ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.หนุนกรมสุขภาพจิต-กรมการแพทย์ พัฒนาระบบบริการผู้ป่วยสุขภาพจิต ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด จังหวัดอุดรธานี และเขตสุขภาพที่ 8 เต็มรูปแบบ ด้านการบริการ การบริหาร วิชาการ และบุคลากร เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ก่อนกลับคืนสู่สังคม

วันนี้ (10 มกราคม 2567) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการให้บริการจิตเวชในจังหวัดอุดรธานี ระหว่าง นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กับ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นสักขีพยาน 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนผู้ป่วยเป็นผู้เสพ” ซึ่งตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการบำบัดและฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ให้ได้รับการดูแลอย่างครบวงจร จึงได้กำหนดเป็นประเด็นเร่งด่วน (Quick Win) ที่ต้องดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมใน 100 วัน โดยมีการจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ใน 76 จังหวัด ขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว 73 จังหวัด รวม 128 โรงพยาบาล จำนวน 1,837 เตียง และมีการเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และกลุ่มงานจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชน ครบทุกแห่ง

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า การลงนามความร่วมมือการให้บริการจิตเวชในจังหวัดอุดรธานี โดยกรมสุขภาพจิตและกรมการแพทย์ในครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ศักยภาพของกรมวิชาการทั้ง 2 กรม มาร่วมมือพัฒนาทั้งด้านบริการ บริหาร วิชาการ และด้านอื่นๆ ในจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 8 ให้มีโรงพยาบาลที่รองรับการให้บริการด้านปัญหาสุขภาพจิต ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดได้ทุกระดับความรุนแรง โดยกรมสุขภาพจิต จะให้การสนับสนุนบุคลากรด้านจิตเวช ได้แก่ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช และอื่น ๆ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวช ส่วนกรมการแพทย์ จะสนับสนุนให้ใช้พื้นที่ของโรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี มาพัฒนาเพื่อให้สามารถรองรับการบริการผู้ป่วยจิตเวชได้อย่างเหมาะสม

“ในเรื่องของการดูแลด้านจิตเวชและยาเสพติด ภารกิจของกรมสุขภาพจิตและกรมการแพทย์ค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน เมื่อมีความร่วมมือกันในการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยด้านนี้ จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ที่ติดยาเสพติดได้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย” นพ.ชลน่าน กล่าว