ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.เวชชารักษ์ ลำปาง ให้บริการคลินิกวัยเก๋า รองรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ มุ่งเน้นความสำคัญของการส่งเสริม ป้องกันสุขภาพ และการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ 

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกประมาณ 600 กว่าล้านคน โดย World Health Organization  (WHO) คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เป็น 1.2 และ 2 พันล้านคน ในปี ค.ศ. 2020 และ 2050 โดยสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยพบจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลสถิติกรมกิจการผู้สูงอายุ พบว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2565 มีจำนวน 12 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 19.21 ของประชากรทั้งประเทศ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุถือเป็นความท้าทายในการส่งเสริมสุขภาพ และจัดระบบบริการการรักษาสำหรับผู้สูงอายุให้มีคุณภาพ เนื่องจากผู้สูงอายุที่มีอายุยืนยาวขึ้น ส่งผลให้มีภาวะเจ็บป่วยและภาวะพึ่งพิงสูงขึ้น 

จากแนวโน้มของการเสื่อมถอยด้านสุขภาพ ทำให้จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น ต้องพึ่งพาบริการทางการแพทย์และยารักษาโรคที่มีราคาแพง โรงพยาบาลและหน่วยบริการสุขภาพจะต้องมีภาระในด้านการรักษาพยาบาลจนทำให้เกิดข้อจำกัดในการทำงานส่งเสริมสุขภาพ จากสถานการณ์ข้างต้นกรมการแพทย์ได้เล็งเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องจัดดำเนินการในเรื่องการเปิดให้บริการคลินิกวัยเก๋าสำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ จึงมอบหมายให้โรงพยาบาลเวชชารักษ์ ลำปาง จัดให้มีบริการเพื่อมุ่งเน้นความสำคัญของการส่งเสริม ป้องกันสุขภาพ และการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เช่น พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้ป่วยสูงอายุเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม ป้องกันและชะลอภาวะสมองเสื่อม ป้องกันภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในผู้สูงอายุ  

แพทย์หญิงรัตนา จันทร์แจ่ม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชชารักษ์ ลำปาง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลเวชชารักษ์ ลำปาง มุ่งมั่นเพื่อพัฒนาและรองรับความต้องการของผู้ป่วย คนพิการ และผู้สูงอายุ ให้สามารถเข้าถึงบริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเสมอภาค ได้รับการส่งเสริม พัฒนาคุณภาพชีวิต และได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติและมีความสุข โดยปัจจุบันมีการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้ป่วยสูงอายุเชิงรุกขึ้น เพื่อลดการเดินทางของผู้สูงอายุ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง โดยดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ โรงเรียนผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุในจังหวัดลำปาง และพัฒนางานบริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ให้มีความเชี่ยวชาญ และมีมาตรฐาน เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับจัดบริการคลินิกวัยเก๋าในภาคเหนือ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง