ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เผย ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในเด็กเล็กลดลง อาจก่อให้เกิดการระบาดของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนขึ้นได้ เช่น โรคหัด โรคคอตีบ โรคไอกรน องค์การอนามัยโลก (WHO) กับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ได้ออกประกาศเตือนการลดลงของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด กำลังทำให้โรคหัดระบาดได้ง่ายและกลายเป็นภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นได้ทั่วโลก แนะผู้ปกครองรีบพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนตามกำหนด

วันนี้ (8 ธันวาคม 2565) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากที่ประเทศไทยมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้จำเป็นต้องประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งส่งผลให้ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนในกลุ่มเด็กตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคลดลงไปด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว สถานพยาบาลจำเป็นต้องจำกัดจำนวนผู้เข้ารับบริการหรือลดความถี่ในการบริการฉีดวัคซีนเด็ก รวมถึงผู้ปกครองอาจมีความกังวลในการพาบุตรหลานไปรับการฉีดวัคซีนในสถานพยาบาล ซึ่งความครอบคลุมการได้รับวัคซีนลดลง อาจก่อให้เกิดการระบาดของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนขึ้นได้ เช่น โรคหัด โรคคอตีบ โรคไอกรน เป็นต้น  ซึ่งสอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ได้ออกประกาศเตือนทุกประเทศว่าการลดลงของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด กำลังทำให้โรคหัดซึ่งเป็นโรคทางเดินหายใจที่ระบาดได้ง่าย กลายเป็นภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในทุกภูมิภาค โดยโรคหัดทำให้เกิดอาการไข้ ตาแดง ไอ ผื่นแดงขึ้นกระจายทั่วตัว ในเด็กเล็กอาจมีภาวะปอดบวมแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีแผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนตามแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยกรมควบคุมโรคได้มีการลงพื้นที่เพื่อหารือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเรื่องกลยุทธ์การเร่งรัดฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายเด็ก จากการติดตามผลบริการฉีดวัคซีนภาพรวมได้ลดลงทุกวัคซีน เช่น ในเดือนตุลาคม 2565 พบความครอบคลุมการฉีดวัคซีนหัดเข็มที่ 1 เป็นร้อยละ 86 และเข็มที่ 2 เป็นร้อยละ 82 ซึ่งได้ลดลงจากปี 2562 ซึ่งพบความครอบคลุมการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ร้อยละ 92 และเข็มที่ 2 ร้อยละ 90 ตามลำดับ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการเนื่องจากโรคหัดเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่เกิดการแพร่เชื้อได้ง่ายมากและจะเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากมีการติดเชื้อในกลุ่มเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมด้านวัคซีนป้องกันโรคหัดไว้แล้ว โดย สปสช. จะเป็นผู้สนับสนุนวัคซีนหัดในเด็กเล็ก ซึ่งสามารถรับวัคซีนเข็มที่ 1 ได้เมื่ออายุ 9 เดือน และรับวัคซีนเข็มที่ 2 ได้เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้สนับสนุนวัคซีนหัดในผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ทุกกลุ่มเป้าหมายสามารถติดต่อขอรับบริการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ศาสตราจารย์แพทย์หญิงธันยวีร์ ภูธนกิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ได้กล่าวว่า ไวรัสโรคหัดติดต่อได้ง่ายมาก ผ่านได้ทั้งทางฝอยละอองขนาดเล็กที่ฟุ้งในอากาศและการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย อาการแสดงของโรคหัดจะเริ่มจากไข้ ตาแดง ไอ ต่อมาผื่นแดงขึ้นกระจายทั่วตัว ในเด็กเล็กอาจมีภาวะปอดบวมแทรกซ้อน การรับวัคซีนโรคหัดเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด โดยกระทรวงสาธารณสุข มีวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ให้กับเด็กทุกคน โดยเริ่มฉีดเข็มแรกได้ตั้งแต่ อายุ 9 เดือนขึ้นไป ซึ่งการได้รับวัคซีนครบสองเข็มจะป้องกันโรคหัดได้มากกว่าร้อยละ 97 จึงขอเชิญชวนให้พ่อแม่ผู้ปกครองนำบุตรหลานมารับวัคซีนให้ครบตามกำหนด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org