ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ธนาคารกรุงไทย ร่วมมือ กรมบัญชีกลาง  พัฒนาระบบการเบิกจ่ายตรง "สวัสดิการพยาบาล ค่ารักษาพยาบาล สิทธิข้าราชการ" เข้ากระเป๋าสุขภาพแบบเรียลไทม์ ผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ขณะนี้ใช้งานได้แล้ว 6 แห่ง เร่งขยายผลให้ครอบคลุมสถานพยาบาลทั่วประเทศ 1,300 แห่ง ภายในปี 2567 เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และแม่นยำ

วันที่ 20 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00 - 10.15 น. ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 ชั้น 4 สำนักปลัดกระทรวงการคลัง แถลงข่าวความร่วมมือ "โครงการเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ผ่านกระเป๋าสุขภาพ" ระหว่างกรมบัญชีกลาง ธนาคารกรุงไทย และโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และ นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง ร่วมด้วย 

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ร่วมมือกรมบัญชีกลาง ยกระดับการให้บริการการใช้สิทธิ เบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และบริการชำระค่ารักษาพยาบาลผ่านกระเป๋าสุขภาพ บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารถตรวจสอบและเบิกจ่ายตรงได้แบบเรียลไทม์ พร้อมเชื่อมต่อระบบโรงพยาบาลกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ ผ่าน Application Programming Interface (API)

สำหรับโครงการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ผ่านกระเป๋าสุขภาพนี้ ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัดกรมการแพทย์ สังกัดกระทรวงกลาโหม สังกัดกรุงเทพมหานคร และสังกัดกระทรวงอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมโครงการ โดยมี 6 โรงพยาบาลนำร่องที่พร้อมให้บริการได้ในปี 65 ได้แก่ 1. คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 2. โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 3. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 4. โรงพยาบาลสระบุรี 5. โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 6. โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า

ความร่วมมือในครั้งนี้ สอดคล้องกับแผนงานด้านการรักษาพยาบาลและสุขภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 Ecosystems หลักของธนาคาร โดยร่วมกับกรมบัญชีกลางและโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ยกระดับบริการด้านสาธารณสุขให้กับข้าราชการของประเทศ เชื่อมต่อข้อมูลให้สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการแบบเรียลไทม์ผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งเป็น Thailand Open Digital Platform ที่พัฒนา โดยบริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย

เพื่อรองรับผู้มีสิทธิในระบบเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ภายใต้กรมบัญชีกลาง ทั้งข้าราชการปัจจุบัน ข้าราชการเกษียณอายุ รวมถึงบุคคลในครอบครัว ที่มีอยู่กว่า 4.7 ล้านคนทั่วประเทศ และ นำระบบยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) มาช่วยในการยืนยันตัวตนให้กับผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และ แม่นยำ

ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ปัจจุบันสถานพยาบาลของทางราชการหลายแห่งได้พัฒนาระบบบริการของสถานพยาบาลโดยนำแอปพลิเคชัน (Application) มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ เพิ่มมากขึ้น กรมบัญชีกลางเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการให้บริการของระบบเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลข้าราชการประเภทผู้ป่วยนอก จึงได้พัฒนาระบบเบิกจ่ายตรงให้สามารถทำธุรกรรมเบิกจ่ายตรงผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว ลดการรอคิวในการทำธุรกรรม ณ จุดชำระเงินของสถานพยาบาล

โดยจะดำเนินการเป็นโครงการนำร่องกับสถานพยาบาลของทางราชการ จำนวน 21 แห่ง ซึ่งขณะนี้มีสถานพยาบาลที่พร้อมให้บริการ จำนวน 6 แห่ง คือ 1. โรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 2. โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 3. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 4. โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ 5. โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ 6. โรงพยาบาลสระบุรี  โดยกรมบัญชีกลางจะเร่งขยายผลให้ครอบคลุมสถานพยาบาลทั่วประเทศต่อไป 

กรมบัญชีกลางยกระดับการให้บริการด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลโดยนำเทคโนโลยี Mobile Application มาเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวในการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล โดยได้ดำเนินโครงการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ผ่านกระเป๋าสุขภาพ ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกรมบัญชีกลางกับธนาคารกรุงไทย

นอกจากนี้กรมบัญชีกลางยังมีแผนที่จะพัฒนาต่อยอดการดำเนินการ โดยขยายขอบเขตการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงผ่านแอปพลิเคชัน ให้ครอบคลุมไปถึงการให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยทางไกล หรือ Telemedicine รองรับกับแนวโน้มการให้บริการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อมุ่งสู่องค์กรดิจิทัลและการให้บริการที่เป็นเลิศและยกระดับการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการให้มีความทันสมัยและมีการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

สำหรับสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในทางระบบสารสนเทศ หากประสงค์จะเข้าเป็นสถานพยาบาลนำร่องเพิ่มเติม จะต้องดำเนินการขออนุญาตกับกรมบัญชีกลางเป็นรายกรณีก่อนเริ่มดำเนินการ โดยผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลนำร่องและดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th หัวข้อ รักษาพยาบาล/ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล