ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คลินิกเวชกรรมแพทย์อรวรรณ เผย ’30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรปชช.ใบเดียว’ ช่วยให้ประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท รักษาอาการเจ็บป่วยนอกเวลาราชการได้ ลดความแออัดใน รพ.

วันที่ 14 ก.พ. 2567 พญ.อรวรรณ ตะเวทิพงศ์ แพทย์ประจำคลินิกเวชกรรมแพทย์อรวรรณ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เปิดเผยถึงการที่คลินิกฯ เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในจังหวัดนำร่อง (เพชรบุรี) ตามนโยบาย “ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ว่า นโยบายดังกล่าวได้ช่วยเปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบในพื้นที่ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) และผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาททั้งในพื้นที่และไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหน เมื่อเดินทางมาที่ จ.เพชรบุรี สามารถรับบริการการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยนอกเวลาราชการได้ที่คลินิกฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงแค่พกบัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้น 

รวมถึงยังเป็นการทำให้คลินิกฯ ซึ่งเป็นภาคเอกชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายการให้บริการในระดับปฐมภูมิ เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในชุมชนมากขึ้นด้วย โดยเหล่านี้จะเป็นการลดความแออัดในสถานพยาบาลปฐมภูมิของรัฐอย่าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) และที่สำคัญคือในโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่ประชาชนมักเลือกไปรับบริการ ทั้งที่อาการอาจจะไม่ได้หนักหรือร้ายแรงมาก 

พญ.อรวรรณ กล่าวว่า สำหรับการรับบริการก็สะดวกและไม่ยุ่งยากซับซ้อน โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1. ยื่นบัตรประชาชน เพื่อตรวจสอบสิทธิการรักษา และยืนยันตัวตนในการเข้ารับบริการ 2. คัดกรองเบื้องต้น 3. รับการตรวจรักษา 4. รับยา และ 5. ยืนยันตัวตนหลังรับบริการ โดยในกระบวนการเหล่านี้จะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ไม่มีการใช้เอกสารใดๆ ทั้งสิ้นที่เป็นกระดาษ 

 “ส่วนการส่งต่อทางคลินิกฯ ก็สามารถที่จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว เพราะจะเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในแอปพลิเคชัน หรือส่งผ่านระบบข้อมูลให้คนไข้สามารถไปที่โรงพยาบาลรับส่งต่อได้เลยก็ได้เช่นกัน

“ข้อมูลสุขภาพและการดูแลรักษาทุกอย่างของคนไข้ จะถูกบันทึกในระบบเดียวกับสถานพยาบาลอื่นๆ ที่เข้าร่วมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งถ้าหากคนไข้มีแอปฯ หมอพร้อม ข้อมูลก็จะแสดงบนแอปฯ ให้ด้วย” พญ.อรวรรณ ระบุ

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คลินิกเวชกรรม เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ที่ สปสช. พยายามจะเชิญชวนให้มาเข้าร่วมโครงการฯ มากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาเติมเต็มระบบบริการ และช่วยลดความแออัดให้กับโรงพยาบาล 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในปี 2567 สปสช. ได้เตรียมดึงหน่วยบริการเอกชนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น คลินิกทันตกรรม คลินิกการพยาบาลฯ คลินิกเวชกรรม คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกกายภาพบำบัด และร้านยา เข้ามาในร่วมในระบบ รวมถึงจะขยายร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ โดยจะเพิ่มจำนวนร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 2,000 แห่ง ให้เป็น 5,000 แห่งภายในปี 2567 จากร้านยาที่มีทั้งหมดทั่วประเทศราว 1.5 หมื่นแห่ง 

“เชื่อว่าพี่น้องประชาชนไม่อยากวิ่งเข้าไปที่โรงพยาบาลใหญ่ แต่เขาสามารถเข้ามารับบริการเบื้องต้นได้ที่หน่วยบริการต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งประชาชนไม่ต้องกังวล เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลได้เชื่อมต่อกันหมดแล้ว หรือหากเกินศักยภาพก็จะมีระบบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งก็จะทราบข้อมูลการรักษาเบื้องต้น" เลขาธิการ สปสช. กล่าว