ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.-สปสช.ร่วมหารือเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ทั้งการเชื่อมข้อมูล ขจัดปัญหาอุปสรรค สร้างความเข้าใจพื้นที่ระบบ Financial Data Hub พร้อมเชิญชวนหน่วยนวัตกรรม ทั้งร้านยา คลินิกทันตกรรมเข้าโครงการเพิ่มเติม หลังจากปัจจุบันเข้าร่วมแล้วกว่า 50 % แต่ละจังหวัด

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)        ภายหลังการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ผู้สื่อข่าวสอบถามเรื่อง 30  บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว  กับ  นพ.จเด็จ  ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ว่า  เรื่องนี้ต้องสอบถามรัฐมนตรี แต่เรื่องนี้เป็นนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้  กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำหนดว่าแต่ละเฟสจะเดินหน้าอย่างไร และได้มีการกำหนดเฟสต่างๆมาก่อนตั้งแต่ต้นปี  2567 เนื่องจากเป็นผู้ปฏิบัติก็ต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อน  ส่วนนโยบายต่างๆคงต้องรอรัฐมนตรี

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในการหารือร่วมกับสธ.ในวันนี้เป็นการอัปเดตเรื่อง30 บาทรักษาทุกที่ ,การเชื่อมข้อมูล หรืออุปสรรคในพื้นที่ต่างๆ โดยสาระสำคัญคงเป็นเรื่อง เดินหน้า 30บาทรักษาทุกที่ในเฟสต่อไป และพื้นที่ที่ยังไม่ได้นำร่องเข้าใจผิดว่าเมื่อมีการเชื่อมข้อมูลแล้วจะกลายเป็นอยู่ในพื้นที่นำร่อง ซึ่งจริงๆไม่ใช่  เนื่องจากการดำเนินงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่จะต้องขยับไปตามเฟสที่กำหนด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลครบทุกจังหวัดแล้ว แต่การจะดำเนินเรื่อง 30 บาท รักษาทุกที่จะต้องเป็นไปตามเฟสที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ประกาศ 

นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมด้วย การเชื่อมข้อมูลนี้หมายถึงผ่านระบบ ไฟแนนซ์เชียล ดาต้า ฮับ (Financial Data Hub)ที่สธ.พัฒนา  ซึ่งขณะนี้สปสช.ได้ปิดระบบที่จะส่งเบิกค่าบริการโดยตรงมาที่สปสช.แล้ว ก็จะไปเอาข้อมูลจากไฟแนนซ์เชียล ดาต้า ฮับมาประมวลเพื่อเบิกจ่าย ทำให้หน่วยบริการไม่ต้องกังวลในการเบิกจ่าย 

ส่วนการดำเนินการ30บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ ที่ยังเป็นปัญหา คือ เนื่องจากการเชื่อมข้อมูลเข้าระบบ ไฟแนนซ์เชียล ดาต้า ฮับ เป็นการเชื่อมข้อมูลทั้งหมด ไม่ได้เชื่อมเฉพาะหน่วยบริการในจังหวัดที่ขับเคลื่อนนโยบายตามเฟสแล้วเท่านั้น  ทำให้จังหวัดที่ยังไม่ได้อยู่ในเฟสนำร่อง เกิดคำถามว่าทำไมไม่ได้ ก็มีการทำความเข้าใจว่าจังหวัดนั้นยังไม่ได้เพราะยังไม่ได้เข้าระบบจึงยังไม่ได้มีการเชื่อมข้อมูลบริการ  ซึ่งข้อมูลเรื่องการเบิกจ่ายการเงินก็จะติดตามข้อมูลบริการไปด้วย 

นอกจากนี้ การส่งเบิกจ่ายค่าบริการ ซึ่งบางครั้งหน่วยบริการกักข้อมูลไว้แล้วมาส่งข้อมูลเบิกในช่วงกลางคืน ระบบล่มก็มี จึงต้องพูดคุยทำความเข้าใจว่าระบบเชื่อมข้อมูลนั้น จะต้องส่งข้อมูลเข้ามาให้ไหลตลอดเวลา  จะคิดว่าไว้ก่อนแล้วใกล้เที่ยงคืนค่อยส่งข้อมูล หากเป็นแบบนี้แล้วมาทำส่งพร้อมกัน ระบบก็ไปไม่ไหว  ต้องเพิ่มระบบรองรับ 

“ส่วนเรื่องบริการไม่ค่อยมีปัญหา ประชาชนส่วนใหญ่ไปรับบริการในหน่วยนวัตกรรมที่วางไว้ เช่น ร้านยา คลินิกทันตกรรม ฯลฯ เพราะไม่อยากให้คนไปแออัดที่รพ.ใหญ่ ก็ต้องหาหน่วยนวัตกรรมเข้ามา ตอนนี้โจทย์คือทำให้หน่วยนวัตกรรมเข้ามาร่วมกับสปสช.มากขึ้น ซึ่งขณะนี้เข้ามาประมาณ 50 %ของที่มีอยู่ของแต่ละจังหวัด”นพ.จเด็จกล่าว