ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

4 ภาครัฐและเอกชน ร่วมลงนาม MOU พัฒนาการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ประเมินสถานการณ์โรค ผลการให้วัคซีน ศึกษาวิจัย สู่แนวนโยบายการควบคุมป้องกันโรค ตามเป้าหมาย WHO ขจัดไวรัสตับอักเสบสู่การลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงร้อยละ 90 และเสียชีวิตลดลงร้อยละ 65 ในช่วงปี พ.ศ. 2569-2573 

วานนี้ (30 เม.ย. 2567) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เพื่อสนับสนุนและพัฒนาการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศไทย ณ ห้องประชุม 302 อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นปัญหาสาธารณสุขของคนไทย ที่ผ่านมา ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการดำเนินงานดูแล รักษา และป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย การค้นคว้า ศึกษาวิจัย การมีส่วนร่วม จะช่วยพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ ลดความเหลื่อมล้ำ ให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแทพย์อันก้าวหน้า ซึ่งการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ จะสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศไทย และสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนทุกคนต่อไป

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ให้ความเห็นว่า ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดให้มีแผนการขจัดไวรัสตับอักเสบให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี 2573 หรือปี 2030 โดยตั้งเป้าให้ลดลงอย่างน้อยร้อยละ 90 ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินงานด้านการควบคุมป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยการให้วัคซีนกับทารกแรกเกิดมาตั้งแต่ปี 2535 ส่งผลให้อัตราความชุกและแนวโน้มการเกิดโรคเปลี่ยนแปลงไป 

สวรส. ในฐานะองค์กรด้านการวิจัยระบบสุขภาพที่มุ่งเน้นการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนและพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของประเทศ เล็งเห็นว่าการทบทวนและพัฒนาแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยการศึกษาวิจัยมีความสำคัญ ซึ่งข้อมูลทางวิชาการจะเข้ามาช่วยอธิบายถึงสถานการณ์ของโรค ตลอดจนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานโยบายและการดำเนินงานเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโรค ตลอดจนเกิดความคุ้มค่าในการลงทุนด้านงบประมาณกับการดำเนินงานเรื่องดังกล่าวต่อไป 

"ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือของ สวรส. ที่จะมุ่งเน้นการสนับสนุนให้เกิดงานวิชาการ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนานโยบาย และยกระดับการดำเนินงานเรื่องนี้ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนเป้าหมายประเทศให้ปลอดโรคไวรัสตับอักเสบไปพร้อมกัน สิ่งสำคัญ คือ งานวิจัยต้องมีข้อมูลที่ดีพอ มีงานวิชาการที่แม่นยำ ซึ่งการสนับสนุนไม่จำเป็นต้องเป็นภาครัฐเท่านั้น แต่ภาคเอกชนก็มีโอกาสเข้ามาได้ เมื่องานวิจัยได้รับการสนับสนุนมากเพียงพอจะทำให้งานวิจัยสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อประเทศ" นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ในคนไทยพบไวรัสตับอักเสบบีประมาณร้อยละ 5 หรือกว่า 2 ล้านคน ส่วนไวรัสตับอักเสบซีพบประมาณ 3-4 แสนคน เมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีแล้ว จะก่อให้เกิดการอักเสบของตับเรื้อรัง ตับแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับ ส่งผลถึงชีวิตได้ ซึ่งสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสตับเอกเสบทุกชนิด ทั่วโลกมีประมาณกว่า 300 ล้านคน โดยพบผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมากที่สุด ความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อให้ทราบสถานการณ์จริง ๆ ว่า ความชุกของการติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน นำมาเปรียบเทียบแนวโน้มและความเปลี่ยนแปลง นำไปสู่ข้อเสนอให้กรมควบคุมโรคนำไปใช้ประโยชน์ เรื่องการตรวจคัดกรอง การรักษา และวัคซีน 

ด้าน พญ.วรรณา หาญเชาว์วรกุล ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้จัดให้มีการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี แก่ทารกแรกเกิดตั้งแต่พ.ศ. 2535 เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่เด็กไทยทุกคน และได้ผลักดันนโยบายการตรวจคัดกรองโรคตับอักเสบ บี และ ซี ในกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้การรักษา โดยสามารถบรรจุยารักษาไวรัสตับอักเสบ บี เข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในปี 2565 ภายใต้ MOU ในครั้งนี้กรมควบคุมโรค จะให้การส่งเสริม สนับสนุนการสร้าง ผลงานทางวิชาการ และองค์ความรู้ ของหน่วยงานและภาคีเครือข่าย และพัฒนาองค์ความรู้ที่ได้ไปสู่การรับรู้ในเรื่องสุขภาพของประชาชน รวมถึงการพัฒนานโยบายเพื่อให้ระบบการป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทยเทียบเท่ามาตรฐานสากล 

นายฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีนโยบายที่จะส่งเสริมและผลิตอาหารที่จะทำให้คนมีสุขภาพและพลานามัยที่แข็งแรง จึงเห็นว่าความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ สอดคล้องกับการทำให้คนไทยมีสุขภาพดี และปลอดภัยจากโรคที่มาจากไวรัสตับอักเสบ

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า สวรส. มุ่งเน้นสนับสนุนงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายเพื่อการวางแผนในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ภายใต้การดำเนินงาน MOU ดังกล่าว สวรส. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการศึกษาวิจัยด้านการประเมินผลกระทบการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี ในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ ในพื้นที่ 4 จังหวัด กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่

  • อ.พระนครศรีอยุธยา, อ.เสนา, อ.นครหลวง จ.อยุธยา
  • อ.เมือง, อ.ละหานทราย, อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
  • อ.เมือง, อ.ปะเหลียน, อ.นาโยง จ.ตรัง
  • อ.เมือง, อ.ฟากท่า, อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์

เพื่อศึกษาอัตราการติดเชื้อ การเป็นพาหะ และระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคตับอักเสบ บี ในประชากรไทยกลุ่มวัยต่าง ๆ ที่จะสามารถชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของโรค หลังจากได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี รวมทั้งมีการประเมินการเปลี่ยนแปลงภูมิคุ้มกันต่อโรคตับอักเสบ บี ในเด็กกลุ่มที่เคยได้รับและไม่ได้รับวัคซีน ตลอดจนความชุกการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันต่อโรคตับอักเสบ เอ บี และซี ในประชากรไทยกลุ่มอายุต่าง ๆ เพื่อให้มีข้อมูลเชิงประจักษ์ในการกำหนดการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและกลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสม เพื่อให้ประชากรไทยทุกกลุ่มอายุมีภาวะภูมิคุ้มกันต่อโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในสัดส่วนสูงเพื่อป้องกันการระบาดของโรค รวมถึงเป็นข้อมูลที่ยืนยันกับทีมประเมินขององค์การอนามัยโลกว่าประเทศไทยมีความพร้อมและมีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์โรคดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ไวรัสตับอักเสบที่เป็นปัญหาในประเทศไทย คือ ไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ซึ่งในส่วนของไวรัสตับอักเสบ บี ได้มีการให้วัคซีนในทารกแรกเกิดมาตั้งแต่ปี 2535 ส่งผลให้การป้องกันมีประสิทธิภาพสูงมาก ปัญหาของไวรัสตับอักเสบ บี ส่วนใหญ่จึงเป็นของกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี หรือผู้ที่เกิดก่อนการให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข นโยบายลดการถ่ายทอดไวรัสตับอักเสบ บี จากมารดาสู่ทารกให้เป็นศูนย์ จึงนับว่าประสบความสำเร็จ โดยสิ่งที่จะมาอธิบายความสำเร็จดังกล่าวได้อย่างชัดเจน คือข้อมูลที่บ่งชี้การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ในเด็กต่ำกว่า 5 ปี ที่จะต้องน้อยกว่า 0.1% 

"แนวโน้มของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ลดลงมาโดยตลอด เพราะมีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในเด็กเกิดใหม่ ป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก รวมถึงฉีดวัคซีนให้ผู้ที่ไม่มีภูมิต้านทาน ส่วนไวรัสตับอักเสบซีที่จะพบในการให้เลือด หรือผ่านเข็มฉีดยา ปัจจุบันมีการตรวจกรองเลือดที่ให้ ป้องกันทุกอย่าง แต่ไวรัสตับอักเสบซีกว่าจะแสดงอาการต้องใช้เวลาหลายสิบปี จึงจำเป็นต้องตรวจคัดกรองให้พบผู้ติดเชื้อ แม้จะไม่มีวัคซีนแต่ก็มียาที่รักษาให้หายได้ถึงร้อยละ 97.5" ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง เพิ่มเติมว่า คนไทยทุกคนควรจะได้รับการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี และถ้ามีการติดเชื้อ จะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา ขอย้ำว่า ไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไวรัสตับอักเสบบี สามารถรักษาเพื่อไม่ให้เกิดการดำเนินของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ รวมทั้งสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคตับที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบได้อย่างน้อยร้อยละ 65 ภายในปี 2573 เรื่องนี้จึงต้องได้รับความร่วมมือจากคนไทยทุกคนที่มีอายุเกิน 30 ปี มาตรวจคัดกรองอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต เพราะวัยผู้ใหญ่ที่ตรวจพบในตอนนี้มักจะติดเชื้อมาตั้งแต่แรกเกิด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเชิงประจักษ์จากการศึกษาวิจัยข้อมูลพื้นฐานโดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบในประชากรไทย เพื่อวางแผนและดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2573 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ทราบถึงผลสำเร็จในการให้วัคซีนและดำเนินงานป้องกันโรคที่ผ่านมา