ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต เผยกลุ่มเยาวชนที่มีพฤติกรรมทำร้ายตนเองเพิ่มขึ้นแทบทุกปี!  เหตุกระตุ้นเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว การเรียนและปัญหาสุขภาพจิตเดิม เดินหน้านำทีม "Hope Task Force" ป้องกันการฆ่าตัวตายเข้าช่วยเหลือ ร่วมมือกับแอปฯอูก้า ปรึกษาบุคลากรสุขภาพจิตฟรี นำร่องพื้นที่ กทม. กว่า 2 พันราย

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567 สำนักความรอบรู้สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาภาคีเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพจิต หรือ MIT (Mental Influence Team) เขตสุขภาพที่ 11  และเขตสุขภาพที่ 12 ณ โรงแรม มาร์ลิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย นพ.บุรินทร์ สุรอรณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต เข้าร่วมในงานนี้ด้วยและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลไกการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาเชิงนโยบายในการสื่อสารสุขภาพจิต 

ทั้งนี้ นพ.บุรินทร์ สุรอรณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในประเทศไทยว่า จากฐานข้อมูลใบมรณบัตรการฆ่าตัวตายสําเร็จเพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อนๆ ในขณะเดียวกัน มีการพยายามฆ่าตัวตายสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งพบในกลุ่มเด็กวัยรุ่นวัยเรียนมากขึ้น ปัจจุบันตอนนี้กรมสุขภาพจิตมีสิ่งที่ต้องทําอันดับแรก คือ เรื่องข้อมูล โดยเรามีการสอบสวนการฆ่าตัวตายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งกระบวนการจะเป็นการสอบสวนและเยียวยาจิตใจญาติไปด้วย เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือเวลาที่เราถามข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจเกิดบาดแผลในใจแก่คนใกล้ชิดได้

 

วัยรุ่น 15-19 ปี พบแนวโน้นทำร้ายตัวเอง หาทางออกไม่ได้

 

"ขณะนี้พฤติกรรมการทําร้ายตัวเองและพยายามฆ่าต้วตายของเด็กวัยรุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้น กลุ่มที่ทําร้ายตัวเองอาจจะไม่ได้ตั้งใจให้ตายแต่มันอาจจะบอกความหมายบางอย่าง เช่น การกรีดข้อมือ ใช้มีดกรีดตัวเอง เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมทําร้ายตัวเอง แต่อาจจะไม่ได้บอกทั้งหมดว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความตั้งใจจะตาย แต่สะท้อนให้เห็นว่า เด็กมีความเครียดและปรับตัวหาทางออกไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบอายุ 15 -19 ปี " นพ.บุรินทร์ กล่าว

หากพูดถึงการพยายามฆ่าตัวตายในสมัยก่อน ส่วนใหญ่จะพบเป็นกลุ่มวัยทํางาน เพราะว่ามีปัญหาครอบครัวอะไรต่างๆ แต่ตอนนี้กลุ่มวัยทํางานก็ยังเยอะเช่นกัน แต่ยังน้อยกว่ากลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น ถึงแม้การฆ่าตัวตายสําเร็จยังไม่เยอะ แต่เราจะเห็นว่าเด็กเริ่มมีความคิดไม่อยากอยู่ เด็กมีความคิดที่ไม่อยากจะใช้ชีวิตต่อ หรือเด็กอาจจะมีแรงกดดันบางอย่างที่ทําให้รู้สึกว่าไม่ไหว  ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่คือปัจจัยด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว ด้านปัญหาการเรียน โดยเฉพาะช่วงโควิดมีช่วงที่พบความเสี่ยงต่อความคิดฆ่าตัวตาย บ่งบอกว่าเด็กมีความเครียดสูงขึ้น เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องการปรับตัวกับการเรียน การปรับตัวในครอบครัวเป็นบรรยากาศที่ทําให้เด็กเครียดและไม่อยากอยู่ 

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าจริงๆแล้วปัจจัยการพยายามฆ่าตัวตาย มีหลายสาเหตุ แต่ปัจจัยที่พบบ่อยและเพิ่มขึ้นสูง คือเด็กอาจมีปัญหาเรื่องอารมณ์พฤติกรรมอยู่แล้วอย่างเช่น เด็กที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคจิตเวช โรคซึมเศร้า ลองลงมา คือ กลุ่มเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีคนเคยฆ่าตัวตาย-บุคลิกภาพปกติ ซึ่งตรงนี้เป็นปัจจัยกระตุ้นและจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของการมีปัญหาชีวิตหรือเหตุการณ์วิกฤติ รวมถึงการสื่อสารในครอบครัวหรือการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะทางวาจาหรือการทําร้ายร่างกายในครอบครัว ในส่วนประเด็นเรื่องของการเรียนอาจจะมีการถูกแกล้งการถูกบูลลี่อยู่บ้าง

กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยสร้างความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ สํานักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น วิทยาลัยอาชีวะ ราชภัฏ ฯลฯ จัดทำมาตรการช่วยเหลือเด็กวัยรุ่นเด็กนักศึกษาในสถานศึกษา โดยมีการทําแผนเผชิญเหตุการณ์วิเคราะห์เคส มีการซ้อมแผน กระบวนการเฝ้าระวัง การให้ระบบความช่วยเหลือ การให้เด็กประเมินตนเองผ่านตัวแอปพลิเคชัน Mental health Check In ตรวจเช็คสุขภาพใจ เป็นเครื่องมือประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น และคัดกรองความเสี่ยงต่อปัญหาจิตเวช มีระบบ school health HERO เพื่อให้ถูกประเมินความเสี่ยงของนักเรียนเพื่อดูแลช่วยเหลือ ในขณะเดียวกัน ทางกรมสุขภาพจิตพยายามเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือดูแลโดยบุคลากร แล้วก็นำข้อมูลสะท้อนกลับเพื่อให้พื้นที่เห็นความสำคัญเชิงนโยบาย ซึ่งเราเริ่มทํามาประมาณ 2-3 ปีแล้ว

"สำหรับตัวเลขในภาพรวมของเด็กที่พยายามฆ่าตัวตาย เด็กที่ได้รับการดูแลหรือเด็กที่พยายามฆ่าตัวตายได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมหรือเข้าถึงบริการมากขึ้น เราป้องกันเหตุได้เพิ่มขึ้น แต่ยังต้องอาศัยนโยบาย การช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆในการลดตัวเลขพยายามฆ่าตัวตายให้น้อยที่สุด" นพ.บุรินทร์ กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง :กรมสุขภาพจิต ร่วมภาคีเครือข่ายเขตพื้นที่ 11 -12 พัฒนาการสื่อสารในภาวะวิกฤติ)

นพ.บุรินทร์ กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตมีทีมปฏิบัติการช่วยเหลือคนที่ฆ่าตัวตาย ที่เรียกว่าทีม "HOPE Task Force"  ย่อมาจากคําว่า Helpers of Psychiatric Emergency Task Force หรือทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย ซึ่งทีมประกอบด้วย 3 เครือข่าย 1. เครือข่ายของโซเชียลอินฟลูเอนเซอร์ ทำหน้าที่รับเรื่องเกี่ยวข้องกับสัญญาณเตือนเมื่อเกิดเหตุ  2. เครือข่ายตํารวจ ทำหน้าที่ช่วยดูแลค้นหาข้อมูล เข้าถึงสถานที่เพื่อช่วยเหลือรวมทั้งประเมินความเสี่ยงต่างๆ 3. เครือข่ายกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่นำผู้ก่อเหตุหรือผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินเข้าสู่โรงพยาบาลทั้งของกรมสุขภาพจิตและสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยดูแลในกรณีที่มีภาวะฉุกเฉินและดูแลจนหมดความเสี่ยง ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทีมสามารถดูแลช่วยชีวิตได้เกือบสี่ร้อยราย  

ปัจจุบัน กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาระบบช่วยเหลือต่างๆ ได้แก่ สายด่วน 1323 ซึ่งกําลังพัฒนา chatbot ในการพูดคุย ในขณะเดียวกันตอนนี้ทุกคนสามารถเข้าไปใช้   D-MIND ในเเอปฯหรือไลน์หมอพร้อม" เพื่อประเมินว่าตนเองต้องการได้รับความช่วยเหลืออย่างไรบ้างได้เช่นกัน กรมมีความร่วมมือสำคัญ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. กรุงเทพมหานคร และ ระบบการดูแลสุขภาพจิตออนไลน์ OOCA หรือ อูก้า ร่วมมือกันผ่านมูลนิธิที่เราเรียกว่า "มูลนิธิกําแพงพักใจ ที่พักใจให้เยาวชน" หรือ Wall of Sharing Foundation โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต  เพื่อสร้างโปรเจคต์ให้คําปรึกษาฟรีแก่เด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือใน กทม. โดยให้บริการประมาณ 2,500 คน พร้อมประเมินผลเพื่อขยายบริการต่อไป

สำหรับประชาชนอายุดังกล่าว ใน กทม. ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน OOCA (อูก้า) และเข้าไปใช้บริการฟรีได้เลย โครงการครั้งนี้เริ่มนำร่องในพื้นที่ กทม. โดยเยาวชนที่สามรถใช้บริการได้ คือเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 15-25 ปี และมีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม. และมีความเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้า มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย โดยจะได้รับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ในรูปแบบออนไลน์และเรียลไทม์ และหลังจากให้คําปรึกษาหรือได้รับคำแนะนำแล้ว จะมีการติดตามดูว่าดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น ถ้าไม่ดีขึ้นอาจจําเป็นต้องใช้บุคลากรที่สูงขึ้นหรือจะต้องใช้กระบวนการของเรื่องของยาและการรักษาเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการส่งเข้าสู่ระบบบริการหรือแนะนําเข้าสู่ระบบบริการในโรงพยาบาลต่อไป

"เพราะฉะนั้นอย่างน้อยเบื้องต้นเราได้ช่วยการดูแลทางด้านจิตใจก่อน แต่จะมีบางกลุ่มแน่นอนที่เขาอาจจะต้องการการดูแลที่ซับซ้อนขึ้น และเฉพาะทางมากขึ้นหรือจะต้องใช้ยา กลุ่มนี้ก็จะเข้าสู่ระบบการแนะนําผ่านแอปพลิเคชั่นอูก้าได้เลย โดยจำนวน  2,500 คน เป็นจํานวนที่ค่อนข้างเยอะแต่คิดว่าเหมาะสม ซึ่งในระยะถัดไปต้องดูความต้องการของประชาชนอีกครั้ง หลังจากให้บริการ ว่าจำเป็นต้องมีการขยายผลต่อหรือไม่อย่างไร "นพ.บุรินทร์ กล่าว

นพ.บุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  สำหรับในกลุ่มอื่นเราจะใช้ระบบการดูแลที่มีอยู่ และเชื่อมโยงไปกับตัวชี้วัดในการให้บริการของกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว อย่างเช่น เรื่องของดูแลตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัว แต่ที่เพิ่มเติมคือมีการสอบสวนในกรณีที่พยายามฆ่าตัวตายหรือฆ่าตัวตายสําเร็จ รวมทั้งช่วยเหลือญาติด้วย เพราะว่าญาติที่ดูแลก็เครียดจากการพยายามฆ่าตัวตายเช่นกัน แล้วนําข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการดูแลต่อไป สถานการณ์พยายามฆ่าตัวตายข้อมูลอาจยังไม่สมบูรณ์ แต่พบว่าส่วนใหญ่จะสอดคล้องกันไป อย่างเช่น ภาคเหนือก็ยังสูงเหมือนเดิม แล้วยังมีเขตที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มเติม ได้แก่ ภาคกลาง และตะวันออก