ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหภาพลูกจ้างฯ เผยนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท  สมัย “ทักษิณ” ทำได้จาก 9 พันเป็น 15,000 บาท แต่ไม่มีผลกับกระทรวงสาธารณสุข  เพราะจ้างลูกจ้างด้วยเงินบำรุง หลายคนยังได้เงินเดือน 11,000-13,000 บาท ขอ รมว.สธ. ปรับโครงสร้างช่วยลูกจ้างกระทรวงฯ  ด้านสมาพันธ์แพทย์ฯ มองปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องทำได้จริงรวมระบบสาธารณสุขด้วย ขณะที่ “อนุทิน” เผยเป็นนโยบายเพื่อไทย ไม่ก้าวก่าย ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน

 

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กรณีนโยบายพรรคเพื่อไทยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และปรับเงินเดือนปริญญาตรี 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน จนหลายคนตั้งคำถามว่า เหมาะสมหรือไม่  และทำได้จริงแค่ไหน ทางด้านบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มองเรื่องนี้อย่างไร

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.)  ให้สัมภาษณ์ Hfocus เรื่องนี้ ว่า  สำหรับคนทำงานในกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รู้สึกตื่นเต้น เพราะแม้นโยบายนี้ทำได้จริงในอนาคต  แต่ไม่ได้มีผลกับบุคลากร ลูกจ้างที่ทำงานกระทรวงฯ เพราะในอดีตคุณทักษิณ ชินวัตร เคยทำมาแล้วในเรื่องเงิน 15,000 บาท แต่สุดท้ายกระทรวงสาธารณสุขก็ยังจ้างไม่ถึงอยู่ดี เพราะเราอิงเงินบำรุง ระเบียบเงินบำรุง นี่คือปัญหา ที่ทางลูกจ้างทางสหภาพฯเรียกร้องตลอดว่า ขอให้จ้างผ่านเงินงบประมาณ ไม่เช่นนั้นลูกจ้างก็ต้องทำงานหนักที่ได้รับค่าจ้างไม่สอดคล้องความเป็นจริง ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ไปตลอด

นายโอสถ กล่าวว่า นโยบายจาก 9,000 บาท มาเป็น 15,000 บาทในสมัยคุณทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ข้อเท็จจริงทุกวันนี้ลูกจ้างในกระทรวงฯ มีกี่คนที่เงินเดือนถึง 15,000 บาท หลายคนยังอยู่ที่ 11,000 บาท 12,000 บาท หรือ 13,000 บาทด้วยซ้ำไป ที่ผ่านมากระทรวงฯมองว่าการจ้างลูกจ้าง บุคลากรเป็นภาระหรือไม่ จริงๆกระทรวงฯควรใช้งบประมาณจากรัฐบาลมาจ้างคน ไม่ใช่เงินบำรุง เพราะเงินบำรุงต้องเกลี่ยหลายส่วน และการจ้างงานก็มาใช้ส่วนนี้อีกจะพออย่างไร ประเด็นคือ หากเห็นคุณค่าคนทำงานก็จะไม่เป็นแบบนี้

ขอเรียกร้องท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แก้ไขโครงสร้างการจ้างงานในกระทรวงสาธารณสุขใหม่ โดยขอให้จ้างผ่านเงินงบประมาณโดยตรง ไม่ต้องใช้เงินบำรุง และทำแผนไปเลยว่ากี่ปี เพิ่มบุคลากรกี่คน เพราะทุกวันนี้ขยายเตียงรพ. มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่บุคลากรกลับไม่เพิ่ม แบบนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงต้องขอความเห็นใจท่านอนุทิน ช่วยเหลือพวกเราลูกจ้างที่ทำงานกระทรวงฯด้วย” ประธานสหภาพฯ กล่าว

แฟ้มภาพ

พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ผู้แทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวถึงนโยบายขึ้นค่าจ้าง 600 บาทต่อวัน ว่า ส่วนตัวเห็นว่านโยบายเพิ่มค่าจ้างรายวัน 600 บาทอาจน้อยไปด้วยซ้ำ เพราะต้องดูค่าครองชีพว่า แต่ละวันใช้เท่าไหร่ แต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน อย่างค่าแรง 320 บาทต่อวัน ทุกวันนี้พอหรือไม่ มีงานวิจัยที่ผ่านมาต้องดูว่า 1 คนได้รับค่าจ้างมาแต่ต้องดูแลครอบครัว ส่งให้พ่อแม่ ให้ลูก 600 บาทต่อวันยังไม่พอด้วยซ้ำ แต่การเพิ่มขึ้นนั้นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หากภาคธุรกิจอยู่ไม่ได้ ภาครัฐก็ต้องมาช่วยด้วย

เมื่อถามว่าหากมีการขึ้นเงินดังกล่าวได้จริง ในส่วนระบบสาธารณสุข จะดีขึ้นหรือไม่ พญ.ชุตินาถ  กล่าวว่า หากเป็นในกระทรวงสาธารณสุขก็แทบไม่ได้ผลเลย อย่างขึ้นค่าแรงเด็กจบใหม่ แต่คนทำงานอยู่ก่อนแล้วก็ไม่ได้ขึ้น ที่สำคัญหากเป็นลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างชั่วคราวในรพ.ที่ใช้เงินบำรุงนั้น เหมือนถูกกำหนดไว้ว่า จำนวนเงินต้องไม่เกินเท่านี้หรือไม่ ซึ่งการใช้เงินบำรุงมีข้อจำกัดเยอะ อย่างทุกวันนี้ลูกจ้างรายวันในกระทรวงฯ ก็ได้แค่ 300 บาทอยู่ดี คนทำงานในรพ.ก็ต้องทนไป ทนไม่ได้ก็ออกไป ระบบแบบนี้ไม่ดีเลย หากจะปรับแก้ต้องทำทั้งระบบ ต้องให้เกิดความเป็นธรรมทั้งระบบจริงๆ

 

**วันเดียวกัน  ที่ทำเนียบรัฐบาล   นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องพรรคเพื่อไทย เสนอนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน เงินเดือน ป.ตรี 2.5 หมื่นบาท/เดือนว่า  ทำได้หรือไม่ มีหลายปัจจัยประกอบ  แต่ถือว่ามีความตั้งใจดี น่าชื่นชม กับความคิดที่จะทำให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานมั่นคงขึ้น แต่ส่วนจะทำมันต้องคุยกันหลายส่วน มันก็มีทั้งเห็นด้วยแล้วไม่เห็นด้วย เท่าที่ติดตามข่าวดู ท่านก็ให้เหตุผลแล้วว่าต้องทำเป็นแต่ละขั้น ซึ่งเป็นนโยบายของแต่ละพรรค เราไม่ก้าวก่ายกัน เราต้องให้เขาชี้แจงมาก่อน จะไปก้าวก่ายไม่ได้ นี่อาจจะเป็นนโยบายเรือธงของเขา ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง :

สหภาพลูกจ้างฯ รวมพลหลังปีใหม่ ขอ “อนุทิน”  ช่วยเหลือหลังไม่ได้รับความเป็นธรรมเงินเสี่ยงภัยโควิด

เรื่องที่เกี่ยวข้อง