ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ต้องเตรียมการวางแผนเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ อย่างรอบด้านและพิจารณาไปถึงความเป็นไปได้กรณีต่างๆ ในอนาคต ซึ่งอาจจะมีโรคระบาดอื่นๆ ตามมา

การเตรียมการในระยาว โดยวางแนวทางด้านเพื่อเตรียมการรับมือกับโรคระบาดในอนาคตส่วนหนึ่ง คือการผลักดัน “การวิจัย” (RESEARCH) และ ผลิตนักวิจัย โดยเฉพาะในกลุ่มโรคอุบัติใหม่ ถือเป็นภาระกิจสำคัญอย่างหนึ่งในการเตรียมการรับมือกับโรคระบาดในอนาคต

ศ.นพ. ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา หน่วยงานในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หนึ่งในหน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยดำเนินกิจกรรมด้านถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร และผลิตนักวิจัยสาขาต่างๆ เล่าว่า แม้ปัจจุบัน สถานการณ์การผลิตนักวิจัยด้านโรคอุบัติใหม่จะยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ในอนาคต ยังมีข้อจำกัดหลายด้านที่ต้องคำนึงถึง

“ปัจจุบัน ประเทศนักไทยมีนักวิจัยเยอะ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง และแม้ว่ามหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่จะถูกจัดอันดับยังไม่ค่อยดีเมื่อเทียบกับทั่วโลก แต่ในสายด้านโรคติดเชื้อหรือจุลินทรีย์เราอยู่ใน Top 100 เลย แปลว่า เรื่องโรคติดเชื้อ นักวิจัยไทยทำได้ดีกว่าโดยค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่ถ้าถามว่าเพียงพอไหม ก็ต้องบอกว่า ยังปรับปรุงได้"

รอง ผอ.สวทช. สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา บอกว่า ระบบการผลิตนักวิจัยแบบเดิม ใช้วิธีอาศัยอาจารย์ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งเป็นหลัก โดยอาจารย์แต่ละท่านจะรับลูกศิษย์มา ก็จะมีนักวิจัยระดับที่สามารถปฏิบัติงานได้เลยจำนวนหลักร้อยคน แต่อย่างไรก็ตาม รูปแบบการผลิตนักวิจัยแบบดั้งเดิมเช่นนี้ก็มีปัญหาอยู่ 2 ประการ อย่างที่ 1 คืออาจารย์ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่อายุเกินหรือเกือบ 70 ปีกันแล้ว ส่วนนักวิจัยและรุ่นใหม่ที่ตามขึ้นมาก็ยังอาวุโสไม่มากนัก ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาในด้านผู้สอน ส่วนอีกปัญหาคือผู้เรียน คือไม่มีผู้สนใจมาเรียนด้านวิจัย

“ยุคนี้ เป็นยุคที่นักเรียนไม่ค่อยมาเรียน ซึ่งเป็นกันทุกสาขา ไม่ใช่เพราะสาขานี้ ในด้านวิทยาศาสตร์ทั้งหมด นักเรียนไม่ค่อยจะสนใจเรียนปริญญาเอกกันนัก สาเหตุถ้าให้พูดแบบแรงก็คือคนรุ่นเก่าหรือรัฐบาลรักษาสัญญาไม่ได้ คือเราไม่ได้กลายเป็นประเทศที่ได้ใช้วิทยาศาสตร์ในด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้การเรียนวิจัยด้านโรคอุบัติใหม่นี่ยังมีปัญหาอีกด้านหนึ่งคือ เด็กที่เรียนก็มีความเสี่ยง ผู้เรียนมีโอกาสที่จะเสียชีวิตระหว่างเรียนจากเชื้อโรคที่วิจัยอยู่ได้ ตรงนี้ต้องยอมรับความเป็นจริง ว่าเป็นปัญหาใหญ่ ที่ทำให้คนที่พร้อมจะเรียนมีน้อยมาก หันไปเรียนอะไรที่ง่ายกว่ามีประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า อย่างในปัจจุบันก็จะเป็นเรื่องการรักษามะเร็งด้วยเซลล์ หรือหันไปทำเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งดูว่าจะมีงานการมารองรับมากกว่า”

แต่ถึงแม้จะมีผู้เข้ามาเรียนในสายงานวิจัยอยู่บ้าง แต่สำหรับโรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ก็ยังแทบไม่มี ซึ่งศ.นพ.ประสิทธ์ อธิบายว่า เป็นเพราะงานวิจัยด้านโรคติดเชื้อไม่สามารถสร้างรายได้ ต่างกับสายอื่นๆ เช่นมะเร็ง ผู้เรียนจึงเลือกเรียนในสาขาที่คิดว่าเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด

“เพราะฉะนั้นเด็กเก่งๆ จำนวนมาก จึงหันไปเรียนเรื่องมะเร็งกันหมด และในสายโรคติดเชื้อก็จะมีสายหนึ่งในสายย่อยที่ว่าด้วยเรื่องจีโนม ซึ่งเป็นสายที่ค่อนข้างสมัยใหม่มีข้อมูลเยอะมีคอมพิวเตอร์ สายนี้ ก็มีเด็กมาเรียนบ้าง ปัญหาคือ คนที่เรียนสายนี้อย่างเดียวจัดการเรื่องโรคอุบัติใหม่ไม่ได้ เพราะเรื่องโรคอุบัติใหม่ ต้องการคนไปเก็บเชื้อ ต้องการคนเพาะเชื้อ ต้องทำงานในห้องชีวนิรภัยระดับ 3 เพราะฉะนั้น จะมีงานที่น่าเบื่อ แล้วก็จะไม่มีค่าจ้างมากมายนอกจากมหาวิทยาลัยและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็มีอยู่จำนวนหนึ่งเท่านั้นและไม่ใช่ตำแหน่งที่น่าสนใจ”

ศ.นพ. ประสิทธิ์ ระบุว่า การวางแผนผลิตนักวิจัยด้านนี้ในอนาคต จำเป็นที่จะต้องดำเนินการและเตรียมการหลายด้านไปพร้อมๆ กัน การดึงดูดนักเรียนให้มาสนใจเรียนสาขานี้ น่าจะมีอยู่ 2-3 เรื่อง เช่นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ต้องเตรียมให้เพียงพอและรักษาไว้ให้ได้ เพราะโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ จะเป็นที่ทำงานสำหรับเด็กจบใหม่ โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ อาทิ ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ห้องแลปสำหรับพัฒนาวัคซีน ห้องแล็บสำหรับพัฒนาชุดตรวจ พัฒนายา เป็นต้น

“ถ้าเรารักษาตรงนี้ไว้ได้ ก็จะมีที่สำหรับให้คนมาทำงาน เมื่อเกิดโรคอุบัติใหม่มันก็จะมีคนทำงานที่พร้อมรับมือ อันที่ 2 คือ ต้องมีกิจกรรมสนับสนุน ต้องมีเงินทุนสำหรับให้ไปทำวิจัย ในช่วงที่ผ่านมาตลอด 20 ปี สวทช.เป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ แต่ละปีมีงบประมาณหลักร้อยล้าน เพื่อสนับสนุนให้อาจารย์ทำงาน ตอนนี้ สวทช.ก็เปลี่ยนบทบาท ก็ไม่ค่อยแน่ใจนัก ว่า ต่อไปหน่วยงานที่จะมาทำเรื่องนี้เป็นใคร อันที่จริง ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนเลยที่ประกาศตัวว่าจะเป็นผู้สนับสนุนหลักกิจการเรื่องโรคอุบัติใหม่ ทั้งที่ควรจะมีหน่วยงานที่ประกาศเจตนารมณ์ว่าเราจะสนับสนุนงานวิจัยเรื่องโรคอุบัติใหม่ต่อเนื่องไปในอนาคต อันนี้ มีความจำเป็นมาก”

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องบุคลากรในการจัดการกับปัญหาในอนาคต สำหรับประเทศไทยในขณะนี้ถือว่ายังเพียงพอ แต่สำหรับนักวิจัยทางด้านจุลชีวะเหมือนกับการทำสงคราม ก็ต้องมีเป้าหมายว่าจะรับมือกับสงครามนี้ได้กี่ครั้ง ยกตัวอย่างเช่น Covid-19 ระบาดอยู่ฝีดาษลิงก็มา แล้วมีกำลังคนเพียงพอทำ 2 เรื่องพร้อมกันหรือไม่ ต้องตั้งเป้าว่าอย่างน้อยต้องพอรับมือ 2 เรื่อง คือมีบุคลากรชุดแรกไปทำ Covid-19 และยังมีคนเหลือชุดที่ 2 เผื่อไว้สำหรับทำเรื่องฝีดาษลิงในด้านต่างๆ เพราะฉะนั้น จำนวนคนน่าจะต้องมีเป็นหลักร้อย ซึ่งปัจจุบันยังมีอยู่ แต่ก็มีความกังวลเท่านั้นเองว่า ถ้าไม่มีคนดูแลต่อไป หรือว่าไม่มีคนใช้ความพยายามกับมันมากพอ จำนวนก็อาจจะค่อยๆ ลดลง

ความกังวลในด้านจำนวนนักวิจัยของศ.นพ.ประสิทธ์มาจากประสบการณ์ในอดีต สมัยไข้หวัดนกระบาด ขณะนั้นประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้อยู่เพียงคนเดียว ซ้ำยังติดภารกิจอื่นๆ อีก

“ตอนนั้น เรามีผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคไข้หวัดไข้หวัดใหญ่ไข้หวัดนกอยู่ครึ่งคนทั้งประเทศคืออาจารย์ประเสริฐ ทองเจริญ ซึ่งอาจารย์ก็อาวุโสมากแล้ว และไม่ได้ทำแล็บแล้ว และต้องทำเรื่องอื่นอีกหลายเรื่อง ตอนนั้น คือเราไม่มีบุคลากรเลย ไปถามอาจารย์ท่านก็ยินดี ท่านอาจารย์ก็ถามว่าแล้วมีงบประมาณให้มั้ย ซึ่งตอนนั้น ผมอยู่สวทช. ก็บอกว่าให้อาจารย์เขียนโครงการมาเลย แล้วผมจะจัดหางบประมาณให้ เราก็ทำระบบขึ้นมาโดยขอให้อาจารย์ทั้งหลายรวมตัวเป็นเครือข่าย แล้วก็ให้การสนับสนุนไปและประเทศชาติต้องการก็ขอให้อาจารย์แต่ละท่านมาช่วย ซึ่งท่านอาจารย์เหล่านั้นก็มีน้ำใจเข้ามาช่วยทำงาน เพราะฉะนั้น เรื่องพวกนี้มันต้องมีคนบริหารจัดการ ถ้าไม่มีคนบริหารจัดการอยู่ตรงกลางแต่ละคนก็จะงงไม่รู้ว่าตัวเองควรจะทำอะไร”

เหตุใดการมีนักวิจัยจำนวนที่มากพอสมควรถึงเป็นสิ่งจำเป็น ศ.นพ.ประสิทธิ์อธิบายว่า ปัญหาที่หนักที่สุดของการทำง่นวิจัยคือมีงานอยู่จำนวนหนึ่งที่เป็นงานที่น่าเบื่อมาก นักเรียนก็ไม่อยากทำ เป็นงานอย่างที่อาจารย์หลายท่านหาคนแทนไม่ได้เลย ต้องเพาะเชื้อซึ่งต้องติดตามดูทุกวันว่าเชื้อขึ้นหรือยัง ไม่มีเรื่องเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ เลย มีแต่เรื่องเก่าเรื่องโบราณ แต่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

“ที่ผ่านมา พยายามบอกนักศึกษาหรือนักวิจัยใหม่ๆ ว่างานพื้นฐานบางชนิดมันเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าคุณไม่รู้มันก็ทำไม่ได้ เรื่องการทำงานพื้นฐานบางอย่างไม่สามารถเลี่ยงได้ จริงๆ แล้วงานนักวิจัยไม่เท่เหมือนในหนังวิทยาศาสตร์หรอก คือมันเท่ตอนได้ออกข่าวบ้าง แต่ว่าตัวงานจริงๆน่าเบื่อ จะน่าเบื่อมาก”

ช่วง 10 ปีก่อนนี้ ประเทศไทยผลิตนักวิจัยได้ประมาณปีละ 10 คน แต่ศ.นพ.ประสิทธิ์ไม่แน่ใจนักว่าจำนวนการผลิตในปัจจุบันเป็นอย่างไร เพราะในส่วนของโรคอุบัติใหม่ควรจะประเมินเป็นลักษณะว่าจะจัดการโรคอุบัติใหม่ได้กี่โรค อย่างเช่นโรคไวรัสอย่างน้อยต้อง 2 โรค หรือโรคแบคทีเรียซัก 1 โรค และก็จะต้องมีทีมย่อย สำหรับประเทสไทย ในส่วนของเราทีมเหล่านี้อยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ทีมหลักที่ลงพื้นที่เป็นทีมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนทีมของมหาวิทยาลัยมหิดลจะปักหลักอยู่ในแล็บ ช่วยกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก”

รักษาการรองผู้อำนวยการสวทช.มองอีกว่า ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมีความชัดเจน ในการเพิ่มบทบาทการผลิตนักวิจัยและวางแผนงานด้านนี้

“ ความจริงเราก็เคยคุยกับกรมควบคุมโรค ผมก็จะงงๆ นิดหน่อย คือ ทุกประเทศทั่วโลก กรมควบคุมโรค เขาจะมีห้องปฏิบัติการของตัวเอง มีพนักงานที่เป็นนักจุลชีววิทยาที่ดูแลเรื่องโรคอุบัติใหม่ด้วยตัวเอง ทุกประเทศเลย รวมทั้งประเทศจีนสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศไทยไม่มี คือตามโครงสร้าง กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยห้องปฏิบัติการต้องอยู่ในกรมวิทยาศาสตร์ คือ คุณได้ตัวอย่างมา ผมต้องไปส่งแล็บกรมวิทย์ ส่วนกรมวิทย์จะทำหรือไม่ทำ กรมควบคุมโรคก็จะไปบังคับเขาไม่ได้ กรมควบคุมโรคก็เลยต้องมาพึ่งมหาวิทยาลัย”

หากเทียบสถานการณ์ปัจจุบันเมื่อผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 มาได้ เทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งเผชิญกับไข้หวัดนก ศ.นพ.ประสิทธ์มองว่า 20 ปีที่ผ่านมาดีขึ้นมาก

“วันแรกที่ไข้หวัดนกระบาดเราแทบไม่มีบุคลากร แต่พอมาปัจจุบันนี้มีบุคลากรเพิ่มขึ้นเยอะมาก ทุกคนร่วมมือกัน แต่ก่อนเราจะทำวัคซีนแล้วไม่เห็นแววเลยว่าจะทำยังไงเริ่มจาก แต่เดี๋ยวนี้เรายังพอไปได้ ตอนนี้เราก็เริ่มผลิตวัคซีนเองได้ ในอีก 2-3 ปีก็น่าจะสำเร็จซึ่งก้าวหน้ากว่าเดิมเยอะมาก เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าถ้าเราพัฒนาต่อไปก็น่าจะดีขึ้นไปอีก”

แม้ภาพรวมกำลังคนด้านการสิจัยฌโรคอุบัติใหม่จะดีขึ้นกว่าอดีต แต่สถานการณ์ในอนาคตกลับมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งศ.นพ.ประสิทธ์มองว่า การระบาดที่จะเป็นปัญหาจริงๆ ก็คือไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะมีวงจรประมาณ 20-40 ปีครั้งหนึ่ง แล้วทุกครั้งที่มันเกิดใหม่ ก็จะตามได้จากอาจารย์ที่เคยผ่านประสบการณ์ในช่วงนั้นว่าสมัยก่อนรับมือกันอย่างไร แต่นับตั้งแต่ไข้หวัดนกมาก็เริ่มเปลี่ยนไป เกิดโรคอุบัติใหม่ถี่ขึ้นมา ทั้งโรคซาร์ส โรคเมอรส์ อีโบลา และ Covid-19 เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ว่า วงจรการเกิดโรคอุบัติใหม่ขยับขึ้นมาเป็นทุก4- 5 ปี ถ้าคนของเราแน่นและแม่น เราก็จะไม่โกลาหลมาก

“ถ้าคนของเรานั้นเราสามารถแจ้งรัฐบาลได้เลยว่าโรคนี้กำลังมาและเรามีบุคลากรรองรับไม่ต้องห่วง เราจัดการรับมือกับความโกลาหลได้” ศ.นพ. ประสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย