ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา   ยื่นหนังสือขอ “ลาออก” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ประกาศเป็นอาจารย์พิเศษ สาขาประสาทวิทยา โดยไม่รับค่าตอบแทน

 

เมื่อวันที่ 25 เมษายน  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา   ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha แจ้งถึงการลาออกจากตำแหน่ง หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ระบุว่า

เรียนทุกท่านครับ

เนื่องจากมีความกังวลจากองค์กร ว่าหมอเอง ทางสังคมมีการใช้ชื่อขององค์กรในการให้ความเห็น เรื่องของวัคซีน /เรื่องของไวรัสตัดต่อพันธุกรรม และเรื่องอื่นๆ

ดังนั้น หมอได้ ลาออกจากหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ แล้วครับ ในวันที่ 25/4 และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท ในฐานะกลุ่ม แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ที่เห็นชีวิตของประชาชนเป็นที่ตั้ง

(ยังคงเป็นอาจารย์พิเศษ สาขาประสาทวิทยา โดยไม่รับค่าตอบแทน)

 

ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด แจ้งเรื่องการขอลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว โดยส่งถึง รองผู้อำนวยการฯ ฝ่ายการแพทย์และวิจัย รพ.จุฬาลงกรณ์ ระบุใจความว่า

 

ด้วยกระผม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ตำแหน่งหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ตามคำสั่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  แต่งตั้งที่ 423/2564  ณ วันที่ 28 เม.ย.2564 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 จนถึง 30 เม.ย.2568 (วาระ 4 ปี) นั้น

ในการนี้ กระผม มีความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ฯ และขอสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.2567 และ ลาออก จึงเป็นผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป

คาดสาเหตุการลาออก

สำหรับสาเหตุของการลาออกครั้งนี้ เป็นไปได้ว่า อาจเกี่ยวข้องประเด็นที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์  ซึ่งเคยเป็นผอ.ศูนย์สุขภาพอุบัติใหม่ฯ  และเข้าร่วมโครงการกับองค์กรต่างประเทศตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่ได้ยุติโครงการเมื่อปี 2020 เนื่องจากพบว่าการศึกษาที่ผ่านมาศึกษาเชื้อไวรัสจากค้างคาว ซึ่งไม่ทราบชื่อ  เพื่อทำการถอดรหัสพันธุกรรมดูแนวโน้มว่าจะเกิดโรคได้หรือไม่  

 

โดยศ.นพ.ธีระวัฒน์ ในฐานะผอ.ศูนย์ขณะนั้น ได้มีการทำลายเชื้อในปี 2022  จากเหตุผลที่ว่า  ไม่พบประโยชน์ในการคาดคะเนว่าเชื้อจะเข้ามนุษย์ได้หรือไม่ และประการที่ 2 คือความสุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อในขณะที่ลงพื้นที่นำเชื้อมาศึกษา อาจติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ จึงกังวลว่าอาจจะมีการติดเชื้อในชุมชนและทั่วไปได้  แต่ส่งผลให้ รพ.จุฬาฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้น เนื่องจากมองว่า การทำลายเชื้อดังกล่าวไม่ได้แจ้งหน่วยงานก่อนได้รับอนุญาต

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “หมอธีระวัฒน์” เผยปมถูกตั้งคกก.สอบข้อเท็จจริงกรณียุติศึกษาไวรัสค้างคาว)

 

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ศ.นพ.ธีระวัฒน์  ออกมาให้ข้อมูลผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เกี่ยวกับพบข้อมูลการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยของผู้รับผลกระทบจากวัคซีนป้องกันโควิด19 ซึ่งหน่วยงานเกี่ยวข้องต่างๆ ออกมายืนยันว่า ไม่มีผลกระทบตามที่ระบุชัดเจน จึงอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุด้วยหรือไม่ ที่ทำให้ตัดสินใจลาออกครั้งนี้

นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ด้านโรคสมอง  "ค้างคาว พิษสุนัขบ้า"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เป็นที่รู้จักกันในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญโรคทางสมอง ทั้งโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน ทั้งค้างคาว และโรคพิษสุนัขบ้า  ซึ่งมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และได้รับรางวัลเกียรติประวัติอีกมากมาย

ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์  เริ่มเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2524 และจากความรู้ความเชี่ยวชาญยังได้รับดำรงตำแหน่งต่างๆ ทางวิชาการเกี่ยวกับโรคจากสัตว์สู่คน ทั้ง Member of WHO Expert Advirosy Panel on Rabies (ผู้เชี่ยวชาญโรคพิษสุนัขบ้าองค์การอนามัยโลก) และที่ปรึกษาโรคสมองอักเสบ องค์การอนามัยโลก ในปี 2533  และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกโรคพิษสุนัขบ้า สถานเสาวภา ระหว่างปี 2535-2537  และในปี 2543  ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ขณะที่ปี 2547 ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สมัยที่ นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล ปฏิบัติราชการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ปี พ.ศ. 2548 ตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการป้องกันโรคติดต่อจากค้างคาว ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้ง ยังเคยเป็นกรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ.2562-2564  และตำแหน่งอื่นๆ ในแวดวงวิชาการต่างๆ กระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ในปัจจุบัน