ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะ 3 เมนู เมนูอาหารสมุนไพรบำรุงกระดูก เมนูอาหารสมุนไพรบำรุงสายตา สมุนไพรห่างไกลเบาหวาน ถวายพระสงฆ์ห่างไกลโรค ชี้ควรใช้เป็นหญ้าหวาน หรือน้ำตาลจากหล่อฮั่งก๊วย ลดการปรุงอาหารด้วยน้ำมันเปลี่ยนเป็นการนึ่ง ต้ม ตุ๋นแทน

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567 นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันพุธที่ 22 พฤษภาคมนี้ เป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางศาสนาพุทธ ในวันดังกล่าว พุทธศาสนิกชนจะพากันเข้าวัดทำบุญเป็นจำนวนมาก การเลือกอาหารที่นำไปทำบุญตักบาตรมีความสำคัญ เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารเอง จึงเป็นสาเหตุของการเกิดโรคในพระสงฆ์ได้ ซึ่งควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์ช่วยส่งเสริมสุขภาพของพระสงฆ์ เช่น เมนูอาหารสมุนไพร 

ตัวอย่างเมนูอาหารสมุนไพรที่ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ มีดังนี้ 

1.เมนูอาหารสมุนไพรบำรุงกระดูก พืชผักหรือสมุนไพรที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูง เช่น ปลาเล็กปลาน้อย นม ใบช้าพลู งาดำ ยอ ยอดแคบ้าน เต้าหู้ นมถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง การรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูงควบคู่ไปกับการรับวิตามินดีจากธรรมชาติ 

2.เมนูอาหารสมุนไพรบำรุงสายตา มักเป็นผักพื้นบ้านริมรั้วหาง่ายและนำมาทำเมนูได้หลากหลาย ได้แก่ ดอกอัญชัน เนื่องจากมีสารแอนโธไซยานินช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของดวงตา ฟักทองมีวิตามินเอสูง บำรุงดวงตา ตำลึง ช่วยบำรุงสายตา ผักบุ้ง มีวิตามินเอสูงช่วยบำรุงสายตา ช่วยลดอาการเมื่อยล้าจากการใช้สายตามากเกินไป            

3.สมุนไพรห่างไกลเบาหวาน เบาหวานเป็นอีกหนึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบมากในกลุ่มพระสงฆ์จากการฉันอาหารที่มีแป้งเยอะ หรือมีปริมาณน้ำตาลที่สูงจะเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคเบาหวานในพระสงฆ์ จึงแนะนำให้มีการนำสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลมาเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารจะดีต่อสุขภาพของพระสงฆ์ เช่น มะระขี้นก ผักเชียงดา เตยหอม ชะพลู และกะเพรา 

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวอีกว่า นอกจากการเสริมด้วยสมุนไพรที่ช่วยดูแลสุขภาพพระสงฆ์แล้ว การปรุงเมนูอาหารสมุนไพร ควรลดปริมาณน้ำตาลในอาหารอาจใช้เป็นหญ้าหวาน หรือน้ำตาลจากหล่อฮั่งก๊วยแทน ลดการปรุงอาหารด้วยน้ำมันเปลี่ยนเป็นการนึ่ง ต้ม ตุ๋นแทน ลดการปรุงอาหารรสจัดลง ทั้งหวานจัด เค็มจัด เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย หรือ การใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคสามารถติดต่อที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678  หรือช่องทางออนไลน์ที่ FACEBOOK กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.facebook.com/dtam.moph และ line @DTAM       

เรื่องที่เกี่ยวข้อง