ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ขอรัฐบาล-ฝ่ายการเมือง เข้าใจปัญหาผู้ป่วยไม่วิกฤติล้นห้องฉุกเฉิน รพ. ไม่ใช่เพื่อแบ่งเบาภาระคนทำงาน แต่เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อรักษาชีวิตคนเจ็บวิกฤติจริงๆ ขอให้สื่อสาร ออกกรอบนโยบายให้ชัดเจน ปกป้องคนทำงาน ไม่ใช่ให้คนหน้างานต้องเผชิญปัญหา เสี่ยงถูกร้องโดยไม่จำเป็น

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร  ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีปัญหาห้องฉุกเฉิน หรือ Emergency room(ER) ในโรงพยาบาลรัฐ ว่า ปัญหาผู้ป่วยที่มารับบริการห้องฉุกเฉิน ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ เป็นปัญหาสะสมมานาน ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจได้ ว่า ในระดับผู้บริหารหากจะออกนโยบายว่า ไม่เจ็บป่วยฉุกเฉินขออย่าเพิ่งมารักษาที่แผนกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือ ER คงไม่สามารถทำได้ทันที เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่อง คำจำกัดความเรื่อง ป่วยฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน เพราะหากออกกฎเกณฑ์อย่างหนึ่ง อาจตกหล่นผู้ป่วยจำเป็นหรือไม่

“ตรงนี้เราเข้าใจได้ แต่จริงๆ ระหว่างนี้สามารถทำกรอบไทม์ไลน์ และสร้างความเข้าใจกับประชาชนเรื่องนี้ว่า นโยบายดังกล่าวสำคัญอย่างไร ต้องให้เข้าใจว่า การออกนโยบายขอความร่วมมือเข้ารับบริการ ER ต้องเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติจริงๆ ไม่ใช่เพราะให้บุคลากรทางการแพทย์สบายขึ้น แต่เพื่อเป็นการเก็บทรัพยากรทั้งหมดไปดูแลคนที่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรนี้ ในช่วงเวลาที่ทุกอย่างขาดแคลน คือ ไม่ได้ตั้งใจปิดประตู หรือปฏิเสธคนไข้ แต่เมื่อทรัพยากรจำกัดเราก็อยากทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิต นี่คือ เหตุผลสำคัญที่ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจให้ได้” พญ.ชุตินาถ กล่าว

ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวว่า หากรัฐบาล หรือฝ่ายการเมืองเข้าใจและอ่านเกมขาดจริงๆ นโยบายนี้จะไม่ใช่ดาบสองคมอย่างที่หลายคนคิด เพราะต่างประเทศเข้าใจว่าบุคลากรขาดแคลน ทรัพยากรขาดแคลนในช่วงเวลาฉุกเฉิน นอกช่วงเวลาราชการ ก็จะมีนโยบายนี้ออกมา เพื่อให้ทุกอย่างเก็บไว้สำหรับคนฉุกเฉิน แต่ประเทศไทยไม่มีกรอบนโยบายดังกล่าว  ทำให้คนหน้างานมาประกาศเอง ความผิดมาตกคนหน้างาน ทำให้นอกจากต้องรับผู้ป่วยที่ไม่ได้เจ็บป่วยฉุกเฉินจำนวนมากขึ้น ยังต้องรับเรื่องถูกร้องเรียนโดยไม่จำเป็นอีก 

พญ.ชุตินาถ กล่าวอีกว่า ขอให้ฝ่ายการเมือง รัฐบาลเข้าใจและให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะจำเป็นต้องมีนโยบายลงมาเพื่อปกป้องคนทำงานด้วย อย่าง รพ.จะมาประกาศเอง แต่โดนร้องเรียน ขณะที่ผู้บริหารไม่เห็นด้วยกับการประกาศ ความผิดตกมาที่คนหน้างาน เรื่องนี้ต้องให้ชัดเจนว่า ไม่ได้ปฏิเสธคนไข้ ควรมีกรอบการทำงาน มีระเบียบอะไรให้ชัด เพื่อคุ้มครองคนทำงานด้วย แต่ที่สำคัญหากจะมีนโยบายใดๆ คือ 1.ให้ความรู้สร้างความเข้าใจกับประชาชน และ2.ต้องมีมาตรฐานสำหรับห้องฉุกเฉิน คำว่าเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติเป็นอย่างไร ต้องให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้หลุดคนไข้ที่จำเป็นต้องรับบริการจริงๆ 

“เรื่องนี้ต้องทำเพื่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ไม่ใช่เป็นการต่อสู้ของคนไข้กับบุคลากรในแผนกฉุกเฉินเหมือนในอดีตที่ผ่านมา” พญ.ชุตินาถ กล่าว