ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เดินหน้านโยบาย Quick Win “50 เขต 50 รพ.”  นำร่องเขตดอนเมือง เตรียมลงพื้นที่แถวสีกัน 6 ต.ค.นี้ พร้อมคุยรพ.ทหารอากาศ(สีกัน) ถกความร่วมมือทำระยะแรกแบบผู้ป่วยนอกหรือ OPD  เบื้องต้นหากได้สถานที่จัดสร้างเป็นรพ. คาดใช้งบกว่า 500 ล้านบาท ดึงรพ.บ้านแพ้วร่วมกระบวนการ หวังอนาคตเป็นองค์การมหาชน

 

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม  นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินงานตามนโยบาย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ประกาศ Quick Win ทำ รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ. นำร่องเขตดอนเมืองในระยะเวลา 100 วัน ว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมพิจารณาการดำเนินงานตามนโยบายการจัดตั้ง รพ.เขตดอนเมือง ระยะที่ 1 ผู้ป่วยนอกเฉพาะทาง ซึ่งเป้าหมายเรา คือ การสร้าง รพ.เขตดอนเมืองขนาด 120 เตียง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหาที่ดินหาสถานที่ซึ่งยังไม่ได้ ระหว่างนี้เราก็จะหาสถานที่ที่มีอยู่และเปิดบริการเป็นผู้ป่วยนอกให้ได้ก่อน หรือไปเพิ่มบริการกับ รพ.เอกชนที่อยู่ใกล้ๆ แต่ก็พบว่าพื้นที่ดอนเมืองไม่มี รพ.เอกชนเลย มีเพียง รพ.ทหารอากาศ (สีกัน) แห่งเดียว จะมี รพ.เอกชนนอกเขตก็อีกด้านหนึ่งคือ รพ.มงกุฎวัฒนะ ซึ่งอยู่ในเขตหลักสี่ ทำให้เป็นเรื่องยาก หรือหากข้ามวิภาวดีมาถนนพหลโยธินเป็น รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กรมการแพทย์ทหารอากาศ

ถามว่าหากจะเพิ่มบริการผู้ป่วยนอกระยะที่ 1 ก่อน ก็อาจจะต้องเป็นที่ รพ.ทหารอากาศ (สีกัน) ใช่หรือไม่  นพ.ณัฐพงศ์กล่าวว่า ก็จะพยายามอยากให้เป็นตรงนั้น  เพราะตรงนั้นชุมชนมากกว่า และไปได้สะดวกกว่า จะต้องไม่ข้ามทางรถไฟมา เพราะจะติดวิภาวดีหนัก หรือหากอยู่แถวโลคัลโรด ซึ่งก็พยายามหาอาคารอยู่

จ่อคุยรพ.ทหารอากาศ(สีกัน) หวังให้บริการร่วมกันระยะแรก

ถามต่อว่าการหาพื้นที่สร้าง รพ.ใหม่ ลักษณะพื้นที่ต้องเป็นเช่นไรถึงจะรองรับการสร้าง รพ.ขนาด 120 เตียง  นพ.ณัฐพงศ์กล่าวว่า คิดว่าประมาณอย่างน้อย 10 ไร่ ควรจะต้องเป็นอย่างนั้น หากจะสร้างเป็นอาคารแบบถาวร แต่ถ้าชั่วคราวแบบโอพีดีก็เป็นพื้นที่ประมาณพันตารางเมตร เพื่อตรวจผู้ป่วยนอกก่อน ไม่มีผู้ป่วยในก็พอได้  ซึ่งพยายามดูอยู่ ศูนย์การค้าก็ไม่มี ก็กำลังไปคุยกับ รพ.ทหารอากาศ (สีกัน) เพื่อจะขยายบริการ ก็ยังต้องขอนัดเวลาคุยกันก่อน อย่างไรก็ตาม วันที่ 6 ต.ค. เราจะมีการลงไปดูพื้นที่บริเวณแถวสีกันเพิ่มเติม ใกล้ๆ รพ.ทหารอากาศ (สีกัน) แถวถนนนาวงประชาพัฒนา

ถามอีกว่าเช่นนี้จะทันต่อกำหนดเวลา 100 วันที่ รมว.สธ.ประกาศหรือไม่ ทั้งกรณีหาสถานที่จัดสร้างหรือการดีลเพื่อเปิดเป็นโอพีดีก่อน  นพ.ณัฐพงศ์กล่าวว่า เราพยายามรับประกันให้ได้ว่า ผู้ป่วยตรงนี้ในเขตดอนเมืองมี รพ.ที่ดูแลอย่างนี้เราต้องได้ คือเมื่อก่อนเขาไม่รู้ว่าคนดอนเมืองจะไป รพ.ไหน ไปแต่คลินิก หรือไปศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ของ กทม.ที่ดูแลในพื้นที่ ซึ่งก็เป็นแบบโอพีดี เราจะหาให้ได้ แต่อาจจะไม่ใช่เขตดอนเมือง ก็อาจจะเป็นเขตใกล้ๆ เช่น ต้องไปขอ รพ.มงกุฎวัฒนะ ขอ รพ.วิภาวดี หรือขอ รพ.ภูมิพล ที่จะต้องรับเป็น รพ.ให้ดูแลก่อน แบบนี้ได้ เราจะพยายามเปิดเป็นโอพีดีเท่าที่มีได้ เป็นโอพีดีเล็กๆ กระจายจุด น่าจะได้อยู่ แต่เป็น รพ.เลยที่ไปปักหลักเลยไมม่ง่าย กระบวนการที่ดีไม่ง่าย แต่มีอยู่ในแผนอยู่แล้ว ในระยะเวลา 3 ปี ต้องหาแล้วปักลงเสาให้ได้อยู่แล้วไม่มีปัญหา จริงๆ ถ้ามีพื้นที่ให้เราทำให้ได้

หากจัดสร้างเป็นรพ.คาดต้องใช้งบ 500 กว่าล้าน

ถามต่อถึงงบประมาณที่จะดำเนินการในการสร้าง รพ.หากมีสถานที่ชัดเจน  นพ.ณัฐพงศ์กล่าวว่า สธ.วางแผนตั้งงบประมาณ 500 กว่าล้านบาทเป็นการสร้าง รพ. แต่ยังไม่รู้สถานที่ ซึ่งแบบก็มีแล้ว ยกมาได้เลย ส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ไม่ยาก หากสร้าง รพ.เสร็จอุปกรณ์ก็ใช้เวลาจัดซื้อไม่นาน การสร้างยังต้องใช้เวลา 3 ปี หาที่ครึ่งปีกับโอนกิจการกับเปิดจัดซื้อจัดจ้าง กินเวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งปีหรือ 9 เดือน

ดึงรพ.บ้านแพ้วร่วมกระบวนการ หวังอนาคตเป็นองค์การมหาชน

ถามว่ากรณีที่ รมว.สธ.อยากให้ รพ.เขตดอนเมืองเป็นองค์การมหาชนเหมือน รพ.บ้านแพ้ว ตรงนี้ต้องเริ่มดำเนินการอย่างไร นพ.ณัฐพงศ์กล่าวว่า ตอนนี้ก็ให้ทาง รพ.บ้านแพ้วเข้ามาร่วมกระบวนการคิดตั้งแต่ต้นด้วย ถ้ามีที่เราอาจจะให้ รพ.บ้านแพ้วเปิดดำเนินการเลยก็ได้ ไม่ใช่เป็นตัวกระทรวงฯ ก็ได้ ซึ่งเขาก็มาช่วยอยู่ในกรรมการเรา การให้ รพ.บ้านแพ้วเข้ามาเป็นผู้บริหาร รพ.ก็อาจจะเป็นรูปแบบหนึ่ง จะเป็นกระทรวงฯหรือบ้านแพ้ว ก็ต้องไปดูว่า ลักษณะโครงสร้างหรือพื้นที่เป็นแบบไหน ถ้าได้อาคารเช่าเราก็บอกให้บ้านแพ้วมาเปิดอาคารเช่าเลยก็ได้ เพราะกระทรวงฯ จะไปลงทุนหรือสร้างในอาคารเช่าที่ดินเช่าไม่ได้ กระทรวงฯ ต้องลงทุนในที่ดินรัฐ เราก็แสวงหาความร่วมมือทุกภาคส่วน แต่เริ่มต้นว่าได้ที่ไหนอย่างไรที่เหมาะสม