ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง” ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล เผยกรณีสธ.และ 4 ชมรมสาธารณสุข เสนอทบทวนหลักสูตรแพทย์เพิ่มพูนทักษะจาก 6+1 ปี เป็น 7 ปี ถือเป็นการแก้ปัญหาภาระงานแบบถอยหลัง ไม่ตรงจุด ควรดูข้อจำกัดของปัญหา ทั้งบุคลากร งบประมาณ ซึ่งพรรคให้ความสำคัญ เสนอแนวทางแล้ว

 

พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยแนวทางยกเลิกหลักสูตร “เพิ่มพูนทักษะ” 6+1 ปี

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่โรงแรมเดอะ ฮอลล์ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข หารือร่วม 4 ชมรมในกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้มีการปรับหลักสูตรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ จาก 6+1 ปี เป็น 7 ปี เพื่อปฏิบัติงานจริงได้ทันที ภายในงาน”วันไข้เลือดออก” ซึ่งได้รับเชิญให้มาพูดในการเสวนาด้วยนั้น โดยให้สัมภาษณ์ว่า การแก้ไขปัญหาภาระงานของแพทย์ด้วยการให้แพทย์เรียน 7 ปี ตนมองว่าเป็นถอยหลัง เพราะไทยเคยมีระบบการบังคับเรียนหมอ 7 ปีมาแล้ว ซึ่งเดิมโรงเรียนแพทย์ก็เคยปรับการเรียนหมอจาก 4 ปีเป็น 5, 6 และ 7 ปี แล้วก็ถอยกลับมาเหลือ 6 ปี ฉะนั้น เราเคยประสบปัญหานี้ และมีแนวทางแก้ไขแบบนั้นไปแล้ว ตนจึงมองว่าไม่ควรจะย้อนกลับไปสู่อดีตด้วยการเรียนหมอ 7 ปี

เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เหมือนกำปั้นทุบดิน

“ควรต้องมาดูว่าเรื่องนี้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ ถ้าจะพูดว่าหมอเรียน 6 ปีแล้วมาอยู่เป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะ 1 ปี  แล้วลาออกเยอะ ก็เลยบังคับเรียน 7 ปี เพื่อให้ลาออกไม่ได้ ก็เหมือนกำปั้นทุบดิน เพราะท้ายที่สุดเขาก็จะไปลาออกในปีที่ 8 อยู่ดี ดังนั้น ถ้าหาต้นตอปัญหาไม่ได้ ก็จะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด แล้วจะไปบังคับเรียนต่อไป เพราะถ้าคนลาออกเลยบังคับเรียน 7 ปี ถ้ามีคนออกปีที่ 8 ก็จะบังคับให้เรียน 8 ปีหรือไม่ แล้วไปลาออกในปีที่ 9 แล้วไปบังคับให้เรียน 9 ปีหรือไม่ ดังนั้น ผมคิดว่าการแก้ไขปัญหาจึงไม่สอดคล้องเท่าไหร่” นพ.วาโย กล่าว

 

นพ.วาโย กล่าวต่อว่า ต้องกลับมาดูว่าข้อจำกัดของปัญหาอยู่ตรงไหน ทั้งบุคลากร งบประมาณ ซึ่งเรื่องนี้พรรคก้าวไกลเคยเสนอไปแล้ว หรือเรื่องข้อจำกัดของภาระงาน ที่เยอะขึ้นก็ต้องดูว่าจะแก้ไขอย่างไร ตนจึงไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ กำปั้นทุบดิน และย้อนกลับไปอดีต ตนไม่เชื่อว่าแก้ปัญหาได้จริง จึงต้องไปหาต้นตอปัญหาและแก้ไขให้ได้

 

เมื่อถามว่าหากต้องเรียนหมอ 7 ปีจะทำให้จำนวนคนอยากเรียนหมอลดลงหรือไม่ นพ.วาโย กล่าวว่า สำหรับตนคิดว่าไม่ เพราะแม้ปัจจุบันมีการลาออกมากขึ้น แต่สัดส่วน อัตราแข่งขันในการเข้าเรียนหมอยังสูงอยู่ ฉะนั้น ทุกคนที่อยากเรียนรู้อยู่แล้วว่าเรียนหมอไม่ได้จบใน 6 ปี ยังต้องมีการเพิ่มพูนทักษะต่อ มีการชดใช้ทุนต่ออีก และมีการเรียนแพทย์เฉพาะทางต่อ หรือบางคนเรียนต่อในระดับปริญญาโท

แพทย์คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต

“การเป็นแพทย์แทบจะเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต เราถึงใช้คำว่า practice of medicine (เวชปฏิบัติ) คือคนที่ประกอบวิชาชีพด้วยการปฏิบัติไปเรื่อยๆ ดังนั้น การเรียน 6 7 8 ปี ผมว่าไม่ทำให้ความฮอต หรือค่านิยมของการเป็นแพทย์ลดลง แต่ว่าไม่ใช่การแก้ไขปัญหา” นพ.วาโย กล่าว

 

แพทย์แต่ละรุ่นแตกต่างกัน

เมื่อถามถึงมุมมองของแพทย์ในรุ่นเก่ากับรุ่นปัจจุบันต่างกันด้วยวิถีชีวิต แนวความคิด นพ.วาโย กล่าวว่า ก็ต้องยอมรับ เพราะคนละรุ่นก็จะแตกต่างกัน จะเอาบรรทัดฐานของสังคมในยุคนี้ไปเปรียบเทียบกับยุค 100 ปีที่แล้ว คงไม่ได้ และด้วยไดนามิกของเจนเนเรชั่นเปลี่ยนแปลงทุกวัน

 

“หมอในกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ก็จะมีค่านิยมแบบหนึ่ง หมอเจนวายอย่างผมก็มีค่านิยมแบบหนึ่ง ปัจจุบันหมอก็เริ่มเป็นกลุ่มเจนแซดแล้ว ก็จะมีค่านิยมแบบหนึ่งที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องสมดุลการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work life balance) ค่อนข้างมาก ดังนั้น กฎระเบียบที่มีอยู่เดิม เป็นการเขียนด้วยมนุษย์ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยยึดสภาพของสังคมตามความเป็นจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัต เราจะบอกว่าคนในเจเนเรชั่นไหนเป็นปัญหา คงไม่ถูกต้อง ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนแปลงระบบ กฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับยุคสมัยเรื่อยๆ” นพ.วาโย กล่าว