ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ด้วยความตั้งใจจะสร้างประโยชน์ให้ถิ่นฐานบ้านเกิด ธมนธร มุมบ้านเซ่า จึงหันหลังให้กับอาชีพพนักงานออฟฟิสในเมืองใหญ่อย่างจังหวัดภูเก็ต นำความรู้และประสบการณ์จากการทำงานเป็น Sales & Marketing มาช่วยสื่อสาร ทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี จนได้รับรางวัลอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ดีเด่นระดับชาติ ประจำปี 2566 สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ

          “ตอนแรกไม่คิดว่าอสม.จะมีความสำคัญต่อระบบสาธารณสุขขนาดนี้ แต่พอได้เข้ามาจริงๆ เข้าใจเลยว่ามีส่วนสำคัญมาก เพราะด้วยเจ้าหน้าที่ที่มีน้อย คงไม่สามารถดูแลประชาชนหมู่บ้านละ 20-40 ครัวเรือนอย่างทั่วถึงได้” ธมนธร ในวัย 55 ปี กล่าวถึงบทบาทของอสม.

          ก่อนจะผันตัวมาทำหน้าที่อสม. สถานีอนามัย(สอน.)เฉลิมพระเกียรติบางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เธอทำงานอยู่ในเมืองใหญ่กับบริษัท ภูเก็ตแฟนตาซี จนกระทั่งคุณพ่อเสียชีวิตเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เป็นจุดเปลี่ยนให้ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อกลับมาอยู่บ้านดูแลคุณแม่ที่อายุมากแล้วและอยู่คนเดียว

          ธมนธร เล่าว่าหลังกลับมาอยู่บ้าน มีอสม.ในพื้นที่มาชักชวนให้เข้ามาช่วยทำหน้าที่เพราะเริ่มจะดูแลไม่ไหว ด้วยพื้นฐานอยากทำงานจิตอาสาและมีความสนใจด้านสุขภาพอยู่แล้ว จึงตอบรับเข้าร่วมเป็นสมาชิกอสม.ของหมู่ 7 รับผิดชอบประมาณ 26 ครัวเรือน

          “เข้ามาทำได้ 2 ปีก็มีงานคุ้มครองผู้บริโภค มีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11/1 ภูเก็ต เป็นพี่เลี้ยง อบรมให้เป็นอสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ในครั้งแรก เป็นหน้าด่านดูแลงานคุ้มครองทั้งหมด”

          ภาระกิจหลักๆ คือการลงพื้นที่ตลาด แผงลอย ร้านค้า ร้านขายของชำ เพื่อสุ่มตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร โดยมีชุดทดสอบแบบง่ายที่ทราบผลได้ในทันทีว่าอาหารชนิดใดมีสารปนเปื้อน เช่น สารบอแรกซ์ สารฟอกขาว สารโพลาร์ เป็นต้น อยู่หรือไม่ หากตรวจพบก็จะแจ้งร้านนั้นๆ พร้อมให้คำแนะนำ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและตัวผู้ขายเอง รวมทั้งรณรงค์ให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญของการกินดีอยู่ดี มีความปลอดภัย โดยมีสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ บางม่วง สาธารณสุขอ.ตะกั่วป่า เป็นพี่เลี้ยงในการดูแล

          อสม.ดีเด่นระดับชาติคนแรกของอ.ตะกั่วป่า เล่าว่าบางครั้งร้านค้าต่างๆ ก็ไม่มีความรู้และยังไม่ได้ตระหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าที่ควร เป็นหน้าที่ของอสม.ที่จะต้องสื่อสารให้ชาวบ้านตระหนักถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ เพราะการบริโภคเป็นพื้นฐานสำคัญในชีวิต การเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยเพื่อสุขภาพที่ดี จะช่วยให้ทุกคนปราศจากโรคภัย กินดีอยู่ดี และพัฒนาไปสู่สังคมที่มีความสุข

          จากประสบการณ์การทำงานด้านการตลาดมาหลายปี เธอไม่เพียงนำความรู้และความถนัดในเรื่องการประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่ในฐานะแอดมินเพจอสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน สอน.เฉลิมพระเกียรติฯ บางม่วง แต่ยังพยายามนำเทคโนโลยี เช่น การใช้โซเชียลมีเดียและแอพลิเคชั่นต่างๆ เข้ามาช่วยในการสื่อสารกับชาวบ้าน เพื่อการรับรู้ข้อมูลอย่างถูกต้อง รวดเร็วและทั่วถึง รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมเพื่อเป็นต้นแบบและศูนย์เรียนรู้ในชุมชน

          หนึ่งในนั้นคือการรณรงค์และส่งเสริมให้ชาวบ้านกินผักปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพที่ดี พร้อมพัฒนาสวนผลไม้ผสมของคุณแม่และร้านขนมจีนของตัวเอง (ขนมจีนผักลอยน้ำสวนอาม่า) เป็นร้านอาหารต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ในชุมชนด้านการบริโภคผักปลอดภัย ด้วยการปลูกผักกินเองโดยไม่ใช้สารเคมี ทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากเศษผักและผลไม้ ตลอดจนคิดค้นนวัตกรรมขนมจีนผักลอยน้ำเพื่อความสะอาดถูกหลักอนามัย โดยการนำผักเครื่องเคียงมาใส่กล่องปิดฝามิดชิด ใส่ในรางน้ำให้วนมาตรงหน้า ไร้ปัญหาแมลงวันและไม่ถูกสุขลักษณะสำหรับคนมากินที่ทีหลัง

          นอกจากนี้ยังจัดทำโครงการ ‘More healthy, More income, More happiness’ ที่จุดสตรีทฟู้ด แหล่งท่องเที่ยว หาดบางสัก รณรงค์และสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารเพื่อหาสารปนเปื้อน โดย Mobile Unit  ร่วมกับเจ้าหน้าที่สอน.บางม่วง อบต.บางม่วง และ สสอ.ตะกั่วป่า อย่างต่อเนื่องเดือนละครั้ง โดยเฉพาะการใช้น้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งสารก่อมะเร็ง พร้อมให้คำแนะนำและสร้างความตระหนักรู้ให้กับพ่อค้าแม่ค้าและผู้บริโภค รวมทั้งอบรมให้ความรู้ อย.น้อย กับเยาวชนในพื้นที่ตำบลบางม่วงและแกนนำเยาวชนในอ.ตะกั่วป่า

          ธมนธร เผยถึงแนวคิดในการทำงานว่า ยึดหลัก 3 ต. คือ ตระหนัก ตื่นรู้ และตรวจตรา โดยเน้นการสื่อสารให้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งไม่เพียงต้องเผชิญกับกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) แต่ยังเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าจากการอยู่บ้านเฉยๆ รู้สึกเหมือนไร้คุณค่า เป็นที่มาของการเตรียมจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อทำให้เขารู้ว่ายังมีคุณค่าและศักยภาพอยู่

          ตลอด 9 ปีของการทำหน้าที่อสม. ธมนธร ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการสื่อสารอย่างเข้าใจ เข้าถึงในแบบฉบับอสม.4.0 ช่วยให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงน้อยมาก ขณะที่การประเมินกลุ่มตัวอย่าง ระยะเวลา 1 ปีล่าสุดพบว่า พ่อค้าแม่ค้าและประชาชนผู้ซื้อสินค้ามีความตระหนัก มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น ร้อยละ 86.67 และผลการทดสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชน ปี 2565 พบสารปนเปื้อนร้อยละ 0.68

          รองประธานอสม.ระดับหมู่บ้าน บอกว่าการเป็นอสม.ที่ดีคือการพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดร่วมกับภาคีเครือข่าย และไม่หยุดพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ทั้งในด้านความรู้และการใช้เทคโนโลยี เพื่อสร้างประโยชน์ให้ชุมชนมากที่สุด พร้อมตั้งเป้าจะพัฒนาโครงการและเป็นต้นแบบเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีในชุมชนไปจนกว่าจะทำไม่ไหว เพราะการได้ทำบุญกับคน โดยการดูแลเรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี หายจากอาการเจ็บป่วย ซึมเศร้า แค่นั้นก็มีความสุขแล้ว

          “แต่สิ่งที่อยากเห็นคือ การจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มศักยภาพของอสม. พัฒนาองค์ความรู้ในทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องสุขภาพ การสื่อสาร เทคโนโลยี เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขไทยให้ดียิ่งขึ้น และสวัสดิการสำหรับ อสม. ในเมื่ออสม.ทำงานให้กับสาธารณสุขที่เป็นองค์กรด้านสุขภาพโดยตรง ก็ควรได้รับการดูแลเมื่อยามแก่ตัวลง ไม่ใช่ถูกทอดทิ้ง” ธมนธร ทิ้งท้าย