ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 เผย สถานการณ์การระบาดโรคทางเดินอาหารและน้ำในจังหวัดภูเก็ต พบผู้ป่วยใน 3 อำเภอ ส่งเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำและน้ำแข็งส่งตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียม ยา เวชภัณฑ์ และเตียงให้พร้อมรองรับผู้ป่วย แนะประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ป้องกันการติดและแพร่เชื้อ

วันที่ 9 มิถุนายน 2566 นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 เปิดเผยความคืบหน้ากรณีเกิดการระบาดของโรคทางเดินอาหารและน้ำ ในจังหวัดภูเก็ต ว่า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้ส่งทีมควบคุมโรคออกสอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมาช พบมีผู้ป่วยตั้งแต่ วันที่ 6-8 มิถุนายน 2566 เข้ารับบริการในโรงพยาบาลภาครัฐแต่ละแห่ง เฉลี่ย 50 ราย/วัน โรงพยาบาลเอกชนเฉลี่ย 100 ราย/วัน กระจายหลายกลุ่มอายุ ในหลายพื้นที่ทั้ง อำเภอเมือง กะทู้ ถลาง รวมทั้งพบนักเรียนป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงกระจายในหลายโรงเรียน

โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้าโรงพยาบาลมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย และบางรายมีไข้ แต่ไม่พบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ทั้งประวัติอาหารและความเชื่อมโยง จึงมีการเก็บตัวอย่างจากน้ำแข็ง น้ำใช้ อาเจียนและอุจจาระผู้ป่วย เพื่อส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผล 

นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ยังได้ส่งเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจสอบเฝ้าระวังความปลอดภัย ณ สถานที่ผลิตน้ำดื่มและน้ำแข็ง ในเขตตำบลวิชิตและตำบลฉลอง เพื่อตรวจสอบกระบวนการฆ่าเชื้อและการควบคุมกระบวนการผลิต กวดขันผู้ประกอบการในพื้นที่เกี่ยวกับสุขลักษณะที่ดีของพนักงานในกระบวนการผลิต และควบคุมไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในขั้นตอนการขนส่งน้ำแข็ง เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อ และเฝ้าระวังมาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร ทั้งร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร ตลาดสด ตลาดนัด และอาหารริมบาทวิถี

พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในพื้นที่ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่ายหรือสัมผัสสิ่งสกปรก กรณีที่ป่วยให้หยุดงาน หยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ในส่วนของสถานศึกษา ให้เน้นมาตรการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน เพิ่มความเข้มข้นและความถี่ในการทำความสะอาดจุดเสี่ยงในโรงเรียนเพื่อฆ่าเชื้อก่อโรค ขณะเดียวกันได้กำชับโรงพยาบาลทุกแห่ง เตรียมยา เวชภัณฑ์ และเตียงให้พร้อมรองรับผู้ป่วย รวมทั้งมอบหมายให้ อสม. เฝ้าระวังผู้ป่วยที่อาจเกิดขึ้นในชุมชน
 
ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) โรคอุจจาระร่วง วางแผนการควบคุมการระบาดร่วมกับกองระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ทีมสอบสวนควบคุมโรคจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามประเมินมาตรฐานและเก็บตัวอย่างน้ำในโรงงานน้ำดื่ม น้ำแข็ง และตรวจเยี่ยมโรงเรียนที่พบผู้ป่วยเพื่อค้นหานักเรียนที่ป่วยเพิ่มเติม รวมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำ อาหารและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่มีความเสี่ยงต่อการก่อโรค

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง