ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เผยเชื้อไข้หวัดใหญ่คล้ายคลึงกับไข้หวัดทั่วไป อาจสับสนอาการ ในผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการรุนแรงจะพิจารณาให้ยาฆ่าไวรัส อยู่ที่การวินิจฉัยของแพทย์

จากกรณีแวดวงสาธารณสุขมีการแชร์ข้อมูลจากเพจ สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน และสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป โพสต์ลักษณะโรงพยาบาลขาดแคลนยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซึ่งใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ และโควิด19ในช่วงที่ผ่านมา โดยระบุว่าหลายรพ.เริ่มไม่เพียงพอ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน และประชาชนเริ่มผ่อนคลายสวมหน้ากากอนามัย ทำให้เสี่ยงป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ขณะที่มีแพทย์ออกมาระบุว่า การรักษาไข้หวัดใหญ่ไม่ได้รักษาด้วยยาโอเซลทามิเวียร์เท่านั้น แต่จะดูตามกลุ่มอาการ เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงเกิดข้อสงสัยว่า หากป่วยเป็นไข้หวัดต้องรักษาอย่างไร และจะแยกระหว่างไข้หวัดทั่วไป และไข้หวัดใหญ่ได้อย่างไร

ล่าสุดวันที่ 27 กันยายน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายเรื่องนี้ ว่า ไวรัสอินฟลูเอนซ่า (Influenza virus) สามารถจำแนกออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ ชนิดเอ บี ซีและดี โดยชนิดเอ และบี มักก่อให้เกิดไข้หวัดตามฤดูกาล ผู้ป่วยอาจมีอาการเริ่มต้นเหมือนไข้หวัดทั่วไป ( Common cold)  ส่วนใหญ่สามารถหายได้ใน 1-2 สัปดาห์แต่บางรายอาจมีความรุนแรงทำให้เกิดปอดอักเสบและเสียชีวิตได้โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะคล้ายคลึงกับไข้หวัดทั่วไปคือ ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม และการสัมผัสมือหรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ โทรศัพท์ ของเล่น รีโมทโทรทัศน์ เมื่อใช้มือมาขยี้ตา แคะจมูก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายของเราได้โดยง่าย 

ด้านนพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่มักแสดงอาการที่อาจทำให้ท่านสับสนกับไข้หวัดทั่วไป โดยอาการแสดงเด่น ๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ ไอแห้ง มีน้ำมูกใส คัดจมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้สูง อ่อนเพลีย โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที ทั้งนี้วิธีการรักษาส่วนใหญ่รักษาตามอาการเบื้องต้น เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ในผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการรุนแรงจะพิจารณาให้ยาฆ่าไวรัส (Antivirals) ซึ่งจะเข้าไปยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส  ทำไห้ลดระยะเวลาอาการเจ็บป่วย ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น  ความจำเป็นในการใช้ยานี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีความเสี่ยงสูงหรือมีความจำเป็นในการใช้

นพ.ภาณุวัฒน์ วงษ์กุหลาบ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถทำได้โดย หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร เป็นต้น ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หรือถ้าจำเป็นควรใส่หน้ากากอนามัย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนกลาง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เป็นต้น ที่สำคัญคือควรใส่หน้ากากอนามัยหากจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่แออัดหรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น โรงพยาบาล สถานีขนส่งสาธารณะ ห้างสรรพสินค้าหรือตลาดที่มีคนจำนวนมาก เป็นต้น

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง