใหม่

“เราหวังว่าโครงการนี้จะผลักดันให้ภูเก็ตเป็นรูปแบบใหม่ของระบบสุขภาพที่มีระบบฐานรากคือท้องถิ่นเข้ามาร่วมอย่างเต็มศักยภาพ การกระจายอำนาจรพ.สต.มีโอกาสจะพลิกทศวรรษของการพัฒนาระบบสุขภาพใหม่”

 

**ยกระดับมาตรฐานสาธารณสุขทั้งจังหวัด

อย่างไรก็ตาม นพ.บัญชา ยอมรับว่าคงไม่ง่ายสำหรับประเทศไทยเพราะยังมีเงื่อนไขของอำนาจส่วนกลางที่ยังกำกับอยู่ การขับเคลื่อนของท้องถิ่นก็ไม่ง่ายเพราะมีระเบียบที่เข้มข้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบของสตง.ยิ่งทำนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ จะถูกตรวจสอบเข้มข้น ซึ่งเป็นเรื่องดีในแง่ของการตรวจสอบ แต่ข้อเสียคือทำให้เกิดความล่าช้า

“ต้องฝากเรียนไปยังปปช. สตง. ว่าการทำโครงการแบบนี้แทนที่จะใช้วิธีให้หน่วยงานทำไปแล้วมาจับทีหลัง มาช่วยตั้งแต่ต้นได้หรือไม่ เมื่อพิสูจน์ทราบว่าการมีส่วนร่วมและความโปร่งใสมีตั้งแต่ต้นแล้ว อาจมีการผ่อนคลายการกำกับส่วนหลังลงบ้างไม่เช่นนั้นความเจริญก็ล่าช้าไปด้วย เมื่อในปัจจุบันข้าราชการท้องถิ่นก็มีการพัฒนาทำงานให้เร็ซขึ้น แต่ก็ยังเร็วได้ไม่มาเพราะระเบียบเข้มทุกบรรทัด”

นพ.บัญชา เชื่อว่าหากสามารถยกระดับสถานีสุขภาพหมู่บ้านหรือรพ.สต.ให้มีความพร้อมทั้งอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์และได้มาตรฐาน ประชาชนก็อยากใช้บริการใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางมาแออัดในรพ.ใหญ่ อย่างการแพทย์ต่อไปนี้จะเป็นแบบเครือข่ายเชื่อมโยงกัน แปลว่าแพทย์ของรพ.วชิระภูเก็ต จะเชื่อมโยงกับการดูแลรักษาระบบ Telemedicine รพ.อำเภอ และแพทย์ที่รพ.สต. อนาคตมาตรฐานของวชิระภูเก็ตจะไม่มีแค่ที่เดียว แต่จะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งภูเก็ต โดยการเชิญรพ.วชิระภูเก็ตมากำกับกระบวนการ Telemedicine หรือมีแพทย์มาประจำที่รพ.สต.

“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้อง keep in mind ว่าจะต้องทำให้ประชาชนได้เห็น แต่อย่างน้อยที่สุดก็มีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ รู้ทุกเรื่องทุกโรคสามารถส่งต่อได้อย่างถูกต้อง ดีกว่าป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ไปรพ.ทั้งหมด กลายเป็นว่าโรคหนักๆ ก็ต้องรอคิวไปด้วย ผมคิดว่ามันเป็นความเสียหายของพี่น้องประชาชน ที่ต้องไปอัดแน่นกันอยู่ในรพ. ต้องรอจนเกิดการสูญเสีย แต่ต่อไปนี้ประชาชนป้องกันตัวเองได้ตั้งแต่การวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยตัวเอง หรือการไม่จำเป็นต้องไปผ่าตัดที่รพ.ใหญ่ๆเท่านั้น แต่สามารถเชื่อมโยงให้หมอใหญ่มาผ่าตัดที่รพ.เล็กกว่าได้ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรร่วม โดยมีค่าตอบแทนที่คุ้มค่าและเป็นธรรม ในอนาคตอาจต้องหารือกับสำนักงานสุขภาพแห่งชาติด้วยว่า สามารถเข้ารับบริการรพ.เอกชนแต่จ่ายในอัตราของสปสช.หรือหลักประกันก่อน แต่ที่เหลือจะมีกองทุนในจังหวัดหรือชาวบ้านไปจ่ายจากประกันชีวิตส่วนตัวเพิ่ม”

** ความมั่นคงด้านสุขภาพสู่ต้นแบบการพัฒนา

สำหรับงบประมาณ 25.25 ล้านบาทที่ได้รับอนุมัติจะนำมาพัฒนาในเรื่อง anycall anycare 5 ล้านบาท และทำสถานีสุขภาพประจำหมู่บ้านหรือชุมชนอีก 20 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มรายบุคคลที่จะมารับบริการที่สถานีสุขภาพเป็นหลัก ขณะที่แผนถัดไปในปีหน้าซึ่งคาดว่าจะได้รับอีก 60 ล้านบาทจะพัฒนาแพลตฟอร์มสุขภาพเต็มที่ มีระบบคลาวด์ในรูปแบบรพ.ออนไลน์ โดยมีทีมบริหารหลัก คือ คณะกรรมการนโยบายสุขภาพจังหวัดที่มีผู้ว่าฯเป็นประธาน มีทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาเป็นกรรมการ

นพ.บัญชา กล่าวว่าสิ่งที่จะได้รับจากโครงการ Phuket Health Sandbox คือความมั่นคงด้านสุขภาพของคนภูเก็ต  การเข้าถึงที่ไม่ต้องรอคิว การจ่ายเงินรักษาที่เหมาะสม ถัดไปจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวต่างชาติที่มั่นอกมั่นใจว่าถ้าพลัดตกหกล้มแล้วเข้ารพ.ไม่ตาย เพราะดูแลทันเวลาทันท่วงทีมีมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ต่อยอดไปเรื่องธุรกิจสุขภาพที่จะสร้างรายได้ให้กับจังหวัดและประเทศ

“เมื่อไหร่ก็ตามถ้าเราทำแบบผ่าตัดแปลงเพศได้ ดูเหมือนไฮเอนด์เลย แต่สุดท้ายรถชนหัวแตกเข้ารพ.เสียชีวิต มันอาจจะรับไม่ได้ในชื่อเสียงและความปลอดภัยไม่เพียงพอในสายตาชาวต่างชาติ ที่ผ่านมาผมคิดว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของโลก แต่เอาเข้าจริงๆ ถ้าไปหักในจุดที่เป็นความเสี่ยง เช่น เข้าไม่ถึงจริง เข้าไม่ถึงแท้ รอคิวนาน เหล่านี้ยังต้องพัฒนาอีกพอสมควร ฉะนั้นการปรับจาก 6 ขึ้นมาเป็นท็อป 5 ก็อาจต้องใช้โครงการเหล่านี้เป็นต้นแบบ”