ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เผยแนวทางวินิจฉัย ดูแลรักษา ผู้ป่วยไข้เลือดออก (ฉบับย่อ) พ.ศ. 2566 อัปเดตแนวทางวินิจฉัยผู้ป่วยสงสัย การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกเดงกี การวิจัยฉัยภาวะเดงกีช็อก  อาการ สัญญาณเตือน ระยะเวลาดำเนินโรค การดูแลรักษา เกณฑ์รับผู้ป่วยรักษาในรพ. การติดตามระยะวิกฤต ฯลฯ

 

เว็บไซต์กรมการแพทย์ เผยแพร่ “แนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษา ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก (ฉบับย่อ) พ.ศ. 2566”  Clinical Practice Guideline Dengue Hemorrhagic Fever (DHF) 2023 เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา  ซึ่งจัดทำโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งจากกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชนินี และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นการพัฒนาและปรับปรุงแนวทางการวินิจฉัยดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก(ฉบับย่อ) พ.ศ.2566 ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ให้เป็นปัจจุบัน

ทั้งนี้ คณะผู้จัดทำแนวทางระบุจุดเด่นของแนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก(ฉบับย่อ) พ.ศ.2566 นี้ ประกอบด้วย การตรวจคัดแยกผู้ป่วยที่มาด้วยไข้ในแผนกผู้ป่วยนอก โดยเน้นย้ำการตรวจ complete blood count(CBC) ในผู้ป่วยที่มีไข้มา 3 วัน การตรวจหาอาการ/อาการแสดงที่เป็นสัญญาณเตือน การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในแต่ละระยะการดำเนินโรคอย่างรวดเร็วและเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่อยู่ในระยะวิกฤต การวินิจฉัยภาวะช็อกและการหาสาเหตุของภาวะช็อกในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอย่างทันท่วงที

การให้สารน้ำทดแทนทางหลอดเลือดดำและการให้เลือดอย่างรวดเร็วและเหมาะสม ซึ่งผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เป็นผู้ใหญ่ มักมีภาวะเลือดออกผิดปกติมากกว่าในผู้ป่วยเด็ก การติดตามผลการรักษา รวมทั้งคำแนะนำสำหรัรบผู้ป่วยเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก การป้องกันการแพร่กระจายของโรค และอาการ/อาการแสดงที่เป็นสัญญาณเตือน ที่ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เนื่องจากการมาโรงพยาบาลล่าช้า เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

โดยคณะผู้จัดทำสำหรับปัจจุบันโรคไข้เลือดออกได้ถูกจัดเป็นหนึ่งในโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โรคไข้เลือดออกเดงกี มีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ การมีรั่วของพลาสมา และมีภาวะเลือดออกผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรค ลักษณะสำคัญ 2 ประกาศของผู้ป่วยมักเกิดขึ้นร่วมกัน แต่มีระดับความรุนแรงของโรคแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย

ผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออกที่รุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อน

ประกอบด้วย

-เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี

-สตรีตั้งครรภ์

-ผู้สูงอายุ

-ผู้ป่วยโรคอ้วน

-ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ โรคตับ โรคเลือด และโรคไต เป็นต้น

-ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด เป็นต้น

การวินิจฉัยผู้ป่วยที่สงสัยจะเป็นโรคไข้เลือดออก

ผู้ป่วยที่มีอาการไข้เฉียบพลัน 2-7 วัน ร่วมกับมีลักษณะอาการทางคลินิกและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างน้อย 2 ข้อ ดังนี้

1.ปวดศีรษะ

2.ปวดเบ้าตา

3.ปวดกล้ามเนื้อ

4.ปวดข้อหรือปวดกระดูก

5.ผื่นแดงบริเวณผิวหนัง

6.ภาวะเลือดออกผิดปกติ ได้แก่ มีผลการทดสอบด้วย tourniquet test ให้ผลบวก มีจุดเลือดออกตามตัว มีจ้ำเลือดบริเวณผิวหนัง มีเลือดกำเดาไหล มีอาเจียนเป็นเลือดสดหรือเป็นสีดำ มีถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสดหรือสีดำ มีปัสสาวะเป็นเลือดสด หรือน้ำตาลเข้ม และมีประจำเดือนมานอกรอบหรือมามากผิดปกติ เป็นต้น

7.ปริมาณเม็ดเลือดขาว(white blood cell count) ≤5,000 cells/ mm3 โดยมีเม็ดเลือดขาวชนิด atypical lymphocytes เพิ่่มขึ้้น

8.ค่าฮีมาโทคริต (hematocrit) เพิ่่มขึ้้น 5-10%

9.ปริมาณเกล็ดเลือด (platelet count) ≤150,000 /mm

การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกเดงกี  (Dengue hemorrhagic fever)

ไข้เลือดออกเดงกี หมายถึง ผู้ป่วยที่มีอาการไข้เฉียบพลันและสูงลอย 2-7 วัน ร่วมกับมีลักษณะอาการทางคลินิกและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยลักษณะอาการทางคลินิก มีภาวะเลือดออกผิดปกติ ตับดต มักกดเจ็บ ปวดท้อง หรืออาเจียน มีภาวะเดงกีช็อก

เกณฑ์การรับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสเดงกีหรือผู้ป่วยที่สงสัยจะเป็นไข้เลือดออกเดงกีไว้ในรพ.  

หากพบอาการแสดงเพียง 1 ข้อ เช่น รับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ อาเจียนมาก ปวดท้อง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หน้ามืด เป็นลม มีภาวะเลือดออกผิดปกติมมาก โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีประจำเดือนมามากกว่าปกติหรือมีประจำเดือนมานอกรอบ และผู้ป่วยที่มีปัสสาวะสีน้ำตาลเข้ม มีสีดำ หรือมีสีโค้ก มีภาวะเดงกีช็อก มีปริมาณเกล็ดเลือด ) ≤100,000 /mm และเริ่มมีการรั่วของพลาสมา เป็นต้น

 

ทั้งนี้ติดตามอ่านรายละเอียดแนวทางฯ ฉบับเต็มได้ตามไฟล์แนบ