ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความจริงของ เนื้องอกในมดลูก 

กระแสข่าวในสื่อออนไลน์ว่า สาเหตุของ เนื้องอกในมดลูก เกิดจากเลือดเกาะตัวเป็นลิ่มเลือด ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันแล้วว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องไม่จริง อีกทั้งสาเหตุของการเกิด เนื้องอกในมดลูก ยังไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน 

อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เนื้องอกในมดลูก มีปัจจัยที่เป็นไปได้จากฮอร์โมนเพศของเพศหญิง ตัวเร่งการเจริญเติบโตที่มีในร่างกาย (growth factor) หรือแม้แต่พันธุกรรม ภาวะเนื้องอกในมดลูก ไม่เกี่ยวกับการมีพิษเย็น เลือดเกาะตัวเป็นลิ่มเลือด หรือเลือดเป็นพิษ 

วัยไหนเสี่ยง เนื้องอกในมดลูก 

ช่วงวัยของผู้หญิงที่เสี่ยงต่อ เนื้องอกในมดลูก จะอยู่ที่ช่วงอายุ 30 -45 ปี โดยลักษณะ เนื้องอกในมดลูก จะเป็นก้อนเนื้อที่เจริญเติบโตผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายในมดลูกเท่านั้น แต่เนื้องอกมดลูกยังพบได้ที่ผิวด้านนอกผนังมดลูก อยู่ในเนื้อมดลูก หรืออยู่ในโพรงมดลูก 

อาการต้องสงสัย เนื้องอกในมดลูก ลักษณะอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ขนาด หรือจำนวนของเนื้องอก 

ผู้ที่มีภาวะเนื้องอกมดลูก อาจมีอาการหรือไม่ก็ได้ 

  • รู้สึกแน่นหรือปวดบริเวณท้องน้อย 
  • ปวดประจำเดือน
  • ประจำเดือนมากกว่าปกติ 
  • เลือดออกผิดปกติ 
  • คลำก้อนได้ที่ท้อง
  • ท้องน้อยมีขนาดโตขึ้น 
  • ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะลำบาก 
  • ปวดหลัง 
  • ปวดขา 
  • ท้องผูก 

หากมีอาการที่ต้องสงสัยว่าเป็น เนื้องอกในมดลูก อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปตรวจอย่างละเอียด ทั้งนี้ เนื้องอกที่พบส่วนใหญ่ไม่ใช่เนื้อร้าย ความอันตรายของ เนื้องอกในมดลูก คือ เนื้องอกขนาดใหญ่ ไปอยู่ในบริเวณที่มีผลต่อการทำงานของอวัยวะส่วนอื่น เช่น เนื้องอกมดลูกบางตำแหน่งไปเบียดกระเพาะปัสสาวะจะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นแต่ออกไม่มาก หรือประจำเดือนมากกว่าปกติจนเกิดภาวะซีดรุนแรงหรือเรื้อรัง 

"เนื้องอกในมดลูก เกิดจากเลือดเกาะตัวเป็นลิ่มเลือด เป็นเรื่องไม่จริง"

การวินิจฉัย เนื้องอกในมดลูก

ปัจจุบันการวินิจฉัยของแพทย์ทำได้โดยการตรวจภายใน ยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ถ้าตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรกที่เนื้องอกยังมีขนาดเล็ก การรักษาก็จะทำได้ง่ายกว่า

การรักษา เนื้องอกในมดลูก

แพทย์จะรักษาตามอาการของผู้ป่วย ลักษณะของเนื้องอก อัตราการเติบโตของเนื้องอก ซึ่งต้องดูประกอบกับปัจจัยอื่น ทั้งอายุ และความต้องการในการมีลูก บางรายใช้ยาฮอร์โมน ทำการรักษาโดยการผ่าตัดเนื้องอกออก หรือต้องตัดมดลูกออกสำหรับบางกรณี เช่น ผู้ที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่มาก มีเลือดออกมาก อย่างไรก็ตาม การฟอกเลือดที่มดลูก ไม่ช่วยให้ขนาดก้อนลดลง และยังไม่มีการรักษาด้วยวิธีนี้อีกด้วย 

การตรวจวินิจฉัยและการรักษา เนื้องอกในมดลูก จำเป็นต้องอาศัยความรู้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากต้องการป้องกัน เนื้องอกในมดลูก ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด อาจจะเพิ่มการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูกได้ จึงต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด และผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจภายในอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูก

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง