ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เผยแนวโน้มผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ลดลง เตรียมพร้อมให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่กับผู้ให้บริการสาธารณะแก่นักท่องเที่ยว

วันนี้ (8 มกราคม 2567) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย มีแนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 ธันวาคม 2566 ยังคงมีรายงานผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง พบผู้ป่วย 472,222 ราย และพบผู้เสียชีวิต 29 ราย 

  • จังหวัดนครราชสีมา 8 ราย 
  • จังหวัดสุราษฎร์ธานี 3 ราย 
  • จังหวัดสงขลา กรุงเทพมหานคร เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ สุรินทร์ และตาก จังหวัดละ 2 ราย 
  • จังหวัดพิษณุโลก ชัยภูมิ ราชบุรี นครศรีธรรมราช ปทุมธานี และลำพูน จังหวัดละ 1 ราย 

ส่วนใหญ่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ระยอง รองลงมา คือ พะเยา ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 5 - 9 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 0 - 4 และกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่พบการระบาดในพื้นที่ที่เป็นเมืองใหญ่ และมีประชากรหนาแน่น เพื่อเป็นการลดการแพร่ระบาดของโรคเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว และส่งเสริมให้การท่องเที่ยวปลอดภัย
 
กระทรวงสาธารณสุขได้เห็นความสำคัญ จึงได้จัดหาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดเพิ่มเติม จำนวน 200,000 โดส ให้กับผู้ให้บริการสาธารณะแก่นักท่องเที่ยว ได้แก่ ผู้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น พนักงานขับรถแท็กซี่ พนักงานขับรถประจำทาง ผู้ให้บริการสถานที่พัก เช่น พนักงานโรงแรม โฮมสเตย์ อพาร์ทเม้นท์ เป็นต้น ผู้ประกอบการสถานบริการ เช่น ผับบาร์ คาราโอเกะ ร้านอาหาร นวดสปา หรือสถานที่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยว โดยนำร่องในพื้นที่ 31 จังหวัดนำร่องพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดโรคและภัยสุขภาพ ครอบคลุมทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ

นพ.ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางในการป้องกันควบคุมโรค โดยแนะนำให้ผู้ให้บริการสาธารณะแก่นักท่องเที่ยวรวมถึงประชาชนทั่วไปปฏิบัติตน ดังนี้ 

1. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือในกรณีที่มือไม่เปรอะเปื้อน 

2. ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น 

3. ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด 

4. กินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ นม ไข่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ และใช้ช้อนกลาง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 

5. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดี เป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น หากสงสัยป่วย แนะนำให้สวมหน้ากากทุกครั้ง เมื่อใกล้ชิดกลุ่ม 608 และเด็กเล็ก รวมทั้งเน้นกลุ่มเสี่ยง 608 สวมหน้ากากในที่สาธารณะ ผู้มีโรคเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับวัคซีนควรรีบเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน

6. เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวและสิ่งของที่มีคนสัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงพยาบาล สถานประกอบการ เป็นต้น

7. สำหรับสถานประกอบการต่างๆที่ให้บริการนักท่องเที่ยว ควรจัดเตรียมที่สำหรับล้างมือ หรือ เจลแอลกอฮอล์ ไว้ให้นักท่องเที่ยว และหมั่นทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ที่มีการสัมผัสร่วมกันเป็นจำนวนมาก เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น

หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หายใจลำบาก และอาจทำให้เสียชีวิตได้  ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422